ตรัง หนุ่มเกษตรกรสวนยางสวนปาล์มน้ำมัน เปิดโฮมสเตย์ในสวนปาล์มน้ำมัน ริมแม่น้ำตรัง บนพื้นที่ 7 ไร่ ดึงดูดนทท.สัมผัสวิถีชุมชนย่านซื่อ พร้อมชมป่าจาก ชิมกุ้งแม่น้ำจากแม่น้ำตรังเนื้อแน่น ๆ วัตถุดิบจากธรรมชาติ ดื่มด่ำกับเมนูพื้นบ้าน ประมงจังหวัดตรังโชว์ตกกุ้งแม่น้ำ กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่
วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่บ้านชายคลองโฮมสเตย์ by สายชล ตรัง ในพื้นที่ ม.1 ต.ย่านซื่อ อ.กันตัง จ.ตรัง นายสายชล เสาะซิ้ว อายุ 47 ปี เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพารา ใช้พื้นที่ในสวนปาล์มน้ำมัน จำนวน 7 ไร่ เปิดโฮมสเตย์ พร้อมนำนักท่องเที่ยวล่องเรือชมป่าจาก วัตถุดิบของดีของเด่นเมืองกันตัง และปล่อยลูกพันธุ์กุ้งแม่น้ำ ดื่มด่ำกับเมนูพื้นบ้าน โดยก่อนเดิน ทางไปล่องเรือได้ให้เด็กนำทางด้วยของเล่นโบราณรถไม้ ม้าก้านจาก ไปยังจุดลงเรือ ซึ่งนั่งเรือชมสองฝั่งแม่น้ำป่าจากและต้นลำพู ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำปลากด พันธุ์กุ้งแม่น้ำ จำนวน 5 แสนตัว ที่บริเวณน้ำกล่อย และล่องเรือไปชมวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน กำลังตกกุ้งแม่น้ำบริเวณริมแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยทางด้านนายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดตรัง ร่วมเย่อไอ้โต้ตกกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ ในแม่น้ำตรัง และร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้าน พร้อมเมนูเด็ดกุ้งก้ามกรามเสิร์ฟแบบไม่อั้น และยังมีกิจกรรมเสวนา “กุ้ง-แม่น้ำ-คน-นา-ป่าจาก” หากนักท่องเที่ยวสนใจติดต่อ 099-536-5654, 088-753-8790 หรือเพจเฟสบุ๊คชื่อ “บ้านชายคลองโฮมสเตย์ by สายชล”
นายสายชล เสาะซิ้ว บอกว่า ตนวางแผนทำโครงการนี้ มา 13 ปีเมื่อมีโอกาส ก็ทำโฮมสเตย์ในสวนปาล์มน้ำมัน มีลักษณะเป็น ๆ เต็นท์ 7 หลัง มีห้องพักบนบ้านไม้เก่า 2 ห้องนอน ซึ่งจุดเด่นของโฮมสเตย์ที่นี่คือได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและชุมชน วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำตรัง หรือที่คนตรังเรียกว่า “คลองย่านซื่อ” โดยชาวบ้านริมฝั่งคลองประกอบอาชีพ ทำใบจากและผลิตภัณฑ์จากก้านจาก ตกกุ้งแม่น้ำและทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งคนที่มาเที่ยวจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น ล่องเรือ ตกกุ้ง และปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชุมชน จะให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วม เช่นตกกุ้งแม่น้ำมาขายให้กับรีสอร์ทหรือเป็นเรือนำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว โดยการมาพักที่นี่จะมีค่าใช้จ่าย คนละ 1,500 บาทต่อคืน ซึ่งราคานี้ จะรวมอาหาร 2 มื้อ โดยอาหารจะเน้นอาหารวัตถุดิบจากชุมชนเช่น ต้มกะทิยอดปิไห แกงส้มปลากด แกงส้มปลากระพง น้ำพริก เคยฉลู ผักพื้นบ้าน และยังเสิร์ฟกุ้งแม่น้ำให้ทุกคนได้กินกัน รวมทั้งทำกิจกรรมปล่อยกุ้งแม่น้ำพันธุ์กุ้งแม่น้ำ ส่งคืนแม่น้ำตรัง
ข่าวน่าสนใจ:
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- สุด! ใช้เกาะพิพาทไทย เมียนมาขนยาบ้าหวิดแสน และไอซ์ ไม่รอดมือทหารราชมนู
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
ทั้งนี้ตนได้นำความรู้การเพาะกุ้งมาใช้ เนื่องจากตนจบคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เริ่มจากการรับซื้อกุ้งไข่จากชาวบ้าน มาเพาะเลี้ยงจนเป็นพันธุ์กุ้ง อนุบาลให้แข็งแรง และนำๆปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เสมือนเป็นธนาคารกุ้งแม่น้ำของชาวชุมชนย่านซื่อ และกิจกรรมนี้เป็นโครงการฟื้นฟูกุ้งก้ามกรามในแม่น้ำตรัง เป็นการเพิ่มจำนวนประชากร เพราะบางครั้งที่ชาวบ้านตกกุ้งแม่น้ำขึ้นมาก็จะมีตัวที่มีไข่ขึ้นมาด้วยเป็นการตัดทอนประชากรกุ้ง กุ้งแม่น้ำเป็นกุ้งธรรมชาติที่โตในน้ำจืด แต่วางไข่,ฟักตัวจะต้องไปน้ำเค็ม ก็ต้องเดินทางจากน้ำจืดไปน้ำเค็ม แต่ระหว่างทางอาจโดนจับ ก็ทำให้ประชากรกุ้งหมดลงได้ จึงคิดโครงการนี้ขึ้นมา โดยการรับซื้อกุ้งไข่จากชาวบ้านมาฟักให้เป็นตัวก่อนแล้วนำไปปล่อยคืนธรรมชาติ
นายเอกสิทธิ์ วงศ์เทพวาณิชย์ ลูกค้าที่มาเที่ยว บอกว่า จากที่ได้มาเยี่ยมชมก็นับว่าเป็นความแปลกอย่างนึง ที่ตรังยังไม่เคยมีโฮมสเตย์ที่อยู่ท่ามกลางสวนปาล์มน้ำมันและป่าจาก และยังมีกิจกรรมที่ปล่อยพันธุ์กุ้ง เนื่องจากเจ้าของโฮมสเตย์เห็นความสำคัญของกุ้งแม่น้ำตรัง เป็นพันธุ์ที่ดีมีรสชาติอร่อย แต่ว่าปัญหาก็คือมีการจับอย่างเดียวแต่ไม่ได้มีการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ดังนั้นทางเจ้าของโฮมสเตย์ก็เลยคิดว่า น่าจะมีการเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง เมื่อเรามาเที่ยวมากิน มานอน ได้มีกิจกรรมล่องเรือปล่อยกุ้งด้วย ซึ่งตนเองก็เพิ่งมาครั้งนี้เป็นครั้งแรก สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ไม่ไกลเมืองมากนัก ระยะทางจากตัวเมืองมาถึงที่นี่ประมาณ 20 กิโลเมตรได้ บรรยากาศโดยรวมดีและรู้สึกมีความสุขที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตกับชาวบ้าน ซึ่งวันนี้ทุกคนก็ให้ความสนใจเยอะ อาจจะถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ละแวกนี้ด้วย ซึ่งยังนำวัสดุจากต้นจากที่เป็นของดีจากเมืองกันตัง มาให้ได้ชิมน้ำตาลจากด้วย และจะได้ต่อยอดเพิ่มเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ในชุมชนด้วย นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยในเรื่องการบริหารจัดการขยะในละแวกนี้ด้วย ซึ่งเท่าที่ฟังก็น่าจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและคนในสังคม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: