ตรัง วัดต่างๆ ในจ.ตรัง และ ชาวบ้านระดมช่างฝีมือในท้องถิ่น ร่วมกันทำและตกแต่งประดับประดาเรือพระ เพื่อเตรียมใช้ในงานประเพณีลากพระจ.ตรัง ที่จะมีขึ้นหลังวันออกพรรษา โดยในปีนี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-19 ตุลาคม 2565 เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
ที่วัดหัวถนน ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง พบว่าประชาชนหลายฝ่าย นำโดยกำนัน ต.นาพละคนปัจจุบัน อดีตกำนัน ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลนาพละ พร้อมด้วยพระสงฆ์ และชาวบ้านซึ่งมีฝีมือในงานช่างประเภทต่างๆ ทั้งหญิงและชายกว่า 10 คน ได้ร่วมกันทำและประดับประดาตกแต่งเรือพระของวัด เพื่อเตรียมใช้ในงานประเพณีลากพระ จ.ตรัง ที่กำลังจะมีขึ้นหลังวันออกพรรษาของทุกปี แต่ในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องงดการจัดงานรวมกลุ่มชาวบ้าน โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -19 ตุลาคม 2565 (รวม 9 วัน 10 คืน ) โดยมีเรือพระจากหลายอำเภอไม่ต่ำกว่า 60 ลำเข้าร่วมกิจกรรม ณ ลานวัฒนธรรม จ.ตรัง สนามกีฬาทุ่งแจ้ง จึงทำให้ขณะนี้ทุกวันไปจนกระทั่งดึกดื่น วัดที่จะจัดส่งเรือพระเข้าร่วมกิจกรรม ต่างเร่งมือในการทำเรือพระ เช่น ที่วัดหัวถนน พบว่าทั้งพระ และชาวบ้านต่างเร่งมือกันอย่างเต็มที่ในการจัดทำเรือพระ ทั้งการจัดทำองค์ประกอบใหม่แทนของเก่า หรือต้องการจะเปลี่ยนใหม่ให้สวยงามมากกว่าเดิม รวมทั้งนำองค์ประกอบเก่าที่ยังใช้ได้ มาทำการประดับประดาตกแต่งใหม่ หรือทาสีใหม่ และประกอบใหม่ โดยพบว่าในการจัดทำเรือพระนั้น ทางวัดได้มีการระดมช่างฝีมือในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความรู้ ความสามารถในด้านช่างต่างๆมาช่วยกัน ทั้งช่างไม้ ช่างแกะสลักตกแต่ง ช่างกลึง หรือคนไม่ได้มีฝีมือทางช่างแต่สามารถช่วยงานได้ ต่างก็มาช่วยกันอย่างเต็มที่ หรือนำข้าวปลาอาหารมาช่วยสนับสนุนให้คนที่ทำ ถือเป็นความสามัคคีของคนในท้องถิ่นที่ยังคงผูกพันอยู่กับวัดใกล้บ้าน จึงพร้อมสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ องค์ประกอบของเรือพระซึ่งเกือบทั้งหมดชาวบ้านแกะสลักจากไม้ที่หาได้พื้นที่
ทั้งพระพุทธรูป บุษบก ธรรมจักร พญานาคทั้งตัว หรือเฉพาะส่วนหัว และส่วนหาง ทั้งนี้ เฉพาะหัวพญานาค จำนวน 3 หัว หากสั่งซื้อจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท แต่ชาวบ้านใช้วิธีแกะสลักเอง วิมานเมฆเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าเสด็จจากชั้นดาวดึงส์ รวมทั้งฉัตรแก้ว ซึ่งที่วัดอื่นอาจจะใช้ไม้หรือผ้ามัดเป็นฉัตร แต่ของวัดหัวถนน ชาวบ้านจะทำจากรวงข้าวนำมามัดรวมกันเป็นฉัตร 5 ชั้น จำนวน 4 ฉัตร เนื่องจากตำบลนาพละ ชาวบ้านนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันยังคงมีการทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง ชาวบ้านจึงทำรวงข้าวมาทำเป็นฉัตรแก้ว ส่วนเรือพระจะใช้โครงสร้างเหล็กร่วมด้วย และใช้ไม่ประกอบทับทั้งลำ ซึ่งเมื่อตกแต่งออกมาแล้วก็จะสวยงามมาก ขณะเดียวกัน คณะนางรำขบวนหน้าเรือพระ ถ้ามาพร้อมกันมีทั้งหมดประมาณ 100 คน ได้นัดแนะกันมาซักซ้อมการรำ เพื่อต้องการรักษาแชมป์ที่เคยชนะเลิศ เมื่อ 2ปีที่ผ่านมาด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- WDC เสริมกำลังตลาดภาคใต้ ทุ่มงบ 20 ล้านบาท ขยายโชว์รูมแห่งที่ 9 จ.สุราษฎร์ธานี ลุยสินค้ารักษ์โลก พร้อมเปิดตัว Friends of Brand ปี 2568
- กอ.รมน. จ. ขอนแก่น กวดขัน แรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย
- ครัวคุณต๋อยยกทัพ บุกขอนแก่น จับมือศูนย์การค้าเซ็นทรัล ขอนแก่น ขนร้านอาหารชื่อดังนับร้อย มาเสิร์ฟสายกิน 11 วันเต็ม 14 - 24 พ.ย.นี้
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
นายปรีชา เดชเหมือน อดีตกำนัน และปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลนาพละ และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองตรัง กล่าวว่า ที่วัดหัวถนน จะไม่จ้างช่างฝีมือมาทำ หรือไม่ซื้อส่วนประกอบต่างๆ เพราะเป็นวัดเล็กๆ ไม่มีเงิน แต่ชาวบ้านที่มีฝีมือ ซึ่งอาศัยประสบการณ์ที่ทำมานานร่วมกันทำเอง ใครมีความสามารถด้านไหน ก็ทำสิ่งนั้น แกะสลักเอง กลึงเอง ประกอบ ประกับตกแต่งเองทั้งหมด นำโดยนายวีระชัย รุ่งเรือง กำนันคนปัจจุบัน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล และชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่งช่วยกันทำทุกวันจนกระทั่งดึกดื่น เน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติ คือไม้ เป็นสำคัญ ไม่ใช้โฟม ส่วนฉัตรแก้วทำจากรวงข้าว เพราะชาวตำบลนาพละผูกพันกับการทำนามายาวนาน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีคนทำนา แม้จะเหลือน้อย ทั้งนี้ ในการทำและประดับประดาตกแต่งเรือพระต้องใช้เวลานานนับเดือนที่ชาวบ้านมาช่วยกัน
ทางด้านนายเชือน สงชู อดีตกำนันตำบลนาพละ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดงานประเพณีลากพระของจ.ตรัง กล่าวว่า การลากเรือพระของชาวตำบลนาพละ อ.เมือง เกิดขึ้นมายาวนานไม่ต่ำกว่า 80 ปีแล้ว โดยชาวบ้านร่วมกันทำเรือพระแล้วชักลากออกจากวัดไปตามชุมชนต่างๆ ไปถึงตำบลใกล้เคียง ก็ลากกลับในวันเดียวกัน แต่ต่อมาก็มีการลากเรือพระไปไกลยิ่งขึ้น ไปตามถนนใหญ่ ไปชุมชนใหญ่แล้วชักลากเข้าไปในตัวเมืองตรัง ผ่านชุมชนต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นงานใหญ่งานเดียวที่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้เฒ่า ผู้แก่ คนวัยทำงาน คนหนุ่มสาว และเด็กๆ พร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรม โดยไม่ต้องเกณฑ์คน เพราะคนนับถือศาสนาพุทธถือว่าการได้ลากเรือพระจะได้บุญมหาศาล ตลอด 2 ข้างทางจึงมีคนออกมาร่วมลากเรือพระ และร่วมกันทำบุญเข้าวัด ต่อมาประมาณปี 2546 หรือประมาณ 20 ปีแล้ว ตนเองไปติดต่อราชการที่อำเภอเมืองตรัง จึงพบกับนายอภินันท์ ซื่อทานุวงษ์ นายอำเภอขณะนั้น จึงนำภาพถ่ายที่มีการลากเรือพระให้นายอำเภอดู นายอำเภอจึงบอกว่า ถ้าตนเองจะจัดงานลากเรือพระ เพื่อร่วมสืบสานงานประเพณีและวัฒนธรรม นำมารวมกันที่อำเภอให้ทุกวัดในอ.เมืองตรัง มาร่วมด้วยจะได้หรือไม่ จึงมีความเห็นตรงกันให้ทางอำเภอทำหนังสือถึงทุกวัด ให้จัดทำเรือพระมาร่วมงานประเพณีหลังจากนั้นจึงจัดขึ้น แรกเริ่มมีประมาณ 18 วัด/ลำ จาก 14 ตำบลของอำเภอเมืองตรัง และวัดในเขตเทศบาลร่วมด้วยอีก 4 วัด โดยจัดขึ้นที่หน้าศาลากลางจ.ตรัง หลังเก่า จากนั้นทางอำเภอจึงเชิญ อบจ.ตรังมาร่วมสนับสนุนด้วย เพราะอบจ.ตรังมีงบประมาณสนับสนุนการจัดทำเรือพระของวัดทุกวัด จึงมีเรือพระเข้าร่วมมากขึ้น จนสุดท้ายต้องย้ายสถานที่จัดงานไปสนามกีฬาทุ่งแจ้ง เพราะงานยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี มีเรือพระจากทุกอำเภอเข้าร่วมประมาณ 60-80 ลำ และยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ และเว้นไปเฉพาะช่วงที่มีเชื้อโควิดระบาดเท่านั้น จึงนับเป็นความภาคภูมิใจของวัดหัวถนน และชาวตำบลนาพละ ที่เป็นผู้ริเริ่มในการจัดงานลากเรือพระขึ้น นอกจากนั้นสมัยก่อนยังมีการจัดงานแย่งเรือพระด้วย โดยพนันเอาเจ้าอาวาสวัดกัน วัดใดชนะแย่งเรือพระของอีกวัดไปได้ ก็จะนิมนต์เจ้าอาวาสวัดนั้นไป แต่เป็นการสมมุติ ไม่ได้เอาไปจริงๆ แต่เป็นงานที่สร้างความสามัคคีของคนในตำบล เช่นเดียวกับงานลากเรือพระ ตอนนี้งานใหญ่ของจ.ตรัง คืองานประเพณีลากพระ และส่งผลดีในทุกเรื่อง ทั้งทางพระพุทธศาสนา ทำให้คนได้เข้าวัดมากขึ้น ประชาชนก็ได้มีความรักสามัคคีในหมู่คณะ เพราะในการมาทำเรือพระต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย จึงจะสำเร็จได้ และเป็นการสืบสานงานประเพณีให้คงอยู่สืบไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: