ตรัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เสวนากระท่อมไทยสู่สากล พร้อมรับเรื่องร้อง เปิดสนามวัวชน และสนามไก่ชน ผู้ว่าฯตรังขานรับ ดีเดย์ 9 พ.ค. นี้ ยื่นขออนุญาต ขณะที่กลุ่มคนเลี้ยงวัวชน-ไก่ชน เฝ้ารอกลับมาลงสนามได้อีกครั้ง หลังขาดรายได้ 3 ปี
วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เปิดเสวนาพืชกระท่อมไทยสู่สากล ณ ห้องประชุมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายในการถอดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด และส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้นำพืชกระท่อมใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยจังหวัดตรัง มี 4 หมู่บ้านนำร่องในพื้นที่ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด ก่อนขยายผลปลูกพืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจทั่วทั้งจังหวัด
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่า ในการส่งเสริมปลูกพืชกระท่อม ทางภาครัฐและภาคเอกชน จะมีความเห็นไม่ตรงกัน 100 เปอร์เซ็น เพราะเป็นประเทศที่มีความเสรี แต่การปลูกเป็นจำนวนมาก ก็เป็นห่วง ในระยะยาว ราคาก็จะตก แต่ขณะนี้ปลูกกันเยอะราคายังไม่ตก อาจเป็นเพราะมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นด้วย โดยสรุปแล้วราคาภายในประเทศยังสูงอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำกระท่อมผง ที่ส่งไปยังต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา ราคาใกล้เคียงกันมาก ส่วนหนึ่งของการปลูกพืชกระท่อมจำนวนมากจะทำให้การส่งออก ในวันข้างหน้าได้อีกสัก 1 ปี คาดว่าราคาจะลดลง และสามารถจะส่งออกได้ ยกตัวอย่าง กระท่อมผงส่งออก กิโลกรัมละ 2,000 บาท จะต้องใช้กระท่อมสด 10 ต่อ 1 ราคาภายในประเทศตอนนี้ กิโลกรัมละ 500 บาท ถ้า 10 ต่อ 1 ต้นทุน 5,000 บาท ยังส่งออกไม่ได้ เราก็พยายามทำกันอยู่ แต่ไปถึงอีกจุดหนึ่ง 1 ปี 2 ปี ปลูกกันมากเกินไปก็จะเกิดปัญหาล้นตลาด ผมพยายามพูดแต่สู้กฎหมายไม่ได้ เพราะปล่อยเสรี ส่วนกัญชาหากจะให้สมบูรณ์แบบจะต้องรอกฎหมายลูกมารองรับก่อน
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ชาวบ้านขอให้ส่งเสริมการปลูกพืชกระท่อม การเลี้ยงวัวชน การเลี้ยงแพะ ไก่ชน และเรียกร้องให้เปิดสนามวัว และสนามไก่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง บอกว่ายินดีที่จะอนุญาต วันที่ 9 พ.ค. จะเริ่มเปิดให้ยื่นเรื่องขออนุญาตได้ที่ศาลากลางจังหวัด แต่อยากให้ทุกคนทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และตนได้นำนโยบายกระทรวงยุติธรรมไปบอกต่อชาวบ้าน เช่น การช่วยเหลือผู้เสียหายจากคดีอาญา การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งชาวบ้านสนใจเป็นอย่างมาก
ดร.กิตติพงศ์ ผลประยูร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติดสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า กลุ่มคนรักวัวชนมีความประสงค์ให้จังหวัดตรังเปิดล็อกสนามชนวัว เหมือนกันจังหวัดอื่น ๆ ที่เปิดล็อกกันไปเยอะแล้ว คนตรังต้องไปชนวัวที่จังหวัดอื่น ขณะที่เป็นวัฒนธรรมของบ้านเรา จึงได้หารือกับ ท่าน ส.ส.(นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ) และท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ท่านก็เห็นด้วย และสนับสนุนเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจสถานที่เลี้ยงวัวชน ไก่ชน ตลอดทั้งสนามกีฬาไก่ชน สนามวัวชน ในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง ซึ่งบรรดาผู้เลี้ยงวัวชน และไก่ชน ต่างตั้งความหวังว่าจังหวัดตรัง จะอนุญาตให้เปิดสนามแข่งขันกีฬาวัวชน ไก่ชน ได้ในเร็ววันนี้ ในขณะที่ภายในสนามกีฬาชนวัว และสนามกีฬาชนไก่ บรรยากาศก็เงียบเหงา มีเพียงคนงานที่คอยดูแลสนามให้อยู่อย่างสะอาดเรียบร้อย ในขณะที่ร้านค้าภายในสนามฯ ก็ปิดตัว เพราะไม่มีการแข่งขัน
นายประทีป จันทร์ด้วง อายุ 35 ปี (เสื้อสีน้ำเงิน) บอกว่า ตนรับจ้างเลี้ยงวัว เพียง 1 ตัว ได้เงินเดือน เดือนละ 6,000 บาท แต่ละวันมีหน้าที่ตัดหญ้าให้วัวชน พาวัวชนไปเดินออกกำลังกาย เมื่อมีสถานการณ์โควิดก็ขาดรายได้ไป ปกติแล้วถ้าวัวชนตัวที่รับจ้างเลี้ยงชนชนะ ตนจะได้โบนัสเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งปกติวัวชนที่ตนดูแล ชื่อ “เจ้าควายนาโยง” เป็นวัวชนที่มีเดิมพันสูง เดิมพันต่อการชน อยู่ที่ 2 ล้านบาท ซึ่งหากชนะตนและทีมเลี้ยงวัว จะได้โบนัสถึง 100,000 บาท แต่เมื่อสนามชนวัวถูกปิดเนื่องจากโควิด รายได้ส่วนนี้ก็หายไป ซึ่งกลุ่มคนเลี้ยงวัวชนได้รับผลกระทบเหมือนกัน และตนได้แต่ลุ้นว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมาชนวัวอีกครั้ง
นายสรรชัย เชยชื่นจิตร (นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์) บอกว่า ตนรับจ้างเลี้ยงชน ได้เงินเดือนเดือนละ 6,000 บาท มีวัวชนที่อยู่ในความดูแล 3 ตัว ทุกวันต้องออกไปหาหญ้ามาวัวกิน หากซื้อต้องซื้อในราคาเข่งละ 200 บาท ซึ่งการปิดสนามชนวัว ทำให้รายได้จากเปอร์เซ็นเงินเดิมพันนั้นหายไป กว่า 3 ปีแล้ว ที่ได้รับเฉพาะเงินเดือนเลี้ยงวัว แต่ที่ยังทำอยู่ส่วนหนึ่งเพราะใจรัก
ในขณะที่เจ้าของฟาร์มไก่ชน ก็รอความหวังว่าจะได้เปิดสนามกีฬาไก่ชนโดยเร็ว โดย นางศศิรินทร์ กาญจันทร์ อายุ 43 ปี เจ้าของค่ายไก่ชนและฟาร์มไก่ชน บอกว่า ตนมีไก่พร้อมชนจำนวน 60 ตัว และไก่ชนที่เลี้ยงจำหน่าย จำนวน 100 ตัว ซึ่งไก่ชนทั้งหมด ต้องใช้เงินดูแล กว่า 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีทั้งค่ายาบำรุง ค่าข้าวเปลือก ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ทุกอย่างต้องซื้อมาทั้งนั้น เมื่อสนามกีฬาชนไก่ปิด ไก่ชนที่เลี้ยงขายก็ไม่มีคนซื้อ กีฬาชนไก่ก็ไม่ได้แข่งขัน ทำให้เจ้าของฟาร์มและค่ายไก่ชน ขาดรายได้ทุกทาง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: