ตรัง -ชาวบ้านกว่า 15 ครัวเรือน และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) ร้องกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทบทวนการดำเนินคดี และยุติการรื้อถอนที่อยู่อาศัย และผลอาสิน และให้ดำเนินการตามโครงการคทช.เร่งรับรองสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับกรมป่าไม้ ยึดหลักการมีส่วนร่วมกับกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สนับสนุนการจัดทำป่าชายเลนชุมชนให้เป็นไปตามกฎหมายป่าชุมชน ให้เวลาภายใน 30 วัน หากไม่มีความคืบหน้า เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และชุมชนชายฝั่ง จะยุติบทบาทและคืนบัตรสมาชิกอสทล. ถอนการจดแจ้งกลุ่มองค์กรชุมชนชายฝั่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จากผู้แทนชุมชนชายฝั่ง จะลาออกจากคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง
ที่จ.ตรัง ชาวบ้านที่อาศัยและมีที่ดินทำกินในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.ตรัง ประมาณ 15 ครัวเรือน ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากสื่อมวลชนผ่านไปถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรณีถูกยึดคืนที่อยู่อาศัย รวมทั้งที่ดินทำกินและทำลายผลอาสินของชาวบ้าน ตามคำสั่ง คสช.ในช่วงปี 2560 -2562 ทำให้ได้รับความเดือดร้อน หลายคนไร้ที่ดินทำกิน หลายคนไร้บ้าน บางรายถูกศาลตัดสินจำคุก และชดใช้เงินค่าเสียหายหลายหมื่นบาท
โดยที่ ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา นายวิชัย หยีสัน อายุ 72 ปี พร้อมด้วยนายสมหมาย หมาดทิ้ง อดีตกำนัน ต.เขาไม้แก้ว นำผู้สื่อข่าวดูสภาพที่ดิน ที่ถือครองตามหลักฐาน ส.ค.1 เนื้อที่รวมทั้งหมด 9 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 5 ต.เขาไม้แก้ว ที่ขณะนี้ถูกศาลสั่งยึดคืน และดำเนินคดีกับคนในครอบครัวเป็นเวลา 2 ปี พร้อมสั่งห้ามเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งการเลี้ยงปลาในกระชัง การเก็บรังนกอีแอ่น และเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันอายุประมาณ 25-26 ปี ซึ่งถือว่าปลูกตั้งแต่คนในจ.ตรังแทบจะยังไม่รู้จักปาล์มน้ำมัน โดยพบว่ามีการนำป้ายของป่าชายเลนเข้าไปปักยึดคืนไว้
ข่าวน่าสนใจ:
- คึกคัก นาย"บุ่นเล้ง" อดีตนายกอบจ.ตรัง นำทีมนายกบุ่นเล้ง สมัครครบ 30 เขต ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่ง
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
โดยนายวิชัย หยีสัน อายุ 72 ปี กล่าวว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นปู่ย่าของตน ที่ถือครองทำกินมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประมาณปี พ.ศ. 2482 แรกใช้เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าวไว้กินในครอบครัว โดยใช้ควายฝูงที่เลี้ยงไว้เหยียบนาปลูกข้าว จนต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ทางกรมที่ดินออก ส.ค.1 ให้ จากนั้นเมื่อยางพาราราคาจากกก.ละ 4 บาท ขึ้นเป็นกก.ละ 7 บาท จึงเลิกทำนาหันมาปลูกยางพารา แต่พอปลูกไปได้สักระยะปรากฎว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเกินไป ทำให้ยางพาราไม่เติบโต และเห็นว่าปาล์มน้ำมันเริ่มเข้ามา จึงโค่นยางปลูกปาล์มน้ำมันอายุปาล์มน้ำมันขณะนี้ประมาณ 25-26 ปี ซึ่งถือว่าปลูกในยุคแรกๆ โดยที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักปาล์มน้ำมัน และเก็บเกี่ยวผลผลิตเรื่อยมา จนกระทั่งยุค คสช.มีการทวงคืนผืนป่า มีคนร้องเรียนว่าที่ดินของตนอยู่ในเขตป่าชายเลน ทำให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจยึด และจับกุมลูกชาย ซึ่งถือครองที่ดินทำกินมาเป็นรุ่นที่ 4 ดำเนินคดีติดคุก 2 ปี โดยขณะนี้ติดคุกไปแล้วประมาณ 2 เดือน โดยระบุว่า ส.ค.1 บินมาจากที่อื่น ไม่ตรงกับแปลงที่ถือครองทำกิน โดยแปลงที่ถือครองทำกินอยู่ในเขตป่าชายเลน ตนเองจึงจ้างเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้ามารังวัดแนวเขต และเชิญเจ้าหน้าที่ป่าชายเลนเข้ามาร่วมพิสูจน์ด้วย ซึ่งที่ดินก็ระบุ ส.ค.1 ตรงกัน สภาพไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่การต่อสู้ก็พ่ายแพ้ จนลูกชายติดคุก ทั้งนี้ ทางครอบครัวอยากร้องขอให้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยุติการทำลายผลอาสินและทบทวนการยึดคืนที่ดินอีกครั้ง ยืนยันเป็นที่ดินมรดกตกทอดดั้งเดิม หากไม่ทบทวนลูกและหลานของตนก็จะไม่มีที่ดินทำกิน
ทางด้านนายสมหมาย หมาดทิ้ง กล่าวว่า อยากให้ทางกรม ทช.ทบทวนการดำเนินคดี และยกเลิกการทำลายผลอาสิน ที่ดินตรงนี้อยู่มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีส.ค.1 บรรพบุรุษใช้ทำนาปลูกข้าวด้วยควาย แล้วมาปลูกยาง และปลูกปาล์มน้ำมัน อายุประมาณ 26 ปีแล้ว ทั้งนี้ ในการทวงคืนผืนป่า ถ้าเป็นของนายทุน 100 ไร่ 1,000 ไร่ หรือของชาวบ้านแต่บุกรุกจริง ก็ควรจะยึดคืน แต่ต้องให้ที่ดินตรวจสอบก่อน และรับฟังหลักฐาน ถ้าอยู่ทำกินมาก่อนเป็นมรดกตกทอดก็ไม่ควรจะยึดคืน
เช่นเดียวกับนายก่อเส็น คงสมุทร อายุ 63 ปี ชาวบ้านหมู่ 7 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา บอกว่า ที่ดินของตนเองเป็น ส.ค.1 เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ กรมที่ดินออกให้เมื่อปี 2498 โดยเป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นมาถึงลูกชายตนเอง รุ่นที่ 4 แต่เมื่อปี 2544 มีการตัดถนนเข้าหมู่บ้าน ตนเองจึงยกที่ดินให้ตัดผ่าน ทำให้ที่ดินของตนเองถูกผ่าออกเป็น 2 ฝั่ง ส่วนที่เป็นปัญหาคือ เนื้อที่ไม่ถึงไร่ ที่ยกให้ลูกชายสร้างบ้าน แต่ปรากฎว่าถูกเจ้าหน้าที่ยึดคืนเมื่อปี 2561 และสั่งห้ามเข้าไปดำเนินการใดๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้ ที่และบ้านต้องรกร้าง โดยมีป้ายยึดคืนผืนป่าไปปักไว้หน้าบ้าน ลูกชายต้องกู้หนี้ยืมสินไปสร้างบ้านหลังเล็กๆ คับแคบอาศัยอยู่ชั่วคราวฝั่งตรงข้าม ตนเองต้องการที่ดินคืน ขอร้องไม่ให้รื้อถอนบ้าน ห่วงลูกชายและหลานเล็กๆ จำนวน 4 คน จะไม่มีที่อยู่อาศัย
ส่วนที่หมู่ 2 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ชาวบ้านร้องเรียนว่า ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันมายาวนานประมาณ 80 ปี ทั้งการทำนาปลูกข้าว เลี้ยงปู เลี้ยงปลา แต่ต่อมาเมื่อมีการขุดลอกร่องน้ำคลองปะเหลียน ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางเข้าสู่ที่นา จึงทำนาไม่ได้เมื่อประมาณ 10 ปี ก็ปลูกจากทดแทน ปลูกปาล์มน้ำมันบนคันนา อายุประมาณ 30 ปี ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยึดคืน และทำลายผลอาสินทั้งหมด วอนขอที่ดินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันแทน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ที่มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง นำโดยนายอิสมาแอน เบ็นสะอาด ,นายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ได้มีมติร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งรัด แก้ไขปัญหา ทั้งหมด 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ทบทวนการดำเนินคดีและยุติการรื้อถอนที่อยู่อาศัย พืชผลอาสินของชาวบ้านในพื้นที่ชายฝั่ง และเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและถูกทำลายพืชผลอาสิน 2.ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการในโครงการคทช.เร่งรับรองสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับกรมป่าไม้ 3.ให้ยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4. สนับสนุนการจัดทำป่าชายเลนชุมชนให้เป็นไปตามกฎหมายป่าชุมชน และ 5.ให้สอบสวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐและปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกปฏิบัติ ละเว้น ปล่อยปละละเลย ให้มีการทำลายป่าชายเลนและป่าชายหาดที่มีสภาพสมบูรณ์ โดยขอดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ภายใน 30 วัน กรณีที่ไม่มีความคืบหน้า เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และชุมชนชายฝั่ง จะยุติบทบาทและคืนบัตรสมาชิกอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล). ถอนการจดแจ้งกลุ่มองค์กรชุมชนชายฝั่งที่มีมากกว่า 50 แห่ง และลาออกจากการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จากผู้แทนชุมชนชายฝั่ง ในคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรังต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: