X

คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ชาวเกาะลิบงสุดทน ไร้หน่วยงานแก้ไขต้องช่วยเหลือตัวเองตามมีตามเกิด

ตรัง ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเกาะลิบง ชาวบ้านกว่า 20 หลัง ได้รับผลกระทบนานแรมปี ที่ดินจมหายไปกับทะเล ปีละ 3-4 เมตร และมีบ้านชาวบ้านกว่า 10 หลังพังลงทะเลแล้ว ในขณะที่ชาวบ้านรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง วอนถึงนายกฯ สั่งการช่วยชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเอง ทำแนวกันคลื่นป้องกันทรัพย์สิน หวั่นหากสูญเสียมากกว่านี้จะไร้ที่อยู่

ที่บริเวณพื้นที่บ้านหลังเขา หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 20 หลังคาเรือน ต้องประสบปัญหาน้ำทะเลและคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดินไปหลายเมตรต่อปี บ้านบางหลังถูกคลื่นกัดเซาะจนพังลงไปในทะเล แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านจะร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาแก้ปัญหาแต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ชายฝั่ง บนที่ดินเอกสารสิทธิ์ต้องช่วยเหลือตัวเอง สร้างแนวกันคลื่นป้องกันทรัพย์ของตัวเองกันตามกำลัง ยายบุหงาหญิงอายุมากที่ถือเสียม เดินตามแนวชายฝั่งหลังบ้าน เพื่อขุดทรายใส่ในท่อซีเมนต์ ที่เอามาวางเรียงเป็นแนวกันคลื่นชั่วคราว บนศาลาหลังบ้านมีกองอุปกรณ์ ได้แก่ เชือก กระสอบ ซึ่งคุณยายใช้เงินส่วนตัวซื้อมา เพื่อใช้บรรจุทรายลงกระสอบทำแนวกันคลื่น ไม่ให้รุกเอาที่ดินไป ด้วยความที่อายุมาก ทำคนเดียวไม่ไหวบางครั้งต้องออกเงินจ้างเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาทำ เสาไม้ที่ปักไว้คุณยายจะเอาเชือกมาผูกยึดไว้กับต้นไม้ใกล้ชายฝั่ง ป้องกันไม่ให้หลุดลอยไปกับคลื่นที่พัดเข้าฝั่งอย่างแรง

ยายบุหงา กุมุดา อายุ 74 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง บอกว่า ตนเดือดร้อนเรื่องคลื่นกัดเซาะเข้ามาในที่ดิน เพราะไม่มีอะไรกันถ้าปล่อยไว้บ้านคงจะพังในที่สุด เดือดร้อนมาน 5 ปี ทั้ง ๆ ที่ร้องเรียนไปหน่วยงานต่างที่รับผิดชอบ แต่พอลงมาดูก็หายเงียบกันไป ไม่เคยได้มาลงมือทำ มารับปากแล้วก็หายไป ตนเองใช้สองมือทำแนวกันคลื่นด้วยตัวเอง ตัดไม้ ซื้อกระสอบเพื่อใส่ทรายทำแนวกันคลื่นกั้นที่ดินของตัวเอง บางทีก็ใช้เงินส่วนตัวจ้างช่วยทำ ที่ดินหายไปเยอะมากแล้ว สมัยก่อนหลังบ้านเป็นแนวต้นมะพร้าวเรียงรายกัน แต่คลื่นได้กัดเซาะเอาทั้งที่ดิน ทั้งต้นมะพร้าวลงทะเลไปหมดแล้ว ที่ดินหายไป 3 เมตร ตนต้องทำแนวกันคลื่นทุกวัน พอคลื่นมาสูงก็หยุดพัก คลื่นลดลงก็ทำต่อ ใช้เสียม ไม้ เชือก กระสอบทราย เป็นแนวป้องกัน ต่อสู้กับธรรมชาติ ถ้าไม่ทำเองไม่รู้ว่าคลื่นจะพัดจนที่ดินบ้านเรือนหายไปวันไหน อายุก็มากแล้วคงไม่มีเงินไปซื้อที่ดินที่อื่นสร้างที่อยู่ได้ ตนเองอยากให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะที่ดิน พืชผล บ้านเรือนของชาวบ้าน ทุกวันนี้นอนผวาทุกคืน กลัวน้ำจะพัดกัดเซาะเอาบ้านไป ต้องลงทุนไปซื้อกระสอบใบละ 2-3 บาท มาใส่ทรายตั้งเป็นแนวกันคลื่น ลงทุน ลงแรง แก้ปัญหาเองทุกอย่าง ตอนนี้รู้สึกน้อยใจที่ไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือ อยากจะให้เขาช่วยอย่างจริงจังสักที เพราะตนเองอายุมากทุกวัน จะให้ทำกระสอบทราย ปักหลักกันคลื่นเองทุกวัน ก็คงจะทำไม่ไหวแล้ว


นายอ่าสาน คนขยัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.เกาะลิบง บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 20 หลัง ก่อนหน้านี้บ้านชาวบ้านที่โดยคลื่นกัดเซาะและพังลงทะเล จำนวนกว่า 10 หลัง ตลอดแนวชายฝั่งความยาว 700 เมตร ที่ดิน น.ส.3 ของชาวบ้านลงไปอยู่ในทะเล แต่ละปีคลื่นจะกัดเซาะเข้ามาในที่ดินของชาวบ้าน 3-4 เมตร มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านเยอะเหมือนกัน ทั้งระดับอำเภอ และ ระดับจังหวัด แต่ไม่มีเจ้าภาพหลักมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ ตนอยากวอนให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจให้มาช่วยเหลือชาวบ้าน ตอนนี้ตนเป็นห่วงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน บางหลังน้ำทะเลพัดกัดเซาะเข้ามาถึงชายคาแล้ว ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็ถูกน้ำทะเลถอนรากถอนโคนโค่นล้มไป ไม่รู้ว่าวันไหนน้ำจะมาพัดบ้านพังลงทะเลไป ชาวบ้านแต่ละคนมีที่ดินแค่นิดหน่อย ถ้าน้ำทะเลกัดเซาะไปหมดไม่รู้ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน
ตอนนี้ตนก็พยายามหาผู้หลักผู้ใหญ่ให้เขามาแก้ปัญหาที่ยั่งยืนให้ชาวบ้าน เพราะตรงนี้ติดพื้นที่อุทยานฯ หากจะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ รัฐมนตรีท่านไหนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาก็ขอให้ลงมาดูแลความทุกข์ของชาวบ้านด้วย และตนต้องวอนไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือชาวบ้านด้วย เพราะชาวบ้านเดือดร้อนหนักมาก ซึ่งบริเวณตรงนี้ถ้าเป็นช่วงมรสุมคลื่นจะสูงถึง 4 เมตร

นายอ่าสาน บอกเพิ่มเติมว่า ด้วยที่ดินซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 เมื่อทะเลรุกเข้ามาในที่ดินของชาวนบ้าน ทำให้พื้นที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ตอนนี้ถูกแทนที่ด้วยน้ำทะเล และชาวบ้านเริ่มมีปัญหาอีก เมื่อกรมเจ้าท่าเข้ามาจัดเก็บภาษีรุกล้ำลำน้ำ รายละ 7,000-10,000 บาทต่อปี ซึ่งความเป็นจริงนั้นทะเลเป็นผู้บุกรุกที่ดินชาวบ้าน แต่ชาวบ้านต้องจ่ายค่ารุกล้ำลำน้ำ จึงอยากให้หน่วยงานมาตรวจสอบความจริงให้ชาวบ้านด้วย


นายอับดุลรอหีม คชชาจุติ อายุ 48 ปี ชาวบ้าน บ้านหลังเขา ม.5 บ้านเลขที่ 56/2  ต.เกาะลิบง  บอกว่า ที่ดินตรงนี้เป็น น.ส.3 เมื่อก่อนหลักหมุด น.ส.3 อยู่ไกลออกไปอีก แต่พอน้ำทะเลรุกเข้ามาที่ดินส่วนนั้นก็หายไป แม้ชาวบ้านจะร้องเรียนให้แก้ปัญหา แต่กลับให้ความช่วยเหลือเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ใช้ไม้ปักทำแนวกันคลื่น แต่ด้วยความที่คลื่นลมแรง ไม่นานแนวนั้นก็พังเหมือนเดิม แต่ละปีน้ำทะเลจะกัดเซาะที่ดินเข้ามา 3 เมตร และรุกเข้ามาทุกปี อยากให้สร้างแนวกันคลื่นที่แข็งแรง กันคลื่นได้ ที่ผ่านมามีหน่วยงานเรียกประชุมที่จะแก้ปัญหาแต่ประชุมแล้วก็เงียบ ไม่มาแก้ปัญหาสักที ชาวบ้านก็ไม่อยากไปประชุมแล้ว เพราะมาประชุมแล้วหายไป มาถ่ายรูปแล้วกลับไป เหมือนกับมาโกหกชาวบ้านไปวัน ๆ ถ้าไม่มีใครจะช่วยชาวบ้านได้แล้ว ก็อยากให้นายกมาช่วยเหลือชาวบ้าน บ้านหลังเขา เกาะลิบง


ด้าน นางสาวมณทิพย์ ชนะสิทธิ์ อายุ 47 ปี ชาวบ้านบ้านหลังเขาอยู่บ้านเลขที่ 63/1 ม.5 ต.เกาะลิบง  บอกว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมาก อยากให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ช่วยเหลือชาวบ้านให้จริงจัง อย่าปล่อยให้ชาวบ้านเกาะลิบงมีสภาพเหมือนลูกเมียน้อย เพราะชาวบ้านต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน