X

รองนายกนครตรัง โบ้ย แค่คนเซ็นต์อนุญาต เรื่องความปลอดภัยผู้จัดรับผิดชอบ นักแข่งมอบเงินรางวัลช่วยงานศพ

ตรัง รองนายกฯนครตรัง แสดงความเสียใจต่อความสูญเสีย โบ้ย แค่คนเซ็นต์อนุญาต แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบของผู้จัดฯ ถือว่าละเลยบกพร่อง แถมปล่อยกินเหล้ากันในสนาม ยอมรับสนามกระพังสุรินทร์ ภูมิทัศน์ข้างสนามไม่ปลอดภัย เล็งสร้างสนามแข่งขึ้นมาโดยเฉพาะ ด้านนายกัมปนาท อินทองมาก อดีต สท.นครตรัง ซึ่งได้แสดงออกชัดเจน ไม่เห็นด้วยกับการใช้กะพังสุรินทร์ เพื่อประลองความเร็ว เผยประสบการณ์ในอดีต จนถึงปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุนับครั้งไม่ถ้วน ครั้งนี้ซ้ำร้ายที่สุด เพราะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างนักบิด กับ คนดูข้างสนามแข่ง

ที่สำนักงานเทศบาลนครตรัง นายถนอมพงษ์ หลีกภัย รองนายกเทศมนตรีนครตรัง ในฐานะผู้กระทำการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง ในการลงนามพิจารณาอนุญาตให้มีการจัดการแข่งขัน กล่าวชี้แจงว่า สวนสาธารณกระพังสุรินทร์เป็นเขตรับผิดชอบของเทศบาลนครตรัง และตนในฐานะกำกับดูแลสำนักการช่าง ซึ่งดูแลกองสวนสาธารณะและเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้มีการจัดการแข่งขัน ซึ่งทางคณะผู้จัดได้จัดการแข่งขันในรายการการกุศล เพื่อที่จะมอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนในเขตเทศบาลฯทั้ง 8 แห่ง ส่วนเรื่องการจัดการระบบต่าง ๆ เป็นของผู้จัดในการดูแลความเรียบร้อย ซึ่งตนได้เน้นกับทางคณะผู้จัดไปว่า ต้องมีความพร้อม คือ 1.ความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก 2.ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วไม่มีใครหรอกที่จะไปรับผิดชอบกับท่านได้ “ดังนั้น ในนามของเทศบาลนครตรัง เป็นแต่เพียงเจ้าของสถานที่ ส่วนเรื่องการไปพัวพันในเรื่องของการจัดการแข่งขันนั้นทางเราไม่ได้มีการจัดการในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ผมในนามของเทศบาลนครตรัง ในนามของนายกเทศมนตรีนครตรัง และผู้บริหารทุกท่าน ก็ขอแสดงความเสียใจในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น สิ่งไหนที่ทางพวกผมและทีมบริหารเทศบาลดูแล เราก็ต้องเข้าไปรับผิดชอบต่อผู้สูญเสีย ไม่มีใครหรอกครับที่อยากให้เกิด แต่การสูญเสียนั้นก็เกิดไปแล้ว เราก็ต้องมีการเยียวยาดูแล ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจให้เขา”


ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนการแข่งขันและระหว่างการแข่งขัน ทางเทศบาลฯได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแลความเรียบร้อยหรือไม่ นายถนอมพงษ์ กล่าวว่า ตนลงไปดูด้วยตัวเอง ในฐานะกำกับดูแลสำนักการช่าง และก่อนการแข่งขัน 2 วัน ตนได้เอารถน้ำไปฉีดทำความสะอาดเส้นทางสนาม แต่ในเรื่องการจัดการ การป้องกัน อุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ล้อยางกั้นบริเวณทางโค้งต่าง ๆ ทางผู้จัดเขารับผิดชอบในส่วนนั้น เมื่อถามต่อว่า ในคลิปเหตุการณ์ที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ปรากฎว่าไม่มีล้อยางหรือสิ่งกีดขวางเพื่อความปลอดภัยกั้นระหว่างสนามแข่งกับผู้ชมในจุดดังกล่าว ถือเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ นายถนอมพงษ์กล่าวว่า ตอนแรกมีการตั้ง แต่ตอนหลังทางผู้จัดอาจมองว่าเป็นมุมของจุดสตาร์ท ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจ  แต่ตนได้เน้นไปแล้วว่า ล้อยางที่ตั้งจะช่วยได้ จากหนักเป็นเบา “แต่อย่างว่า ในการแข่งขันมันมีความมันส์ เหมือนกับเราดูฟุตบอล แล้วจำนวนผู้คนก็กระเถิบเข้ามาจนล้นฟุตบาท นี่ก็เป็นความบกพร่องของผู้จัด ผมถือว่าเป็นความบกพร่อง

นายถนอมพงษ์กล่าวว่า สำหรับทางญาติผู้สูญเสีย เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา(4 มิ.ย.) ตนได้เรียกคณะผู้จัด 3-4 คน มาเน้นว่า 1.ในเรื่องการเยียวยา การดูแล ผู้สูญเสีย เพราะเหตุอย่างนี้ตนคิดในใจเสมอว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ใครก็ไม่อยากให้เกิด แต่ทางคณะผู้จัดก็ได้ไปเยี่ยมและเอากระเช้าไปให้ผู้บาดเจ็บทั้งหมดที่โรงพยาบาลแล้ว ส่วนรายที่เสียชีวิตก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับญาติในบางส่วนแล้วในเรื่องการดูแลการสูญเสีย และค่ายรถแข่งที่ชนะเงินรางวัล ก็ได้มอบเงินรางวัลที่ได้ให้กับผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บทั้งหมดด้วย ก็ถือว่ามีน้ำใจ เมื่อถามว่า คิดว่าสนามแข่งกระพังสุรินทร์ เป็นสนามที่เหมาะสมในการแข่งรถหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาในอดีต ก็เกิดอุบัติเหตุและมีการเสียชีวิตบ่อยครั้ง นายถนอมพงษ์ตอบว่า สำหรับจังหวัดตรัง ตั้งแต่ตนจำความได้ เมื่อปี 2522 เรามีการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ ถือว่าเป็นประเพณีมาเลย และเข่งขันกันมาอย่างต่อเนื่องในสมัยของอดีตนายกเทศมนตรีหลายท่าน อาทิ นายเธียร เสกธีระ นายชาลี กางอิ่ม และต่อเนื่องกันมา กระทั่งปี 2555 ในสมัยของนายอภิชิต วิโนทัย เป็นนายกฯ ได้จัดครั้งสุดท้าย แล้วเว้นว่างมา 11 ปี จนมาแข่งขันครั้งล่าสุดนี้ในสมัยของนายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งเราได้มีการสำรวจ ทำประชาคมชาวบ้านใกล้เคียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องเสียงดัง และประชาชนที่ออกกำลังกายในสวนสาธารณะที่ต้องงดไปถึง 3-4 วัน

“ส่วนกรณีที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สนามแข่งซึ่งเป็นสวนสาธารณะและขัดต่อกฎหมายนั้น เมื่อช่วงเช้า ทาง พ.ต.อ.เชื้อชาติ เยาดำ ผกก.สภ.เมืองตรัง ได้สอบถามมาเหมือนกัน ตนคิดว่าเมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ ต่อไปเรื่องขวดเบียร์ขวดเหล้าเป็นสิ่งต้องห้าม ตนก็ขอส่งประเด็นไปที่ผู้จัดเลย เพราะมันเป็นความละเลย ถ้าเกิดปัญหาอย่างนี้ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนาม มันก็ไม่สมควร เพราะคนเยอะ โดยเฉพาะวันสุดท้ายซึ่งเป็นการชิงชนะเลิศคนเยอะมาก  ระบบเซฟตี้อะไรต่าง ๆ มันอาจหละหลวมไป ทางเทศบาลก็ต้องกลับไปทบทวน และในอนาคตข้างหน้า ตนได้คุยกับนายยกเทศมนตรีนครตรังแล้วว่า เราควรจะมีสนามเพื่อการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบและสนามแข่งขันจักรยานยนต์วิบากขึ้นสัก 1 สนาม เพราะสนามกระพังสุรินทร์นี้ ระบบภูมิทัศน์ข้างสนามอาจไม่มีความปลอดภัย”นายถนอมพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจบการแข่งขัน ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Oat Tritippayapong ซึ่งเป็นทีมผู้เข้าร่วมแข่งขัน ได้โพสต์ข้อความ “ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสีย เงินรางวัล ที่ได้จากทีมผม ขออณุญาติบริจาคแก่ผู้สูญเสียทั้งหมด ออโต ดาวรุ่งที่ 5 1,500 บาท ออโตขวัญใจที่ 2 4,500 บาท โซนิคดาวรุ่งที่ 1 7,000 โซนิคมืออาชีพที่ 4 3,000  รวม 16,000 บาท ด้วยรักและอาลัย ลงชื่อ ร.ต.อ.ปณชัย ไตรทิพยพงศ์”

ด้าน นายกัมปนาท อินทองมาก อดีตสมาชิกสภาเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ตนชื่นชอบการแข่งรถแต่งซิ่งรถเหมือนเช่นช่วงวัยรุ่นทั่วไปที่ผ่านช่วงชีวิตตอนนั้นมา  สมัยที่เรียนชั้นประถม 6 ตนได้ปั่นจักรยานไปดูเขาแข่งรถที่สระกะพังสุรินทร์  เพราะชอบในความเร็วตามประสาเด็ก แต่เมื่อตนโตขึ้นสิ่งที่คิดและฝังใจมาตลอด คือ สระกะพังสุรินทร์ใช่ที่สมควรเป็นสนามแข่งรถ และในช่วงวัยรุ่นตนเคยทำรถ แต่งรถและไปแข่งกันเองที่สระพังสุรินทร์ และเคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวเองเช่นกัน


“ทั้งนี้ในส่วนของมาตรฐานจัดการแข่งขัน ตั้งแต่เด็กจนโตเห็นแค่เพียงผู้จัดนำกระสอบใส่แกลบมาวางไว้เพื่อป้อง เพื่อเป็นบังเกอร์ และอุบัติเหตุก็มีเรื่อย ๆ มา มีทั้งคนเจ็บและคนตาย ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นกับนักแข่ง โดยมาตรการป้องกันระยะทางตรงนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน  เพราะปัจจุบันขนาด ซีซี ของรถที่เพิ่มขึ้น แตกต่างจากในอดีต มีความสามารถในการตกแต่งรถได้ดีขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ก็วนเวียนอยู่ในการแข่งรถ คือ การเกิดอุบัติเหตุ โดยส่วนตัวตนไม่ได้คัดค้านการจัดการแข่งขันรถ แต่ตนไม่เห็นด้วยกับการแข่งรถในสวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์  เพราะกะพังสุรินทร์มีสิ่งกีดขวางไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ผนังปูน รวมทั้งพื้นถนนไม่ได้เรียบ ไม่เหมาะสมต่อการแข่งรถ ตนจึงไม่เห็นด้วยและออกประกาศว่าน่าจะ น่าจะมีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของสนามแข่งรถ ในระดับหนึ่ง เพื่อให้กับผู้ที่ชื่นชอบความเร็วได้มาทดลองความเร็ว หรือช่างที่มีความชำนาญในการแต่งเครื่องยนต์ได้มีที่ปลดปล่อย ไม่ใช่มาซิ่งบนถนนอย่างที่ผมเคยทำ” ฉะนั้นตนจึงเห็นควรให้มีองค์กรมาทำสนามแข่งรถ ขอแค่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก ซึ่งยืนยันตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ถนนสาธารณะ หรือ สวนสาธารณะในการแข่งรถ  และสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วต้องกลับมาทบทวนตั้งแต่แรก เพราะสวนสาธารณะเป็นสมบัติส่วนรวม การที่จะใช้จัดการแข่งขันแข่งรถต้องดูความเหมาะสมเป็นอันดับแรก  และต้องดูว่าเทศบาลได้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร จากการจัดการแข่งขัน ซึ่งหากยืนยันว่าจะจัดแข่งรถที่กะพังสุรินทร์อีก ก็ต้องมีมาตรการเรื่องของความปลอดภัยที่แข็งแรงจริง ๆ มีการป้องกันความปลอดภัยทั้งของตัวนักแข่ง และของผู้ชมด้วย  ทั้งหมดต้องได้รับการดูแล ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม  แต่หากจะเกิดอุบัติเหตุก็ควรจะเกิดเฉพาะกับนักแข่งที่เขายอมรับความเสี่ยงนั้นอยู่แล้ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน