ตรัง ชาวบ้านต.ลิพัง อ.ปะเหลียน ร้องคัดค้านสัมปทานโรงโม่หิน ระบุสภาพพื้นที่เป็นหุบเขา มีโรงเรียน ตชด.ตั้งอยู่ มีการขุดพบวัตถุโบราณบริเวณถ้ำหินจอก และใกล้ถ้ำเลสเตโกดอนแหล่งธรณีโลก จ.สตูล เป็นแหล่งต้นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตคนทั้งตำบล หวั่นทำลายทรัพยากรที่ชาวบ้านรักและหวงแหน และร่วมกันอนุรักษ์ โดยมีการขึ้นป้ายคัดค้านเต็มพื้นที่ พร้อมระบุนายทุนพยายามหว่านเงินสนับสนุนชุมชน คนละ 2,000 – 3,000 บาท เพื่อขอชาวบ้านสนับสนุน และในการเปิดรับฟังความคิดเห็นควรจะเปิดรับฟังชาวบ้านทั้งตำบลไม่ใช่เฉพาะในหมู่ที่ตั้ง
ที่สำนักสงฆ์ศิลาแก้ว บ้านหินจอก หมู่ 6 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ตัวแทนชาวบ้าน ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการขออนุญาตขอประทานบัตรเหมือนแร่ หรือคัดค้านการสัมปทานโรงโม่หินในพื้นที่ หมู่ 6 ต.ลิพัง เนื้อที่ประมาณ 173 ไร่ 1 งาน ที่มีนายทุนรายใหญ่ พยายามยื่นขอสัมปทานบัตรจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพราะมีการประกาศขึ้นบัญชีเป็นแหล่งแร่อุตสาหกรรม จ.ตรัง โดยที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้เคลื่อนไหวคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง และมีการขึ้นป้ายคัดค้านเต็มพื้นที่ ระบุเป็นพื้นที่ที่สถานที่ราชการสำคัญ คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตั้งอยู่ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมครูและนักเรียนเป็นประจำทุกปี เพราะทรงห่วงใยสภาพความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชน นอกจากนั้นยังได้รับพระราชทานธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต จากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกสร้างความรู้รัก สามัคคี ปรับเปลี่ยนจากอดีตเคยเป็นผู้บุกรุกเพื่อที่อยู่อาศัย แต่มาถึงรุ่นนี้ได้ร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าไม่ให้มีการถูกทำลาย เป็นแหล่งต้นน้ำจากภูเขาหลายสายหล่อเลี้ยงชาวบ้านในชุมชม และยังมีการขุดพบแหล่งวัตถุโบราณอีกมากมาย และอยู่ใกล้กับถ้ำเลสเตโกดอนแหล่งธรณีโลก จ.สตูล หวั่นหากมีการระเบิดหินจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งตำบล 7 หมู่บ้าน ไม่เฉพาะหมู่ 6 แหล่งที่ตั้งเท่านั้นที่เดือดร้อน โดยเฉพาะที่มากที่สุดคือ หมู่ 6 ทำลายสุขภาพ เกิดฝุ่นละออง เพราะสภาพพื้นที่เป็นหุบเขา ทำลายแหล่งน้ำ โดยครั้งนี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นาย สมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 4 และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมาธิการรับหนังสือ
ทางด้านนายอำนวย มากมูล ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า สภาพพื้นที่บนหินจอกเป็นหุบเขา ปัญหาการขอสัมปทานโรงโม่หินเกิดขึ้นมายาวนานแล้ว แต่ชาวบ้านก็คัดค้านมาโดยตลอดเป็นปัญหารื้อรังมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้รุนแรงมากกว่าเดิม เพราะมีนายทุนอย่างน้อย 4-5 บริษัท พยายามยื่นขอสัมปทาน แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมแน่นอน พวกตนซึ่งไม่ได้มีแกนนำ จะคัดค้านให้ถึงที่สุด เพื่อเก็บทรัพยากรเอาไว้ให้ลูกหลาน พื้นที่นี้มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่สมเด็จพระเทพฯพระองค์จะเสด็จมาเยี่ยมนักเรียนบ่อยครั้ง ทำให้สภาพพื้นที่มีความเจริญ ทำให้ชาวบ้านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่าพระองค์ทรงห่วงใยลูกหลานชาวหินจอก ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ทั้งนี้ ถ้าเกิดการระเบิดหินจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นน้ำของชาวบ้าน เพราะภูเขาหินจอกเป็นต้นกำเนิดน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน มีน้ำหลายๆ สายไหลทั้งจากทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ออกมาจากใต้ภูเขา และไหลไปบรรจบกันบริเวณที่จะมีการขอสัมปทาน ขณะเดียวกันสภาพพื้นที่ป่าก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ที่ผ่านมาบรรพบุรุษได้ทำลาย เพราะต้องการสร้างที่อยู่อาศัย แต่มารุ่นนี้ทุกคนรักและหวงแหนเพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกหลานต่อไป มีการค้นพบแหล่งโบราณวัตถุ และใกล้ถ้ำเลสเตโกดอนแหล่งธรณีโลก จ.สตูล ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 การสอบถามความคิดเห็นของประชาชน มีที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมตัวกันและยื่นหนังสือหลายหน่วยงาน เช่น สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง , อบต.ลิพัง , ศูนย์ดำรงธรรม , กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
- "ตรังโมเดล" โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
เช่นเดียวกับนายสมสุข สุขลิ้ม ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ความไม่ชอบมาพากลในครั้งนี้ พบว่าผู้ต้องการสัมปทาน มีการแจกเงินให้ชาวบ้าน จำนวน 2,000-3,000 บาทต่อคน มีการแจกของ โดยให้เหตุผลต่างๆนานา ตนยืนยันหวงแหนหุบเขานี้ หากสร้างโรงโม่หิน หรือ ระเบิดหิน ชาวบ้านทั้งตำบล หรือ อย่างน้อย 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2 , 6 ,7 จะได้รับผลกระทบแน่นอน และก่อนหน้านี้มีการส่งหนังสือเชิญร่วมแสดงความคิดเห็น ระบุเชิญเฉพาะชาวบ้านหมู่ที่ 6 แล้วทำไมไม่เชิญหมู่บ้านข้างเคียงที่ผลกระทบไปถึงเช่นกันมาร่วมเวทีรับฟังความเห็น ความจริงแล้วควรเชิญมาทั้งตำบล เพราะ ต.ลิพัง เป็นตำบลขนาด เล็ก มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน และอยู่ติดแนวภูเขาทั้งหมด ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับการสัมปทานของรัฐแน่นอน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: