X

(คลิป)”บิ๊กโจ๊ก”สั่งลงดาบไต๋เรือประมงและเจ้าของเรือ กดขี่แรงงาน ทนไม่ไหว กระโดดหนีลงทะเล

ตรัง – บิ๊กโจ๊กลงพท.กวดขันหน่วยงานกำกับประมงพาณิชย์หลังพบสถิติลูกเรือประสบเหตุตกน้ำ 2 ปี กว่า 200 ชีวิต ตาย 53 ราย สูญหาย 124 มี ทั้งจากการกระโดดน้ำหลบหนีเพราะถูกกดขี่ใช้แรงงาน  ประสบอุบัติเหตุจากการทำธุระส่วนตัวท้ายเรือ เนื่องจากไม่มีห้องน้ำ  สั่งการเอาผิดไต๋เรือและเจ้าของเรือประมงอย่างเด็ดขาด และพบเจ้าหน้าที่ PIPO บกพร่อง  เตรียมเดินหน้าลงกวดขันการทำงาน และจะแต่งตั้งชุดทำงานเพิ่ม โดยเอาเจ้าหน้าที่เจ้าท่า กรมประมง กรมจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วย

สถานีตำรวจภูธรอำเภอกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ได้เข้าห้องเจรจาไกล่เกลี่ยเยียวยา ระหว่างเจ้าของเรือและลูกเรือประมงที่กระโดดน้ำหลบหนีการใช้แรงงานอย่างทารุณด้วย  จากนั้นเข้าห้องประชุมกับหน่วยงานที่กำกับควบคุมการทำประมงพาณิชย์ในพื้นที่ จ.ตรัง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังอย่างพร้อมเพรียง ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าหน้าท่า  เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ตรัง  เพื่อกำชับกวดขันการทำงาน หลังการตรวจสอบพบว่าในระหว่างปี 2563  -2564  ที่ผ่านมา  มีการแจ้งลูกเรือเสียชีวิต สูญหาย และประสบอุบัติเหตุพลัดตกเรือ หรือตกน้ำ จำนวนทั้งสิ้น  230 ราย จากเรือประมง 229 ลำ โดยแบ่งข้อมูลได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ยืนยันการเสียชีวิต 53 ราย , ยืนยันยังมีชีวิตอยู่ 53 ราย และสูญหายค้นหาไม่พบ จำนวน 124 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมาก

โดยแบ่งสาเหตุหลักออกเป็น 2 สาเหตุคือ จากการกระโดดน้ำหนี เพราะไต๋ก๋งเรือและเจ้าของเรือใช้งานอย่างทารุณเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด และพลักตกน้ำขณะทำธุระส่วนตัว เนื่องจากไม่มีห้องน้ำ  ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลคนสูญหายของคนบนเรือ 124 คน พบ 2 คน ที่มีการแจ้งสูญหาย แต่ยังมีชีวิตอยู่ เข้าแจ้งความกับตำรวจ เพื่อดำเนินคดีเจ้าของเรือกับไต๋เรือ คือ นายอุเทน เกิดโมลี เป็นชาว จ.ขอนแก่น ทำงานบนเรือศรีนพรัตน์ และนายมานะ รังปัญหา ชาว จ.บุรีรัมย์ ทำงานบนเรือพงษ์ชัยเจริญสมุทร  โดยเรือพงษ์ชัยเจริญสมุทรออกเรือจาก จ.สมุทรสาครไปจังหวัดตรัง มุ่งหน้าไปทำประมงในบริเวณทะเลใกล้กับประเทศอินโดนีเซีย    แต่ถูกไต๋เรือ 2 คน โดย 1 คน เป็นชาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง สั่งทำงานหนักบนเรือใน 1 วัน ได้พักไม่เกิน 6 ชม. (จากต้องพัก 10 ชม.ตามกม.กำหนด ) และกลับเข้าฝั่ง ที่ อ.กันตัง เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อมาส่งปลารวม 13 ครั้ง สุดท้ายทนไม่ได้ ระหว่างออกเรือ จึงได้กระโดดน้ำหลบหนีการใช้แรงงานทารุณ ในทะเลประเทศอินโดนีเซีย จนเรือประมงอินโดนีเซียพบช่วยเหลือไว้ได้ จึงได้ดำเนินคดีกับเจ้าของเรือประมง และไต๋ก๋งเรือ รวม 3 คน อย่างเด็ดขาด ในข้อหา  ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ 2541 ประกอบด้วยกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ. ศ. 2557 ข้อ 5 กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง ในระยะเวลาทำงาน 24 ชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 70 ชั่วโมง ในระยะทำงาน 7 วัน และจัดหลักฐานเวลาพักไว้เพื่อให้พนักงานตรวจสอบแรงงานตรวจ ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในเวลาพักได้ โดยต้องจัดให้มีเวลาพักชดเชยโดยเร็ว และให้จัดทำหลักฐานเวลาพักไว้ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล  กล่าวว่า ตนเองสั่งตรวจสอบข้อมูลแรงงานที่สูญหายทั้ง 230 คน อย่างละเอียดว่าเกิดจากสาเหตุใด ถูกฆาตกรรม หรือบังคับใช้แรงงานหรือไม่ เพราะทุกชีวิตมีค่า ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครอง เยียวยา และตอบคำถามสังคมได้ จะไม่ปล่อยให้คลุมเครือจากกลายเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะจะทำให้เสียภาพลักษณ์ประมงไทย เสียภาพลักษณ์ประเทศและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต  โดยประเทศไทยถูกปลดล็อกจากสีแดง มาเป็นสีเหลือง เราจะให้เสียหายอีกต่อภาพลักษณ์ต่อเศรษฐกิจอีกไม่ได้  และในเร็วๆนี้ทาง EU จะเดินทางมาประเมินประเทศไทยอีกรอบ จึงต้องกวดขันการทำงาน ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยงานที่กำกับควบคุม เช่น ศูนย์ PIPO ตรัง ก็พบมีความบกพร่อง ที่ปล่อยให้ลูกเรือเข้าออกท่าเรือกันตังถึง 13 ครั้ง โดยไม่ตรวจพบเลยว่าแรงงานถูกกดขี่ใช้งานเกินเวลา ถือว่าบกพร่องในการทำงาน เตรียมพบปะกับ PIPO ทุกจังหวัดกวดขันการทำงาน  นอกจากนั้นจะต้องพูดคุยกับเจ้าของเรือประมงทุกลำ ให้เพิ่มเติมเรื่องห้องน้ำภายในเรือ เพราะสถิติพลักตกเรือจากการทำธุระท้ายเรือจำนวนมาก และจากการตรวจสอบพบว่าเรือประมง 10 ลำ พบเห็นคนตกน้ำ แต่ไม่ช่วย ก็จะเรียกตัวเจ้าของเรือและไต๋มาสอบปากคำให้ชัดเจน หากพบโยงใยการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นจะแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่ม โดยเอาเจ้าหน้าที่เจ้าท่า กรมประมง กรมจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วย  โดยตนเองพร้อมเป็นแบ็คอัพให้ข้างหลัง ผลักดันให้ทุกคนทำหน้าที่ โดยไม่ต้องหว่งกังวลใดๆให้ เพื่อการทำประมงของไทยเราได้รับการยอมรับจาก EU

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน