ตรัง วิสาหกิจชุมชนบ้านสมุนไพรห้วยนาง เร่งเพาะขยายพันธุ์ต้นกล้าพันธุ์กัญชาขายออเดอร์พุ่ง หลังมีการปลดล็อกจึงเร่งจัดเตรียมต้นกล้าพันธุ์ไว้นับแสนต้นรองรับความต้องการ โดยขณะนี้ผลผลิตในตลาดยังไม่เพียงป้อนตลาดทางการแพทย์ จึงอยากส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจ และประชาชนปลูก โดยทางกลุ่มเตรียมรับซื้อผลผลิตกลับเช่นเดียวกับพืชกระท่อม
นายพสิษฐ์ บุญยอด อายุ 64 ปี อดีตข้าราชการครู ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านสมุนไพรห้วยนาง ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวดูพื้นที่ภายในสวนปาล์มน้ำมันที่ทางกลุ่มได้ใช้พื้นที่ว่างกลางร่องสวนในการเพาะกล้าพันธุ์พืชกระท่อมจำหน่าย และขณะนี้ได้แบ่งพื้นที่บางส่วนในการเพาะกล้าพันธุ์กัญชา “สายพันธุ์หางกระรอกภูพาน” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไทยเหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทยขาย และขณะนี้เป็นแปลงใหญ่แปลงเดียวในจ.ตรัง หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาเสรี พบว่ามียอดสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก จนทางกลุ่มต้องเร่งเพาะขยายกล้าพันธุ์ เพื่อให้ทันความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่สั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากจากทั่วประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ต้องการตามที่ทางราชการอนุญาต โดยทางกลุ่มยืนยันไม่จำหน่ายให้แก่กลุ่มเยาวชนอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ต้นกล้าพันธุ์กัญชาถือเป็นพืชที่เพาะขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างยาก และเมล็ดพันธุ์ขณะนี้ถือว่ายังหายาก และเพาะยาก ต้องเป็นคนที่มีใจรักและเรียนรู้วิธีการเพาะการดูแลรักษาเป็นอย่างดี จึงได้ต้นกล้าพันธุ์สมบูรณ์จำหน่าย โดยขณะนี้ทางกลุ่มได้จัดเตรียมต้นกล้าพันธุ์ไว้ประมาณ 100,000 ต้น ส่วนที่พร้อมจำหน่ายได้แล้วประมาณ 50,000 ต้น ปรากฏว่า ขณะนี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจชุมชนต่างๆ จากหลายจังหวัดทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้จากหลายจังหวัด รวมทั้งยังมีประชาชนที่ต้องการคนละประมาณ 5-15 ต้น
นายพสิษฐ์ บุญยอด ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านสมุนไพรห้วยนาง กล่าวว่า ลูกค้าที่สั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากมาจากหลายจังหวัด ทั้งจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกันกับพืชกระท่อม โดยนำไปปลูกสลับกันกลับพืชกระท่อม โดยพืชกัญชาจะเป็นพืชระยะสั้น ส่วนพืชกระท่อมอายุยาวนานมากกว่า แต่ทั้ง 2 ชนิด จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ที่สำคัญต่อไป โดยพืชกัญชาสามารถปลูกได้สูงไร่ละประมาณ 200 ต้น ขณะนี้ทั้งกระท่อม และกัญชา ยังคงเป็นที่นิยมของตลาด และทั้ง 2 ชนิด จะเป็นพืชที่สามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้ ความต้องการของตลาดมีสูง เท่าไหร่ตลาดก็ต้องการหมด โดยพืชกระท่อมตลาดยังดี ถึงแม้จะมีการเปิดกัญชาเสรีแล้วก็ตาม เพราะกระท่อมสามารถปลูกได้เฉพาะในประเทศไทย และเก็บผลผลิตได้นาน เพราะมีอายุยาว ส่วนกัญชา แม้จะสามารถปลูกได้ทั่วโลก และมีอายุสั้น แต่เก็บผลผลิตได้เร็ว และความต้องการใช้ก็ยังมีสูง โดยกระท่อม 1 ต้น จะเก็บขายได้เดือนละ 3,000 บาท หรือสร้างรายได้ให้ปีละ 36,000 บาท ขณะที่กัญชา ถ้าดูแลดีๆ จะได้ต้นละเป็นหมื่นๆ บาท เพราะขายได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไปจนถึงยอดและช่อดอก ขณะที่ต้นทุนในการปลูกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ก็มีน้อย แต่ปัจจุบันยังมีเกษตรกรปลูกกันไม่มาก ถ้าเป็นกระท่อม จะมีการปลูกบ้านละไม่เกิน 50 ต้น แต่ถ้าเป็นกัญชา จะมีการปลูกกันบ้านละ 10-15 ต้น ส่วนที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ หรือที่ปลูกเป็นเชิงธุรกิจ ยังมีน้อย ดังนั้น ทางวิสาหกิจฯจึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรผู้สนใจหันมาปลูกกระท่อม และกัญชากัน โดยทางกลุ่มจะช่วยถ่ายทอดความรู้ พร้อมดูแลให้อย่างครบวงจร นับตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การให้มาศึกษาดูงาน รวมทั้งการตลาด โดยกระท่อม ทางกลุ่มจะรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร ในราคา กก.ละ 150-200 บาท ส่วนกัญชา จะประสานให้ทางบริษัทรายใหญ่ลงมารับซื้อผลผลิตถึงที่กลุ่มเลย เพื่อความสะดวกของเกษตรกร ส่วนต้นกล้า ทั้งกระท่อม และกัญชาของทางกลุ่ม ขณะนี้มีการผลิตเตรียมไว้แล้วประมาณ 500,000 ต้น โดยมีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และกำลังทยอยกันจัดส่งไป ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสาน เนื่องจากมีคนสนใจปลูกกันมาก และภาคใต้ แต่ในพื้นที่จังหวัดตรังยังมีการปลูกกันน้อย ซึ่งตลาดกัญชาก็คือ ตลาดกระท่อมเดิม เนื่องจากทางกลุ่มจะแนะนำให้ปลูกคู่กัน เพื่อให้ผลผลิตและสร้างรายได้กับเกษตรกรทั้ง 2 อย่าง โดยเฉพาะต้นกล้ากัญชานั้น จะมีทั้งแบบใส่ถุง ราคาต้นละ 50 บาท และแบบใส่กระถาง ราคาต้นละ 90-100 บาท สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาดูงานหรือขอคำปรึกษาการปลูก ติดต่อได้ที่วิสาหกิจชุมชนบ้านสมุนไพรห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง หมายเลขโทรศัพท์ 089 – 6499296
ข่าวน่าสนใจ:
- กกต.ตรัง พร้อมเปิดสนาม จัดเลือกตั้งอบจ. เปิดยิม 4,000 ที่นั่งรับสมัคร พื้นที่กว้างขวางรองรับกองเชียร์ผอ.กกต.ตรัง เผยการข่าวพบ 3…
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
- "ตรังโมเดล" โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: