ตรัง ภาพฟ้อง! ล่องเรือสำรวจแนวแม่น้ำตรัง สภาพเปลี่ยนแปลง บริเวณท่าดูดทราย คาตาตลิ่งพังเพียบ ต้นมะพร้าวชี้โด่กลางแม่น้ำ เดินเรืออันตราย เหตุตอไม้ใหญ่ริมตลิ่งล้มซ่อนใต้ผิวน้ำแทงท้องเรือล่ม ตะกอนสะสมทำตึ้นเขิน สภาพน้ำขุ่นข้น ประมงพื้นบ้านแม่น้ำ โอด กุ้งแม่น้ำตรังหาย-ย้ายแหล่งอาศัย จับยากขึ้น เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง เผยข้อมูล ตะกอนทรายมหาศาลทับถมปากแม่น้ำ ทำหญ้าทะเลตายเป็นเบือ
จากกรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอห้วยยอด ชุดกอ.รมน.จังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ห้วยยอด เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ปทส.) ตำรวจสอบสวนกลาง ปูพรมเข้าตรวจสอบพื้นที่การดูดทราย และพื้นที่ขุดตักดินและทรายตามแนวแม่น้ำตรัง ในหลาย ตามคำสั่งของนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการตังหวัดตรัง ที่สั่งให้ปูพรมตรวจสอบบ่อดูดทรายเถื่อนในทุกพื้นที่ ภายหลังมีการเสนอข่าวการลักลอบดูดทรายเถื่อนและมีการเรียกรับส่วยของเจ้าหน้าที่ ทั้งประเภทบ่อดูดทรายแม่น้ำ และบ่อดูดทรายในที่ดินกรรมสิทธิ์ รวมทั้งบ่อขุดตักดินและทรายแต่แอบลักลอบดูดทราย โดยยังพบว่าในระยะ 3 ปีมานี้ หลังเคยมีการตรวจสอบและเป็นข่าวครั้งใหญ่ไปแล้วเมื่อปี 2561–2562 การลักลอบดูดทรายผิดกฎหมายได้การหวนกลับมาอีกครั้งอย่างไม่เกรงกลัว มีบ่อดูดทรายเถื่อนหลายสิบบ่อตามแนวแม่น้ำตรัง บางแห่งแม้มีการขออนุญาตถูกต้อง แต่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติตามแนวแม่น้ำตรังอย่างมาก โดยขณะนี้ สภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง ได้เตรียมออกมาเคลื่อนไหวถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าออกมาเรียกร้อง เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของบ่อดูดทรายเถื่อน ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ข่าวน่าสนใจ:
- พิธีเปิดนิทรรศการฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์และสัตว์ร่วมยุคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
- คอกาแฟแห่เที่ยวงานพังงาคอฟฟี่เจอร์นี่ ซีซั่น 3 ภายใต้รูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Coffee in the Park ในสวนสมเด็จฯพังงา
- ชมรมโฮปฯ ร่วมกับชุมชน จัดกิจกรรม ซานตาโฮป แจกของขวัญให้กับเด็กในชุมชนกว่าพันชิ้น
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงได้นำผู้สื่อข่าวล่องเรือสำรวจสภาพตามแนวแม่น้ำตรัง ตั้งแต่สะพานคลองท่าจีน ต.บางรัก ย้อนขึ้นไปถึงต.หนองตรุด อ.เมืองตรัง ซึ่งมีการก่อสร้างประตูน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และการดูดทรายหลายจุด ทั้งที่ได้รับสัมปทาน และดูดเถื่อนตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ โดยยังพบชาวประมงพื้นบ้านแม่น้ำตรังที่ยังคงอาศัยประกอบชีพ ทั้งเลี้ยงปลากระชัง ดักกัด ดักไทร ตกปลาและกุ้งแม่น้ำ เป็นระยะตลอดเส้นทาง จากการสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่า ออกมาทำประมงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อใช้ประกอบอาหาร หากวันไหนได้มากก็แบ่งขายกันเองในพื้นที่ แต่ปัจจุบันจับสัตว์น้ำได้ไม่มากนัก ต้องย้ายแหล่งไปเรื่อยๆ เพราะสภาพของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป อาทิ มีความตื้นเขินมากขึ้น กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางบ่อย โดยเฉพาะน้ำที่ขุ่นข้นมากขึ้น ทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดหนีจากแหล่งเดิมไปหาแหล่งน้ำที่สะอาดกว่า บางวันจึงจับปลาหรือตกกุ้งไม่น้ำไม่ได้เลย อย่างไรก็ดีในช่วงนี้ปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นฤดูกาลของการจับกุ้งแม่น้ำตรังที่มีชื่อเสียงและชุกชุมมากที่สุด เพราะเป็นช่วงปลายหน้าแล้งต่อเนื่องต้นฤดูฝน แต่ปีนี้กลับจับได้ไม่มากนัก เพราะกุ้งได้ย้ายหนีน้ำขึ้นไปแหล่งอื่น ต้องตามกันไปจับ สิ้นเปลืองน้ำมันเรือมากขึ้น ส่วนราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี มีพ่อค้ามารับซื้อในราคา กิโลกรัมละ 800 บาท เพื่อส่งไปขายกทม.และตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ แต่กุ้งก็หาได้ยากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสังเกตริมฝั่งแม่น้ำ พบบางช่วงมีการกัดเซาะจนตลิ่งพัง มีการทรุดตัวของที่ดินริมฝั่งแม่น้ำ ทั้งที่เป็นป่าโปร่ง สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ระยะประมาณ 4-10 เมตร พบซากต้นไม้ที่เคยยืนต้นริมตลิ่งล้มขวางแม่น้ำ บางส่วนทรุดลงโผล่พ้นน้ำกีดขวางการเดินเรือ บางต้นทรุดลงในแม่น้ำไม่ล้มแต่ยืนต้นตาย เช่นต้นมะพร้าวที่ชี้อยู่กลางแม่น้ำ ซึ่งมีให้เห็นตลอดแนว และในบางช่วงต้องชะลอเรือด้วยความระมัดระวังอย่างมาก เพราะน้ำมีความตื้นเขิน และมีซากต้นไม้ใหญ่อยู่ใต้ผืนน้ำ หากไม่ระวังเรือจะชนตอ สร้างความเสียหาย และเกิดอันตรายเรืออาจรั่วและล่มได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ยังพาผู้สื่อข่าวผ่านบ่อดูดทรายเก่ากลางแม่น้ำ ซึ่งมีสภาพเป็นเกาะเล็กๆผุดขึ้นกลางแม่น้ำหลายเกาะ โดยสภาพทิศทางน้ำบริเวณดังกล่าวไหลวนไม่เป็นทิศทาง ทำให้เข้ากัดเซาะตลิ่งจนพังลงเป็นแถบ และยังสะท้อนกลับมากัดเซาะฝั่งตรงข้ามสลับไปมาตลอดแนว โดยเฉพาะบริเวณโค้งน้ำ ไม่ไกลกันยังพบหาดทรายขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนดินและทราย เมื่อล่องเรือไปเรื่อยๆก็พบว่าแม่น้ำตรังตอนกลางเริ่มตื้นเขิน จนเรือไม่สามารถไปต่อได้
ประมงพื้นบ้านแม่น้ำตรัง รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้แม่น้ำตรังตื้นขึ้นมาก จากเดิมที่บางช่วงมีความลึก 8-10 เมตร ตอนนี้กลับมีความลึกเพียงแค่ 4 เมตรเท่านั้น บางช่วงก็ตื้นจนล่องเรือไม่ได้ คาดว่าเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำ ทั้งจากกระแสน้ำหลากตามธรรมชาติ และตะกอนจากบ่อดูดทรายที่ดูดกันเป็นจำนวนมาก และน้ำมีความขุ่นข้นมากขึ้น ตะกอนขุ่นข้นเหล่านี้ทำให้สัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้งแม่น้ำและปลาแม่น้ำบางชนิดย้ายที่อยู่อาศัย คนที่ทำอาชีพจับสัตว์น้ำ เช่น คนตกกุ้ง วางลอบดักปลา ดักกุ้ง วางเบ็ดราวจับปลา ต้องย้ายจุดไปเรื่อยๆ ซึ่งอยู่ไกลออกไป ส่วนเรื่องการกัดเซาะแนวตลิ่ง พบว่าในแต่ละปีเกิดการกัดเซาะลึกเข้าไปปีละไม่ต่ำกว่า 1 เมตร
นายแสวง ขุนอาจ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล จ.ตรัง หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง กล่าวว่า คณะทำงานได้ศึกษาเรื่องระบบนิเวศน์ลุ่มแม่น้ำตรังมานานนับสิบปี จนไปถึงเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งอันดามัน ซึ่งขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและภูมิอากาศมาก แม่น้ำลำคลองมีการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของการดูดทรายริมแม่น้ำ ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน สำหรับแม่น้ำตรัง ปัญหาเป็นเรื่องการดูดทรายของนายทุนที่ไม่ได้สัมปทาน แต่ลักลอบดูดทรายมาขาย ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลง ระบบการไหลของน้ำเปลี่ยนทิศทาง เกิดน้ำท่วมน้ำหลาก ทำให้เกิดตะกอนทราย ตะกอนดิน ลงมาทับถม ตั้งแต่ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยาวไปจนถึงทะเล
“สถานการณ์ในช่วงปี 2560-2563 ถือว่าวิกฤตมาก ปัญหาจากการดูดทราย ทำให้มีตะกอนทรายไหลออกสู่ปากแม่น้ำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกรมเจ้าท่าเองก็มีแผนจะขุดลอกร่องน้ำกันตังอีก แต่โชคดีที่มีการระงับในระยะ 2 ปี โดยให้ทำการวิจัยศึกษาผลกระทบก่อน ตอนนี้ที่น่ากังวลที่สุดอยู่บริเวณปากแม่น้ำตรัง ทั้งพื้นที่ อ.ปะเหลียน ในส่วนของ อ.เมืองตรัง อ.ห้วยยอด ก็เช่นกัน การทับถมของตะกอนทรายได้ส่งผลกระทบไปถึงแนวหญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน เต่าทะเล จากการสำรวจเราพบว่า หญ้าทะเลตายโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นจำนวนมาก ตอนนี้หญ้าทะเลที่แหลมจูโหยตายเป็นจำนวนมาก ตลอดแนวไปจนถึงเกาะมุกด์ รวมถึงแหล่งหญ้าทะเลบ้านน้ำราบ อ.กันตัง จนไปถึงอ่าวบุญคง อ.สิเกา เครือข่ายอนุรักษ์ได้สำรวจวิเคราะห์ถึงสาเหตุการตายของหญ้าทะเล เกิดจากตะกอนทับถม รวมถึงสารเจือปนในน้ำ เช่น ยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว และสารไมโครพลาสติก”นายเสวงระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแม่น้ำตรัง มีต้นน้ำจากเทือกเขาบรรทัด ช่วงที่ไหลผ่าน จ.นครศรีธรรมราช จะเรียกว่าแม่น้ำหลวง เมื่อไหลเข้าจ.ตรังในช่วง อ.เมืองตรัง เรียกว่าคลองท่าจีน และเมื่อไหร่ลงสู่ทะเลอันดามัน ที่อ.กันตัง เรียกว่าปากน้ำกันตัง มีความคดเคี้ยวรวมระยะทางที่ไหลผ่าน จ.ตรังทั้งจังหวัด 123 กิโลเมตร แม่น้ำตรังจึงเปรียบเสมือนเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของชาวตรัง สำหรับเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง ประกอบด้วยชุมชนในพื้นที่ ต.วังมะปราง ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ, ต.หนองตรุด ต.ทับเที่ยง อ.เมือง , ต.บางหมาก ต.ย่านซื่อ ต.บางเป้า อ.กันตัง ที่มีอาณาเขตพื้นที่ครอบคลุมแม่น้ำตรังตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อนไหลออกสู่ทะเลอันดามัน และได้ริเริ่มโครงการ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง” เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติตลอดลำน้ำตรัง ฟื้นฟูและเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยทั้งหมดก่อตัวขึ้นจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้ปี 2548 ที่รวมตัวกันในนาม เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: