ตรัง พ่อค้าแม่ค้าชาวตลาดสดย่านตาขาว จ.ตรัง เรียกร้อง อบจ.ตรัง เร่งแก้ปัญหาตลาดสดทั้งระบบ ทั้งตลาดด้านในอาคาร และตลาดส่วนต่อเติมที่ทต.ย่านตาขาว ได้รื้อถอนออกไปตามคำสั่งศาล เนื่องจากการก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้ขออนุญาต ทำให้เกิดตลาดซ้อนตลาด ขายของทุกชนิดเหมือนกัน พ่อค้าแม่ค้าในอาคารเดือดร้อนขายของไม่ได้มายาวนาน แผงจำนวนมากถูกทิ้งร้าง ไม่มีผู้เช่า ขณะที่ตลาดส่วนต่อเติมก็มาถูกรื้อถอน พ่อค้าแม่ค้าส่วนตลาดต่อเติมไม่มีที่ขายของด้านนายก อบจ.ตรัง แจงแก้ปัญหาตลาดสด เตรียมประสานนายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาวเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน กำหนดจุดผ่อนผันการค้าขาย ไม่ให้รุกล้ำถนนจราจร และเตรียมทุบทิ้งอาคารตลาดสด เพื่อสร้างใหม่ให้ทุกคนขายภายในอาคารทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาตลาดสด อบจ.ตรัง ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลตำบลย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่รอบนอกอาคารใต้หลังคาส่วนต่อเติม ออกมาร้องเรียน เพราะไม่มีพื้นที่ขายของ ขณะที่ความจำเป็นในการทำมาหากินเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวยังคงอยู่ หลังเทศบาลตำบลย่านตาขาวได้ดำเนินการรื้อถอนส่วนต่อเติมที่ อบจ.ตรัง เป็นผู้ดำเนินการต่อเติม โดยผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพราะไม่มีการขออนุญาตต่อเทศบาลตำบลย่านตาขาว ทำให้เทศบาลฯร้องศาลปกครอง ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้รื้อถอน โดยพบว่า บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ในส่วนของตลาดสดที่ทำการต่อเติม และถูกรื้อถอน ต่างบอกว่า ไม่มีที่ขายของ ทาง อบจ.ไม่มีการทำแผนรองรับ โดยทุกคนซึ่งต้องหาเลี้ยงครอบครัวต่างเดือดร้อนหนัก เหมือนถูกลอยแพ บางคนมากางร่มขายของที่เดิม บางรายยอมไปจ่ายค่าเช่าแผงใหม่ในราคาเดือนละ 3,000 – 6,000 บาท ก็ยอม แต่ก็ขายไม่ได้
เช่นเดียวกับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ริมถนนของเทศบาล และพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ภายในส่วนอาคารก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากหลังมีการรื้อถอนส่วนต่อเติมซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ชิ้นส่วนการรื้อถอนยังวางระเกะระกะ ทำให้ไม่มีประชาชนมาซื้อของ ทำขายของไม่ได้ จึงร้องเรียนผู้สื่อข่าวขอให้ อบจ.ตรัง เร่งหาทางออกแก้ไขปัญหาให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ในตลาดสด อบจ.ตรังทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขายของอยู่ในอาคาร และกลุ่มที่เดิมขายอยู่ในส่วนต่อเติม
ทั้งนี้ทางกลุ่มที่ขายอยู่ในส่วนต่อเติมที่เพิ่งถูกรื้อถอนบอกว่า ไม่อยากขึ้นไปขายภายในอาคาร ซึ่งยังมีแผงว่างและร้าง เพราะไม่มีคนขึ้นไปซื้อของ แต่ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าที่ขายอยู่ในตัวอาคาร ก็บอกว่าที่ผ่านมากว่า 20 ปี บอกพวกตนขายของไม่ได้ เพราะ อบจ.ให้พ่อค้าแม่ค้าส่วนต่อเติมรอบอาคารขายของเหมือนกับภายในอาคารทุกอย่าง และมีปริมาณแผงมากกว่า ทำให้ประชาชนไม่ขึ้นไปซื้อของภายในอาคาร ซื้อแต่เฉพาะที่ของขายอยู่ด้านล่างเท่านั้น ในขณะที่ทางขึ้นตลาดก็แคบ ถนนก็มีของวางขายไม่มีที่จอดรถ จึงขอให้ทาง อบจ.เร่งแก้ไขปัญหา โดยจัดระเบียบตลาดใหม่ทั้งหมด
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยเชียงราย เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมกับนำทีมผู้สมัคร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
โดยนางปัดติญา ตันอาวัชนาการ (แม่ค้า) บอกว่า หลังจากถูกรื้อตลาดส่วนต่อเติม ทำให้แม่ค้าไม่มีขายของ หลายรายก็กางร่มขาย เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน ส่วนตนเองกลับขึ้นไปขายที่แผงเดิมที่มีอยู่ภายในอาคาร พร้อมกับพาไปดูตลาดภายในอาคาร โดยระบุว่า ยังมีแผงร้าง แผงว่างจำนวนมาก แต่พ่อค้าแม่ค้าไม่มีใครอยากขึ้นมาขายข้างบน เพราะพื้นที่ไม่สะอาด ระเกะระกะ รกรุงรัง และสกปรก โดยที่ อบจ.ไม่ทำแผนรองรับ และหากขึ้นมาขายก็ขายไม่ได้ ไม่มีคนขึ้นมาซื้อ เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอยู่ภายในอาคารเดิม บางรายขายข้างบนไม่ได้ ก็ลงไปขายข้างล่าง จึงต้องการให้ อบจ.ตรัง มาพูดคุยกับพ่อค่าแม่ค้าว่าจะเอาอย่างไร ระยะเวลา 45 วัน ในการรื้อถอนแต่ควรจะจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม และทำความสะอาดปรับปรุงตลาดภายในอาคารให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับความเป็นตลาด ประชาชนจะได้เข้ามาซื้อ
เช่นเดียวกับแม่ค้ารายอื่น ๆ รอบอาคารต่างก็บอกว่าขายของไม่ได้ ไม่มีลูกค้ามาเดิน เพราะการรื้อถอนยังเกะกะ กางร่มขายหากฝนตกก็เปียก บางรายขายผลไม้ ซื้อมะม่วงมาเป็นเข่ง ๆ ขายได้นิดหน่อยที่เหลือก็เน่า ต้องเททิ้ง อยากให้ อบจ.เร่งดำเนินการปรับปรุงตลาดในอาคารให้เหมาะสมที่จะให้พ่อค้าแม่ค้าขึ้นไปขายของ
ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าภายในอาคาร ก็ร้องเรียนเช่นกันว่า พวกตนเดือดร้อนมาอย่างยาวนาน หลังจาก อบจ.ต่อเติมตลาดยื่นออกไปนอกอาคาร และขายสินค้าเหมือนกันทุกชนิด และมีมากกว่า ทั้ง อาหารทะเล พืชผัก หมู ไก่ เนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งของใช้จำเป็นในครัวเรือน เหมือนกับแผงในอาคารทั้งหมด ลักษณะเหมือนกับปิดทางเข้าตลาดในอาคาร ทางเข้าแคบ ไม่มีที่จอดรถ ทำให้เจ้าของแผงในอาคารขายของไม่ได้มานานหลายสิบปี โดยที่ อบจ.ตรังก็ไม่เคยใส่ใจแก้ปัญหา แผงในอาคารยังมีว่าง ร้างอีกจำนวนมาก อยากให้ อบจ. เร่งแก้ปัญหา และอย่าให้มีตลาดนอกอาคารมาซ้อนตลาด จัดระเบียบใหม่ ให้พ่อค้าแม่ค้าด้านนอก มาขายข้างในให้หมดตามที่แผงยังว่าง หากไม่เพียงพอ ก็จะต้องหาวิธีการแก้ไข ตลาดจะได้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นธรรมกับพ่อค้าแม่ค้าทุกราย ที่ผ่านมาพวกตนเจ้าของแผงในอาคารไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการต่อเติมและสร้างตลาดรอบอาคาร อย่างไรก็ตาม ก็มีแม่ค้าบางคนบอก อบจ.ตรัง ไม่ได้ลอยแพ แต่ทางเทศบาลจะต้องใช้เวลาในการรื้อถอนทั้งหมด 45 วัน จึงทำให้ลำบาก แต่หลังจากนั้นจะมีการแก้ปัญหาต่อไป
โดยสภาพของตลาดสดย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ที่อยู่ในบริเวณพิ้นที่เดียวกัน พบว่าแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.ตลาดที่วางสินค้าจำหน่ายริมถนน โดยเทศบาลตำบลย่านตาขาวจัดพื้นที่ให้ขาย และเก็บค่าเช่า แต่ใบเสร็จการเก็บค่าเช่าระบุเป็นค่าจัดเก็บขยะมูลฝอย
2.ตลาดภายในอาคารของ อบจ.ตรัง ที่เกือบจะร้าง เพราะประชาชนไม่เข้าไปซื้อ เพราะมีตลาดซ้อนตลาดอาคาร
3.ตลาดในส่วนต่อเติม ที่ อบจ.ตรัง ต่อเติมขึ้นมาอย่างผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีแผงในตัวอาคาร ได้ขายอยู่รอบอาคาร แต่ทำให้แผงในอาคารเดือดร้อนขายของไม่ได้ หลายรายต้องทิ้งแผงด้านใน มาขายข้างนอกด้วย เพื่อจะได้ขายสินค้าได้ และในที่สุด ศาลสั่งรื้อถอนตลาดส่วนต่อเติม ก็ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในส่วนตลาดต่อเติมเดือดร้อนไม่มีที่ขายของ และจากปัญหาการไม่วางแผนรองรับ เช่น ทำความสะอาดแผงตลาดในอาคาร รองรับพ่อค้าแม่ค้า จึงทำเดือดร้อนหมดทุกกลุ่ม เพราะขณะนี้ประชาชนไม่เข้าไปซื้อของ เพราะพื้นที่โดยรอบเกะกะ
ในขณะที่สภาพปัญหาโดยรวมของตลาดคือ
1.ปัญหาของพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ในส่วนอาคารของตลาดสด ซึ่งสร้างขึ้นก่อน หลังจาก อบจ.ตรัง มีการต่อดัดแปลงเติมอาคารออกมาด้านนอกเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีแผงจำหน่ายภายในส่วนอาคารได้ขายของ ปรากฏว่ามีการขายของทุกอย่างและจำนวนมากกว่าแผงในอาคาร ทางเข้าคับแคบ ถนนไม่มีพื้นที่ว่าง ไม่มีที่จอดรถ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่มีแผงอยู่ในตัวอาคารขายของไม่ได้มายาวนานจนถึงขณะนี้ แผงร้างจำนวนมาก สกปรก ขณะที่เจ้าของแผงในอาคารบางรายจำเป็นต้องออกเช่าที่ขายอยู่ในส่วนต่อเติมด้วย เพราะเดือดร้อน หากขายอยู่แต่ในอาคาร ประชาชนไม่เข้าไปซื้อของ
2. ปัญหาของพ่อค้าแม่ค้าที่เคยจำหน่ายสินค้าอยู่ใต้หลังคา ส่วนที่มีการดัดแปลงต่อเติมออกไปจากตัวอาคาร ยื่นลงไปบนถนนของเทศบาลตำบลย่านตาขาว ขณะนี้เทศบาลตำบลย่านตาขาวได้ทำการรื้อถอนหลังคาส่วนของตลาดที่ดัดแปลงต่อเติมออกไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด แต่ยังรื้อไม่แล้วเสร็จ เนื่องจาก อบจ.ต่อเติมโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อเทศบาลตำบลย่านตาขาว ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทำให้พ่อค้าแม่ค้าส่วนที่ถูกรื้อถอนดังกล่าว เดือดร้อนหนักไม่มีที่ขายของ แม้เบื้องต้น ทางเทศบาลตำบลย่านตาขาวหาพื้นที่ให้ไปขายที่ตลาดศรีตรัง ห่างออกไปประมาณ 1 กม. แต่พ่อค้าแม่ค้าไม่อยากไป เพราะไกลชุมชนกลัวขายไม่ได้ และไม่อยากขึ้นไปขายภายในอาคารที่มีแผงร้าง เนื่องจากสภาพภายในยังไม่เอื้ออำนวย ทาง อบจ.ไม่ได้มีการปรับปรุง หรือทำความสะอาดให้ตลาดพร้อมรองรับ จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากเดือดร้อนต้องกางร่มขายจุดเดิมท่ามกลางซากปรับหักพังจากการรื้อถอนที่ยังไม่แล้วเสร็จ ประชาชนไม่เข้าไปซื้อของทำให้ขายของไม่ได้ บางรายไปเช่าที่ใหม่ในราคาแผงละ 3,000 – 6,000 บาท ทำให้ยิ่งเดือดร้อน
และส่วนที่ 3. พ่อค้าแม่ค้าที่วางสินค้าขายริมถนนเทศบาลฝั่งตรงข้ามด้านข้างอาคารตลาดสด กีดขวางการจราจร ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าทุกคนเดือดร้อน และขณะนี้ทั้ง 3 กลุ่มขายของไม่ได้ เพราะมีการรื้อถอนอาคารยังไม่แล้วเสร็จ ประชาชนไม่อยากเดินทางไปจับจ่ายซื้อของ
ด้านนายก อบจ.ตรังแจงแก้ปัญหาตลาดสด เตรียมประสานนายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาวเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน กำหนดจุดผ่อนผันการค้าขาย ไม่ให้รุกล้ำถนนจราจร และเตรียมทุบทิ้งอาคารตลาดสด เพื่อสร้างใหม่ให้ทุกคนขายภายในอาคารทั้งหมด
นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง กล่าวถึงแนวทางการปัญหาตลาดสด อบจ.ตรัง ว่าในเบื้องต้นเตรียมประสานนายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว เพื่อหารือในการกำหนดจุดผ่อนผันในการค้าขายชั่วคราวให้แก่พ่อค้าแม่ค้าส่วนต่อเติมที่ถูกรื้อถอนให้สามารถมีจุดค้าขาย โดยจะกำหนดจุดร่วมกันไม่ให้รุกล้ำเส้นทางจราจร ทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยจะเร่งหาทางออกด้วยการกำหนดจุดผ่อนผันในการขาย และเร่งปรับปรุงระบบน้ำประปา ระบบไฟให้ดี เนื่องจากว่าตลาดศรีตรังที่เทศบาลหาไว้ให้พ่อค้าแม่ค้านั้น ระบบน้ำประปาและระบบไฟฟ้าไม่ดี ทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่อยากไปขาย
นอกจากนั้น อบจ.มีแผนจะทุบทิ้งอาคารตลาดสดทั้งหมด เพื่อก่อสร้างใหม่ คาดจะสามารถทุบทิ้งได้ในปี 2566 หากการก่อสร้างแล้วเสร็จในอนาคตก็จะเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ ให้พ่อค้าแม่ค้ามีแผงจำหน่ายเป็นของตนเอง จะไม่เกิดปัญหาว่าตรงไหนขายไม่ได้อีกต่อไป แต่ในเบื้องต้น จะเร่งหาทางออกด้วยการกำหนดจุดผ่อนผันในการขายให้ก่อน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: