“กะพังสุรินทร์โรดเรซซิ่ง” ฉาวอีก หลังอุบัติเหตุรถแข่งชนเด็กตาย “ทนายหมีนครตรัง” แฉ เงินรางวัลมอบจริง แค่ 2.9 แสน ไม่ถึง 4 แสนตามโฆษณา กังขาใช้คำ “รายได้ส่วนหนึ่ง?” มอบทุนโรงเรียนเทศบาล กี่บาทกันแน่ จี้เผยเอกสารขออนุญาต บัญชีรายรับ-รายจ่าย ถามกลับผู้ว่าฯที่บอกไม่รู้เรื่อง แต่กลับมีถ้วยรางวัลลงชื่อมอบนักแข่ง ทั้ง ประธานรัฐสภา-เลขาฯประธานรัฐสภา-นายกฯนครตรัง จริงหรืออ้าง? ในทางคดี โดนเพียบ แพ่ง-อาญา ประมาท-ตัวการร่วม รวมถึงเทศบาล เปิดตัว 2 ผู้ควบคุมการแข่งขัน “โกป็อกเคหะ-Gpพีสเจริญยนต์” กรรมการมี 5 คน
จากกรณีการเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบในรายการ “กะพังโรดเรสซิ่ง” ที่บริเวณสวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์ ภายในเขตเทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งกำหนดการแข่งขัน 2 วัน คือ ระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค.2565 โดยในการแข่งขันวันสุดท้ายวันที่ 3ก.ค. ปรากฏว่าได้เกิดเหตุสุดสลดขึ้น เมื่อรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมแข่งขันคันหนึ่ง เกิดเกี่ยวกับรถคู่แข่งบนเส้นทางตรง ถนนเวียนกะพัง ซึ่งเป็นถนนสาธารณะ เป็นเหตุให้เสียหลักนักแข่งล้มลงจากรถและไถลครูดไปกับพื้นถนน ขณะที่รถแข่งกลับไม่ล้ม และพุ่งต่อไปด้วยความเร็วสูงจนไปชนกับผู้ชมที่อยู่บนฟุตบาทหน้าบ้านเรือนข้างทางซึ่งเป็นย่านชุมชน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือนายมณฑล หรือ น้องลูกปลา ชูยัง อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดน้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 8 คน โดย 1 ในนั้นมีเด็กอายุเพียง 2 ขวบรวมอยู่ด้วยและมีอาการบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะแผลเปิด ขณะที่นักแข่งคันดังกล่าวก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ผู้ได้รับบาดเจ็บบางส่วนสามารถกลับบ้านได้แล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่อาการสาหัสต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง โดยช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นเวลา 13.00 น.เศษ แต่มีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ล่าช้าไปหลายชั่วโมงหลังนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลไปแล้ว เนื่องจากมีการแข่งขันและมอบถ้วยรางวัลกันต่อ โดยทางผู้จัดการแข่งขันไม่ได้มีการประกาศยุติการแข่งขันแต่อย่างใด โดยญาติผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะแม่ของนายมณฑล หรือ น้องลูกปลา ได้ออกมาระบุว่าไม่ได้รับการติดต่อประสานเรื่องการแสดงความรับผิดชอบจากคณะผู้จัดงานใดๆเลย ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ได้รับเพียงกระเช้าเยี่ยมอาการเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่หลังเกิดเหตุในช่วงแรก ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้จัดงาน มีเพียง 1 วันให้หลังในช่วงเย็น นายชนินวิทย์ สินไชย อายุ 56 ปี เป็นประธานชุมชนกะพังสุรินทร์ รับว่าเป็นผู้จัดการแข่งขัน และเดินทางเข้าให้ปากคำกับร.ต.อ.เอกลักษณ์ ศักดิ์ชัยนันท์ พนักงานสอบสวนสภ.เมืองตรัง พร้อมเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะชดใช้ค่าเสียหายทุกกรณี ส่วนประเด็นอื่นไม่ขอตอบ ส่วนเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่กะทันหัน ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ขณะที่นายถนอมพงษ์ หลีกภัย รองนายกเทศมนตรีนครตรัง กำกับดูแลกองงานสวนสาธารณะ สำนักการช่าง ซึ่งดูแลสวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยอมรับว่า เป็นผู้เซ็นอนุญาตให้จัดการแข่งขัน โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการแข่งขันแล้ว แต่เทศบาลเป็นเพียงผู้อนุญาต ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะผู้จัดการแข่งขัน ซึ่งถือว่ามีความบกพร่องในหลายประเด็น อาทิ เครื่องป้องกันความปลอดภัยผู้ชม ได้แก่ ล้อยาง แบริเออร์ มีน้อยเกินไป และบางส่วนได้ถูกนำออกไป หรือการปล่อยให้มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มภายในสนาม ซึ่งขัดต่อพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องอื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งห้ามบริโภคและจำหน่ายภายในสวนสาธารณะ ขณะที่นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ระบุผ่านสื่อว่า ทางจังหวัดตรังไม่ได้รับรู้หรือรู้เรื่องกับการจัดการแข่งขันดังกล่าว และทางเทศบาลนครตรังไม่เคยรายงานอะไรมายังจังหวัดเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ มีเพียงกลุ่มนักแข่งที่ออกมาแสดงความเสียใจและเห็นใจ ด้วยการยกเงินรางวัลที่ได้รับทั้งหมดให้กับญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในโลกโซเชี่ยลมีเดีย ตั้งแต่ความเหมาะสมของสวนสาธาณะสระกะพังสุรินทร์ที่เอามาแข่งรถ เพราะภูมิสถาปัตย์ไม่สอดคล้อง ถนนภายในสวนมีความคับแคบและมีโค้งมาก มีต้นไม้ใหญ่ตลอดสองข้างทางเพราะเป็นพื้นที่เดินวิ่งออกกำลังกาย พื้นผิวถนนบางส่วนยังชำรุดจากรากของต้นไม้ใหญ่ที่ดันขึ้นจนแตก ขณะที่ถนนเวียนกะพังรอบนอกซึ่งเป็นทางตรง สภาพผิวการจราจรก็ไม่ได้เรียบสนิท มีการปะซ่อมเป็นลักษณะนูนหลายจุด และหลายจุดเกือบตลอดแนวยางของถนนเป็นฝาตะแกรงระบายน้ำที่ยุบตัวลวงไป ซึ่งสภาพโดยรวมแล้วไม่มีความปลอดภัยและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เครื่องป้องกันความปลอดภัยอาทิ ล้อยาง มีเพียงในส่วนของทางโค้งซึ่งเป็นการปกป้องความปลอดภัยของนักแข่งเท่านั้น แต่เครื่องกั้นและสิ่งกีดขวางระหว่างผู้ชมกับรถแข่งไม่มีเลย ผู้ชมหลายส่วนจึงลงไปเชียร์บนถนนและเดินข้ามไปข้ามมาระหว่างการแข่งขัน รวมทั้งมีรถประชาชนที่ไม่ได้แข่งขันวิ่งปะปนในสนามระหว่างการแข่งขัน
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากวันเกิดเหตุ 2 วัน โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่วัดควนสวรรค์ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพของนาย มณฑลหรือน้องลูกปลา นายถนอมพงษ์ หลีกภัย รองนายกเทศมนตรีนครตรัง ผู้อนุญาตให้มีการแข่งขัน ได้นำคณะจัดการแข่งขันกะพังโรดเรซซิ่ง ได้นำเงินเยียวยามามอบให้ใช้จ่ายในงานศพจำนวน 100,000 บาท พร้อมวางพวงหรีด ขณะที่นางลัดดาวัลย์ หีดเภา อายุ 46 ปี แม่ของน้องลูกปลาระบุ รู้สึกใจชื้นขึ้นมาเล็กน้อยที่ทางคณะผู้จัดงานได้แสดงความรับผิดชอบขึ้นมาบ้าง แต่ลึกๆก็รู้สึกกังวล ซึ่งตอนนี้ตนพูดอะไรไม่ออก ให้ทางลุงของน้องเป็นคนจัดการในการดำเนินการทั้งหมด ส่วนที่ทางคณะผู้จัดได้มอบเงินจำนวน 100,000 บาท ให้นั้นตัวเอง ต้องขอบอกเลยว่าการสูญเสียลูกในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเท่าไหร่มันก็ไม่พอ ความรู้สึกตอนนี้ทำอะไรไม่ถูก พูดไม่ออก จึงให้ทางญาติผู้ใหญ่ดำเนินการกันเองก่อน ส่วนทางผู้จัดเมื่อมามอบเงินเสร็จ ก็ไม่ได้พูดอะไรต่อว่าจะมีการเยียวยาอะไรอีกบ้าง
ขณะที่เมื่อวันที่ 5 ก.ค.เช่นเดียวกัน พล.ต.ต. กฤษดา แก้วจันดี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค9 พร้อมด้วย พล.ต.ต.สันทัด วินสน ผบก.ภจว.ตรัง พ.ต.อ.เชื้อชาติ เยาว์ดำ ผกก.สภ.เมืองตรัง พ.ต.ท.อนุชัย สวยงาม รองผกก.สอบสวน และพนักงานสอบสวนเจ้าของคนดี ได้เรียกประชุมด่วนคลี่คลายคดีโดยด่วน พร้อมสั่งกองพิสูจน์หลักฐานลงพื้นที่เกิดเหตุเก็บข้อมูลหลักฐานอย่างละเอียด เนื่องจากอยู่ในความสนใจของประชาชน และเป็นข่าวร้อนตามสื่อสารมวลชนทุกแขนง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่ายตำรวจขอรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดอาญาในเรื่องความประมาท และพ.ร.บ.จราจร
ล่าสุดวันนี้(8 ก.ค.) นายกัมปนาท อินทองมาก ทนายความ อดีตสมาชิกสภาเทศบาลนครตรัง ผู้เคยออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบโดยใช้สวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์เป็นสนามแข่งขัน กล่าวว่า คดีนี้เป็นอุบัติเหตุที่มีทั้งคนตายและมีคนเจ็บ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ข้อกฎหมายที่น่าจะเกี่ยวข้องคืออาญา ได้แก่ 1.ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย บาดเจ็บสาหัส และ 3.ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย อนามัย รวมทั้งหมด 3 มาตราที่เกี่ยวข้องกัน ล้วนแต่เป็นเรื่องประมาท โดยเด็กที่ตายอายุ 16 ปี ทราบเบื้องต้นว่าแม่ของผู้ตายได้ไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สภ.เมืองตรังแล้ว ตำรวจก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน สิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งฐานความผิดนอกจากเป็นคดีอาญาแล้ว ยังมีฐานความผิดเป็นคดีละเมิดทางแพ่งด้วย ประเด็นก็คือใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
“ในมุมมองของกฎหมายประมาท คนแรกที่ชัดเจน คือ คนขับรถแข่ง ซึ่งตอนนี้ได้รับบาดเจ็บสาหัส นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ยังมีตัวการร่วมทั้งหมด คือ ผู้จัดการแข่งขัน , คณะกรรมการผู้จัดการแข่งขันทั้งหมด ผู้จัดการแข่งขันถือว่าเป็นตัวการร่วม เพราะถือว่าเป็นการแข่งขัน ผู้บาดเจ็บจากการแข่งเกิดจากความประมาทของผู้จัด ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลจัดการแข่งขัน อีกทั้งหลักการการแข่งรถบนถนนต้องขออนุญาตตามพ.ร.บ.จราจรโดยเจ้าพนักงานจราจร ถ้ามีการขออนุญาตอย่างไรเสีย ผู้จัดก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องของการควบคุมความปลอดภัย เพราะการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบมีการใช้ความเร็ว ผู้จัดต้องดูแลความปลอดภัย เพราะเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าสามารถเกิดภัยหรือเกิดเหตุได้ ไม่ใช่ถือว่าการเกิดอุบัติเหตุเป็นเรื่องของความโชคร้าย ผู้มาชมไม่ใช่ผู้โชคร้าย แต่ผู้ชมต้องอยู่ภายใต้การควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของผู้จัด การแข่งขันทุกงานต้องมีมาตรฐานป้องกันความปลอดภัยให้กับนักแข่งและผู้ชม นักแข่งอาจเป็นเพราะความสมัครใจที่จะมาแข่ง แต่ผู้ชมต้องได้รับความปลอดภัยในการเข้ามาชมเพราะจ่ายค่าบัตรผ่านประตูเข้ามา”นายกัมปนาทกล่าว
.
นายกัมปนาทกล่าวอีกว่า ผู้จัดต้องร่วมรับผิดในฐานะตัวการร่วม และผู้ที่จะรับผิดชอบร่วมกับผู้จัดด้วย คือ เทศบาลนครตรัง และ ผู้บริหารเทศบาลนครตรัง ผู้เซ็นอนุญาต คือ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง โดยรองนายกปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งของนายกเทศมนตรีฯ ฉะนั้นนายกเทศมนตรีนครตรังก็ต้องรับผิดชอบ เพราะนายกเทศมนตรีฯจะต้องมีมาตรการในการควบคุมการจัดงาน และผู้จัดงานมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่าสวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์ มีพื้นผิวจราจรที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อการแข่งรถ แต่เป็นสวนสาธารณะที่ใช้ในการขี่รถ ปั่นจักรยาน วิ่ง ออกกำลังกาย ซึ่งเทศบาลมีหน้าที่จนไปถึงการดูแลผิวถนนในสวนสาธารณะ เท่ากับเทศบาลนครตรังประมาทหรือร่วมประมาทในการนี้ด้วยตั้งแต่แรก
.
“ดังนั้นเมื่อตำรวจทำการสอบสวนแล้วก็ต้องมาไล่ดูว่า ได้มีการขอขออนุญาตใช้ถนนตามพ.ร.บ.จราจรหรือไม่ เพราะการขออนุญาตแข่งรถจักรยานยนต์ ต้องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานจราจรตามที่กล่าวไว้ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนต้องสอบสวนในกรณีนี้ด้วย ถ้าไม่มีก็ถือว่าผิดพ.ร.บ.จราจร การแข่งขันในครั้งนี้จัดโดยผู้จัดที่เป็นประธานชุมชนกะพังสุรินทร์ ก่อนหน้านี้มีการยื่นขออนุญาตโดยใครบางคนมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศบาลนครตรังจึงไม่ได้รับอนุญาต หลังจากนั้นมีการยื่นขออนุญาตอีกครั้งโดยมีประธานชุมชนคนดังกล่าวเป็นผู้ยื่น ดังนั้นต้องดูว่าการยื่นครั้งนี้ถูกต้องหรือไม่ ก่อนอนุญาตต้องพิจารณาว่ามีรูปแบบการจัดวางอุปกรณ์ป้องกัน เรื่องของความปลอดภัย ว่าได้ยื่นแบบผังหรือแบบแปลน ในการยื่นขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ และเทศบาลนครตรังควรมีแบบแปลนที่ผู้ขออนุญาตยื่นขออนุญาต มิใช่รับเพียงหนังสือขออนุญาตแผ่นเดียว เพราะหากไม่มี ผมถือว่าการขออนุญาตครั้งนี้ไม่ถูกต้อง และหากมีเทศบาลฯต้องนำหลักฐานพวกนี้มาแสดงต่อสาธารณชน ให้เห็นว่าการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ในครั้งนี้ มีการขออนุญาตถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เพื่อใช้ป้องกันตัวเอง หากเทศบาลไม่นำมาแสดง ก็ชัดเจนว่าเทศบาลนครตรังเป็นตัวการร่วมตามที่ผมกล่าว”นายกัมปนาทระบุ
นายกัมปนาทกล่าวว่า นายถนอมพงศ์ หลีกภัย รองนายกเทศมนตรีนครตรัง ออกมายอมรับว่าเป็นเซ็นอนุญาตเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน แต่ในกรณีกลับกัน วันที่เปิดงาน มีผู้บริหารเทศบาลนครตรังมาเปิด โดยนายกเทศมนตรีนครตรัง บอกว่า ในการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานที่เปิดมิติใหม่ด้านการท่องเที่ยวซึ่งล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วในเรื่องการแข่งรถ ดังนั้นตนขอตั้งข้อสังเกตว่า ตกลงแล้วเทศบาลนครตรังจัดการแข่งขันเอง หรือผู้จัดเป็นคนจัดกันแน่ รองนายกฯบอกว่ามีการดูแลเรื่องความปลอดภัยแล้ว จริงๆ แล้วตนไม่แน่ใจว่ารองนายกฯได้ลงพื้นที่ไปดูหน้างานจริงๆหรือไม่
นายกัมปนาทกล่าวว่า ที่สำคัญคือ การจัดการแข่งขันครั้งนี้ตามรายละเอียดในป้ายประชาสัมพันธ์การแข่งขัน บอกว่าชิงเงินรางวัลมากถึง 4 แสนบาท แต่เมื่อดูเอกสารตามรายการการแข่งขันจำนวน 14 รุ่น ที่ 1 เงินรางวัล 6,000 – 15,000 บาท และรายการอื่นๆ บวกตัวเลขแล้วเป็นเงินรางวัลเพียง 2.9 แสนบาทเท่านั้น นอกจากนี้ ในป้ายประชาสัมพันธ์บอกว่า เมื่อจบการแข่งขันแล้ว จะมอบเงินรายได้ส่วนหนึ่งให้กับโรงเรียนเทศบาลทั้ง 8 โรง เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน ขอย้อนถามว่ารายได้ส่วนหนึ่งที่ว่านั้น เป็นจำนวนเท่าไหร่ หรือคิดคำนวณเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่ได้ มีผลกำไรจากจัดการจำนวนเท่าไหร่ จะให้เด็กเป็นจำนวนเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ผู้จัดมีรายได้จาการขายบัตรผ่านประตู 2 วัน คือวันเสาร์ที่ 2 ก.ค. ราคา 100 บาท วันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค.ราคา 120 บาท มีการเก็บค่าผ่านประตู ล้อมรั้วสวนสาธารณะ มีค่าสมัครจากผู้ที่เข้าร่วมแข่งขัน คันละ 700-1,600 บาท แต่ละรุ่นมีนักแข่งจำนวนกี่คัน มีการเปิดให้เช่าออกบูท ทั้งหมดเป็นรายได้ที่ได้จากการจัดการแข่งขัน แต่การสมอ้างว่ารายได้มอบการกุศล บอกได้หรือไม่ว่ามอบเท่าไหร่
.
นายกัมปนาทกล่าวว่า ตนตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดถึงมีความพยายามจะจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ในครั้งนี้ให้ได้ที่สวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์ ซึ่งเป็นของส่วนรวม วันนี้เทศบาลนครตรังต้องมาดูและรับผิดชอบ ทั้งต้นไม้ พนักงานที่ทำงานทำความสะอาดดูแลสวนในเวลาราชการ แต่ผู้จัดขอความอนุเคราะห์เทศบาลมากมาย เช่น เต็นท์ กรวยจราจร แผงเหล็กจราจร ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่นายกเทศมนตรีนครตรังอนุญาตโดยรองนายกเทศมนตรีอนุญาตให้ใช้ กรณีนี้ถือเป็นเรื่องครึกโครม ที่คนทั้งประเทศรู้จักจังหวัดตรัง จากการแข่งขันรถจักรยานยนต์กระพังโรดเรสซิ่ง เพราะมีอุบัติเหตุทำให้มีคนตาย มีคนบาดเจ็บ จำเป็นต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องแผ่ออกมา ตั้งแต่การขออนุญาต ใครเป็นคนขออนุญาต ขออนุญาตครั้งแรกเป็นอย่างไรทำไมถึงไม่ให้จัด ขออนุญาตครั้งที่ 2 มีคนจัดเป็นประธานชุมชน ขออนุญาตโดยเอกสารอะไร ใช้อะไรประกอบบ้าง เทศบาลฯต้องออกมาเปิดเผย ตำรวจต้องสอบบนพื้นฐานความเป็นธรรมให้เด็กอายุ 16 ปี ที่เสียชีวิต เพราะเด็กไม่ได้ตั้งใจไปตาย แต่ไม่ได้รับความดูแลตามมาตรฐานความปลอดภัยของผู้จัด จนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ทั้งๆ ที่สวนสาธารณะกะพังสุรินทร์ไม่เหมาะสมกับการแข่งรถอยู่แล้ว
“ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังก็ต้องมากำกับดูแลเทศบาลนครตรัง ท่านผู้ว่าฯบอกว่าไม่ทราบว่ามีการจัดการแข่งขัน แต่เห็นป้ายประชาสัมพันธ์ ระบุว่ามอบถ้วยรางวัลของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หากผู้ว่าบอกว่าไม่ทราบเรื่อง นั่นหมายความว่าผู้จัดโกหกหรือแอบอ้างใช้ชื่อผู้ว่าฯหรือไม่เปล่า นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ว่ามอบถ้วยรางวัลของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มอบถ้วยนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เรื่องนี้เกิดขึ้นต่อระดับผู้ใหญ่ในวงสังคมการเมือง เป็นการแอบอ้างชื่อของพวกท่านหรือไม่ อยากให้ท่านผู้ว่าฯช่วยกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงเสียงคลื่นกระทบฝั่ง”นายกัมปนาทกล่าว และว่า ในเรื่องของความรับผิดชอบ ทางผู้จัดต้องรับผิดชอบอยู่แล้วทั้งคดีความทางอาญาและคดีความทางแพ่ง และตัวการร่วมก็ต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในด้านของมนุษยธรรม การชดเชยการชดใช้ค่าเสียหาย เพราะผู้เสียชีวิตจ่ายค่าผ่านประตูเข้ามา ต้องเยียวยาเขาด้วยจำนวนเงินที่มากพอในการบรรเทาความรู้สึกของแม่และครอบครัวได้ แม้การใช้เงินมาเยียวยาไม่สามารถทำให้ความรู้สึกของครอบครัวดีขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องเยียวยา และบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บทุกคนก็ต้องได้รับการเยียวยา เช่นกัน
“ในขณะที่ความรับผิดชอบทางสังคม ก็จำเป็นต้องทบทวนกันใหม่ว่า เทศบาลนครตรังซึ่งมีสระกะพังเป็นสวนสาธารณะมีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำมาจัดแข่งขันรถแข่งที่ใช้ความเร็วสูง เพราะถนนไม่พร้อมสำหรับการแข่งขัน อีกมุมหนึ่งเทศบาลฯนำสวนสาธารณะที่เป็นส่วนรวมของคนตรังให้บุคคลเพียงกลุ่มหนึ่ง มาใช้หาผลประโยชน์ ในการจัดงานครั้งนี้โดยอ้างเรื่องทุนการศึกษาหรือการกุศล เทศบาลจึงต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเขตเทศบาลและคนตรังทั้งหมด ส่วนเรื่องความรับผิดในหน้าที่ ศีลธรรมประจำใจ ความละอายต่อบาป การรับผิดในตำแหน่งหน้าที่ ก็เป็นเรื่องที่ท่านต้องพิจารณา เพราะการเมืองระดับสูงต้องมีจิตจริยธรรมสูง และการรับผิดตามหน้าที่นั้นเป็นเรื่องจริยธรรมส่วนบุคคล ซึ่งผมไม่สามารถไปสอนท่านได้”ทนายหมีกล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถาม “ป็อกเคหะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ควบคุมการแข่งขัน โดยนายป็อกเคหะ ตอบกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า ตนไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ ซึ่งหากต้องการสัมภาษณ์ให้ติดต่อนายชนินท์วิทย์ สินไชย ประธานจัดการแข่งขันขัน และที่ผ่านมาทั้งตนและคณะกรรมจัดการแข่งขัน รวม 5 คน ได้ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนแล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: