ตรัง -ชาวบ้านร้องกองทรายของกรมเจ้าท่าและทม.กันตังสร้างปัญหานำมากองในจุดที่ไม่เหมาะสม ทั้งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองช่วงที่อากาศแล้งและเกิดลม บดบังทัศนียภาพของสวนธารณะ หากน้ำทะเลหนุนสูงทรายก็จะไหลกลับทำให้ร่องน้ำเกิดความตื้นเขิน วอนกรมเจ้าท่าและเทศบาลเมืองกันตังเคลื่อนย้ายออก หากจะทำเป็นชายหาดก็ควรถามความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ไม่ควรทำโดยพละการ ด้านผู้บริหารเทศบาลเมืองกันตัง ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวดูสภาพพื้นที่บริเวณด้านหน้าสวนสาธารณะเทศบาลเมืองกันตัง ซึ่งเป็นส่วนของบริเวณชายฝั่งติดเขื่อนกันคลื่นต่อเนื่องไปจนถึงท่าเทียบเรือต่างประเทศ อ.กันตัง เพื่อดูกองทรายจำนวนมหาศาลที่ถูกนำมากองไว้ระยะทางยาวกว่า 100 เมตร โดยระบุว่าเป็นกองทรายที่สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า นำมากองไว้ เพื่อจะยกให้แก่สาธารณกุศล หรือเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งเทศบาล อบต. วัด โรงเรียน มัสยิดต่างๆ ที่มีความต้องการ ซึ่งกองทรายจำนวนมากดังกล่าวกองอยู่บริเวณนี้มานานประมาณ 3 ปีแล้ว ซึ่งเป็นทรายที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำตรัง เพื่อแก้ปัญหาตื้นเขินของกรมเจ้าท่า จากเดิมจะต้องนำไปทิ้งบริเวณจุดทิ้งในทะเล ระหว่างเกาะเหลาเหลียงกับเกาะลิบง แต่ปรากฏว่าเกิดเหตุหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูนตายเป็นบริเวณกว้างนับพันไร่ ทำให้ชาวบ้านรวมทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านออกมาต่อต้าน ทำให้ขณะนั้นทางกรมเจ้าท่าต้องหาจุดทิ้งใหม่ และหาวิธีการกำจัดทราย โดยวิธีหนึ่งคือ การนำทรายที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานราชการ หรือสถานที่สาธารณะประโยชน์ต่างๆ โดยมีเทศบาลเมืองกันตังร่วมหาทางออกด้วย โดยเทศบาลเมืองกันตัง ได้ขอทรายจำนวนมากดังกล่าวมากองไว้บริเวณแนวกันคลื่นหน้าสวนสาธารณะ เพื่อจะนำไปใช้สำหรับการถมที่ต่างๆ , การทำสนามฟุตบอล หรือให้วัด มัสยิดต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นการทำลายทัศนียภาพ และหากน้ำทะเลขึ้นสูงทรายจำนวนดังกล่าวก็จะไหลกลับลงไปในทะเลทำให้ร่องน้ำตื้นเขิน และอาจจะต้องทำการขุดลอกกันใหม่ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่เห็นด้วยหากเทศบาลเมืองกันตังจะนำทรายทั้งหมดที่เหลือดังกล่าว ทำเป็นชายหาด หรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของเทศบาล โดยมองว่าไม่ใช่จุดที่เหมาะสม เพราะหากน้ำทะเลหนุนสูงทรายดังกล่าวก็จะไหลกลับลงไปในทะเล ซึ่งจะต้องมีการดูดทรายกันใหม่ ทั้งนี้ หากจะทำเป็นชายหาด หรือทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ก็ควรทำประชาคมสอบถามความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา ไม่ใช่ทางเทศบาลจะทำโดยพละการ
ข่าวน่าสนใจ:
- คึกคัก นาย"บุ่นเล้ง" อดีตนายกอบจ.ตรัง นำทีมนายกบุ่นเล้ง สมัครครบ 30 เขต ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่ง
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
นายจำนงค์ อุทัยรัตน์ อายุ 58 ปี ประธานชุมชนตลาดใต้ เทศบาลเมืองกันตัง กล่าวว่า ทรายที่กองอยู่นี้รวมกันมากกว่า 30,000 คิว เป็นทรายที่ไหลลงมาจากตลอดแม่น้ำตรังและไหลลงสู่ปากอ่าว ทะเลที่ อ.กันตัง ที่กรมเจ้าท่าขุดลอกขึ้นมาผลจากที่ร่องน้ำเกิดการตื้นเขิน เป็นอุปสรรค์ต่อการขนส่งสินค้าของเรือขนาดใหญ่ จึงได้ทำการขุดลอกขึ้นมา แต่ไปทิ้งในทะเลไม่ได้ เพราะทำลายหญ้าทะเล จึงทำมากองไว้ที่หน้าท่าเรือกันตัง ซึ่งไม่สมควร เพราะจะทำให้ทรายดังกล่าวไหลกลับลงไป ทำให้ร่องน้ำตื้นเขินและอาจจะต้องขุดลอกร่องน้ำใหม่ สภาพขณะนี้บริเวณท่าเรือต่างประเทศกันตังก็ระเกะระกะไปด้วยสิ่งต่างๆ มองแล้วไม่สวยงาม รวมทั้งท่อดูด เครื่องจักรในการขุดลอกก็นำมากองรวมกันไว้ ทำให้เกิดความไม่สวยงาม บดบังทัศนียภาพ ช่วงหน้าแล้ง หรือเกิดลมพายุพัด ก็จะเกิดทรายปลิวเข้าไปในย่านชุมชนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน รวมทั้งผู้ปกครองและเด็กๆ ที่มาวิ่งเล่นภายในสนามเด็กเล่นและสวนสาธารณะ และไม่เห็นด้วยหากนำมากองทำเป็นชายหาด เพราะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ และควรจะรื้อเอาไป
ทางด้านนายชัยพร ศรีวรกุลวิวัฒน์ อายุ 73 ปี อดีตประธานสภาเทศบาลเมืองกันตัง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะทำทรายมากองและทำเป็นชายหาด ควรจะรื้อและเอาออกไป ทั้งนี้ ในช่วงที่เทศบาลจะขอทรายมากองก็มีการทักท้วงและสอบถามกันมากในที่ประชุมสภาเทศบาล โดยนายกเทศมนตรีเมืองกันตังก็บอกว่า ขอเอามากองไว้เพื่อจะนำไปถมที่ในโรงเรียน ถมที่ทำสนามฟุตบอล และให้อบต. หรือวัด มัสยิดมาขนเอาไปใช้ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ แต่ยังเหลืออีกเป็นจำนวนมาก ส่วนตัวก็เห็นว่าในการขนทรายจากที่กองนี้ นำไปกองอีกที่เพื่อใช้ประโยชน์ในเขตเทศบาล ทางเทศบาลก็ไม่ควรจะขนย้ายออกไปเองเพราะต้องใช้งบประมาณภาษีของประชาชน ควรจะให้บริษัทรับเหมาขุดลอกร่องน้ำเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการขน เพราะต่อคันรถต้องใช้เงินประมาณ 250 บาท ซึ่งหากขนมากก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จะเท่ากับเทศบาลเอาเงินภาษีไปจ่ายช่วยเหลือบริษัทเอกชนหรือไม่ แทนที่บริษัทเอกชนจะขน หรือกำจัดเอง ทางท้องถิ่นกลับต้องมาเสียเงินในการขนและกำจัดเอง ซึ่งทรายทั้งหมดเกิดจากที่ชาวประมงคัดค้านไม่ให้ทิ้งในทะเล เพราะทำลายหญ้าทะเล แล้วนำมากองไว้ในที่หน้าสวนสาธารณะแห่งนี้ ควรจะรื้อเอาไปทิ้งที่อื่น และไม่เห็นด้วยเช่นกันที่จะทำเป็นชายหาด
ทางด้านนายจรัญ ดำเนินผล รักษาการ ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กล่าวว่า ทรายที่มีอยู่ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงระหว่างที่กำลังทยอยออก โดยหน่วยงานต่างๆรวมทั้งมัสยิดหรือวัตถุต่างๆที่ขอมา จะเห็นว่าจะมีรถเข้ามาขนหรือเป็นระยะระยะซึ่งในการขนนั้น ทางสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อน ว่าขอไปใช้นั้นเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์จริงหรือไม่ และในการขนนั้นจะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจเช็คว่าในการขอนั้นตรงตามที่ขอไหม เพราะทางเจ้าท่าก็ไม่อยากเป็นประเด็นว่ามาคนแล้วเอาไปทิ้งที่อื่น หรือมาขนแล้วเอาไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ในส่วนของทรายที่เหลืออยู่ทั้งหมดขณะนี้ประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ดำเนินการเร่งรัดอยู่ตลอดว่าจะมอบให้กับทางเทศบาลกันตัง เนื่องจากตอนประชุม กรอ.ชุดเล็ก ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธาน ที่สำนักงานเจ้าท่าทางภูมิภาคสาขาตรัง ในที่ประชุมมีมติว่า ทรายนี้ให้เทศบาลเมืองกันตังเอาไปใช้ และนับตั้งแต่ตนเองเข้ามารักษาการตำแหน่ง ผอ.เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านม าก็อยากจะเคลียร์ตรงนี้ให้จบโดยเร็ว ถ้าเกิดว่าไม่มีหน่วยงานไหนจะเอาไปใช้ประโยชน์แล้ว ตนเองก็จะทำเรื่องขาย แต่ในที่นี้ในที่ประชุมก็อยากได้ทรายนี้ไปใช้ประโยชน์ จึงไม่อยากให้ขาย เพราะถ้าขายทรายก็ออกไปนอกพื้นที่โดยที่ว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ทั้งนี้ การนำมากองก็เป็นเป็นไปตามคำขอของเทศบาลเมืองกันตัง จะขอไปใช้ประโยชน์ ซึ่งตนก็ได้เร่งรัดหนังสือไปยังนายกเทศมนตรีโดยตลอด ซึ่งทางเทศบาลได้ส่งหนังสือมายังตนเองแล้วเมื่อปลายเดือนที่แล้ วซึ่งในปัจจุบันนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอน ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและทำหนังสือส่งมอบทรายที่เหลืออยู่ให้กับเทศบาลเมืองกันตัง โดยเท่าที่ทราบเทศบาลจะไปทำสนามทรายเทียม หรือทำสวนสาธารณะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยวให้กับชาวบ้าน ตนเองก็ได้สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าใกล้ๆ สวนสาธารณะ ได้รับคำตอบว่า พวกเขายินดีอย่างมาก เพราะเขาจะได้ขายของได้มากขึ้น ซึ่งทางตนเองก็จะเร่งรัดทำหนังสือส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้พฤษภาคม หลังจากนั้นทางเทศบาลจะนำไปทำอะไร บริหารจัดการอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ของเทศบาล ที่ผ่านมาเหตุที่ล่าช้าในการส่งมอบ เพราะเป็นช่วงที่เกิดการเลือกตั้งพอดี ไม่มีนายกเทศมนตรี จึงเป็นเรื่องคาราคาซังมา แต่คิดว่าจะจบภายในเดือนนี้ ส่วนสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ขณะนี้ ในปี 2565 – 2566 ก็ไม่มีโครงการขุดลอกใหม่ อยากจะเคลียร์เรื่องเดิมนี้ให้จบก่อน จึงทำโครงการใหม่หรือไม่ ก็ต้องมาดูกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเทศบาลทำเป็นชายหาด หรือหรือทำเป็นสนามกีฬา หรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่บริเวณที่กองทรายนี้ ในวันข้างหน้าหากเกิดน้ำทะเลหนุนสูงทรายทั้งหมดจะไหลลงกลับไปในร่องน้ำแล้วจะต้องขุดลอกกันใหม่หรือไม่ ทางรักษาการ ผอ. กล่าวว่า บริเวณดังกล่าวนี้ หากน้ำขึ้นมันจะขึ้น – ลงช้า แต่จะไหลลงกลับไปหรือไม่ เป็นเรื่องของทางเทศบาลจะรับผิดชอบบริหารจัดการ หรือป้องกันกันเองให้ได้ หากส่งมอบไปแล้ว ก็ไม่ไปก้าวก่ายแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทางผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่เทศบาลเมืองกันตัง เพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์นายกเทศมนตรีเมืองกันตังในเรื่องดังกล่าวนี้ แต่ได้รับคำตอบว่า นายกเทศมนตรีเดินทางไปราชการ มีเพียงรองนายกเทศมนตรีจำนวน 2 ท่าน ผู้สื่อข่าวจึงขอสัมภาษณ์ ได้รับคำตอบปฏิเสธ โดยบอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีคิวให้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: