ตรัง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ยืนยันพบผู้ป่วยโควิด สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน BA.2.75” 1 รายเป็นนักธุรกิจชาวตรัง เพิ่งเดินทางกลับจากการประชุมที่มีไทยและชาวต่างชาติ ที่จ.ภูเก็ต
วันที่ 20 กรกฎาคม 65 นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าขณะจังหวัดตรัง พบผู้ป่วยโควิด19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน BA.2.75” จำนวน 1 ราย เป็นเพศชาย อาชีพนักธุรกิจ และเพิ่งเดินทางกลับจากการประชุมที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมงาน รวม 1,000 คน
นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า BA.2.75 เป็นสายพันธุ์สายพันธุ์หนึ่งของโควิด19 สายพันธุ์โอไมครอน คือ ยังเป็นโอไมครอน โดยผู้ป่วยที่เจอเป็นนักธุรกิจ ซึ่งเป็นคนตรัง เพศชาย อายุ 53 ปี จากการสอบสวนโรคน่าจะรับเชื้อช่วงวันที่ 23-25 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยเดินทางไปประชุมที่ จ.ภูเก็ต ในงานประชุมมีผู้ป่วยประชุมทั้งไทยและต่างชาติ รวม 1,000 คน และมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ตรวจATKเป็นผลบวก และเข้ารักษาตัวที่ รพ.เอกชนในจังหวัดตรัง และได้ตรวจ RT-PCR ยืนยัน เพราะต้องส่งไปเครมประกันสุขภาพ ในขณะที่ระบบการเฝ้าระวังโควิด19 กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ ของผู้ป่วยที่นอน รพ. และผู้ป่วยรายนี้โดนสุ่มตรวจหาสายพันธุ์ด้วย จนพบว่าติดเชื้อโอไมครอน สายพันธุ์ BA.2.75 ซี่งความรุนแรงของเชื้อกลายพันธุ์ หากมีการกลายพันธุ์ที่รุนแรง จะมีความแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมชัดเจน สาธารณสุขจะระบุให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่ตอนนี้มี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลต้า เบต้า แกรมม่า เดลต้า และโอไมครอน สวน BA.2.75 มันเป็นการกลายพันธุ์แค่เล็กน้อย หากเทียบกับเงี่ยงรอบตัวเชื้อโควิด19 ที่มีมากถึง 30,000 เงี่ยง ถือเป็นการกลายพันธุ์ที่น้อยมาก และเป็นการกลายพันธุ์จากโอไมครอนเท่านั้น ความรุนแรงจึงไม่รุนแรงกว่าโอไมครอน หากดูในภาพรวมถือว่าไม่รุนแรง โดยหน้านี้มีสายพันธุ์นี้ระบาดในอินเดียและยุโรป รวม 20 ประเทศ โดยติดต่อกันง่าย ส่วนอาการไม่รุนแรง
การเฝ้าระวัง จะมีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์สุ่มในกลุ่มผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ และกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง และกลุ่มการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เช่น ในโรงงาน ในเรือนจำ หรือกลุ่มที่มีการรวมตัวในเวลาเดียวกัน และ สุ่มจากคนไข้ในโรงพยาบาล
รวมทั้งการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม608 ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะในทางวิชาการได้ยืนยันชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ การมีภูมิต้านทานที่ดี สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่หากไม่ได้ฉีดวัคซีนโอกาสติดเชื้อรุนแรง จนถึงการเสียชีวิตยังมีโอกาสสูงอยู่
จ.ตรัง ขณะนี้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เฉพาะกลุ่ม608 แค่ 16% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 50% ตอนนี้ทางจังหวัดตรังได้รณรงค์และทำความเข้าใจให้กับประชาชน ให้เข้าวัคซีนเข็มกระตุ้นกันมากขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: