ตรัง ศาสตร์แห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โนราแทงเข้ พิธีโรงครูผูกผ้าใหญ่ โนราเหยียบเสน สืบศรัทธาโนรา สานประเพณีวัฒนธรรมภาคใต้ ต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีชาวบ้านกว่า 300 คน ร่วมพิธีรำกลองยาว แห่จระเข้เข้าโรงมโนราห์ ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นสนุกสนาน
มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนรา ศาสตร์แห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โนราแทงเข้ พิธีโรงครู ผูกผ้าใหญ่ เป็นการสืบศรัทธามโนราห์ สานประเพณีวัฒนธรรมภาคใต้ ต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่บ้านเลขที่ 135/1 ม.5 ต.นาบินหลา อ.เมืองตรัง นายสำเริง กาญจนพรหม หรือ มโนราสำเริง นายโรงมโนราสำเริง บันเทิงศิลป์ ได้พิธีครอบเทริดมโนราห์หรือผูกผ้าใหญ่ให้ลูกชาย คือ นายระพีพัฒน์ กาญจนพรหม หรือ โนราบูม เพื่อเป็นมโนราใหญ่ หรือนายโรงโนรา สามารถประกอบพิธีกรรมในโนราโรงครู และยังเป็นการสืบสานเชื้อสายมโนราสืบต่อไปอีกด้วย โดยมีนายกิตติพงศ์ ขาวปาน หรือมโนราห์กุ๊ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นมโนราห์ใหญ่ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ในครั้งนี้ โดยมีชาวบ้านกว่า 300 คน ร่วมพิธีรำกลองยาว แห่จระเข้เข้าโรงมโนราห์ ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นสนุกสนาน หลังจากแห่เสร็จนำจระเข้ มาวางไว้หน้าโรงมโนราห์แล้ว ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญนำเงิน ข้าวของ มาใส่ไว้ในปากจระเข้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เพราะเมื่อจระเข้ถูกแทงตายจะนำไปลอยน้ำ ทุกข์ โศก โชคร้าย ก็จะให้ลอยไปพร้อม ๆ กับจระเข้
ซึ่งพิธีมโนราห์โรงครู เป็นพิธีการไหว้ครู ที่สมบูรณ์แบบตามขนบธรรมเนียมของโนรา โดยมีความเชื่อว่าหากครอบครัวใดสามารถปฏิบัติตามจะพบแต่ความสุขความเจริญ ปลอดภัยจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยมีลูกหลานมโนราห์มาร่วมแสดงประมาณ 15-20 คน และคนทรง มีการทำพิธีต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ร่ายบทตั้งบ้านตั้งเมื่อ พิธีกรรมต่าง และการร่ายรำ 12 ท่า แสดง 12 บท จนถึงพิธีแทงจระเข้ อันเป็นเสร็จพิธี โดยจะมีการแสดงมโนราห์ 3 วัน 2 คืน เริ่มตั้งแต่วันพุธ ไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และต้องทำกันเป็นประจำ ทุกปี ทุกสามปี หรือ ทุกห้าปี แล้วแต่จะกำหนด
ส่วนพิธีโรงครู ผูกผ้าใหญ่ เป็นพิธีกรรมที่หาดูได้ยาก โดยกว่าจะเป็นโนราใหญ่ ซึ่งจะมีศักดิ์และสิทธิ์ ทำหน้าที่สำคัญใน พิธีกรรมโรงครู จะต้องผ่านขั้นตอนสำคัญ คือ “ผูกผ้า ตัดจุก ครอบเทริด” จะต้องมีอายุครบ 22 ปี เป็นโสด และมิใช่เพียงทางโลกโนรา แต่จะต้องบวชเป็นพระ เพื่อเรียนรู้ทางธรรม ซึ่งในครั้งนี้ “โนราบูม” พร้อมที่จะก้าวสู่บทบาทใหม่เป็น “โนราใหญ่” นี่คือส่วนหนึ่งของการสืบศรัทธาโนรา สานประเพณีวัฒนธรรมภาคใต้ เป็นศิลปะวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายพื้นที่ในภาคใต้ยังคงอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น ต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้ จังหวัดตรังเอง “โนรา” ก็โดดเด่นไม่แพ้ที่อื่นจนมีคำกล่าวว่า “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนรา”
สำหรับการรำแทงเข้ (จระเข้) ใช้รำในพิธีกรรมโรงครูเท่านั้น โดยจะรำหลังจากคล้องหงส์แล้ว ผู้รำมี 7 คน โนราใหญ่รำเป็น “นายไกร” ที่เหลืออีก 6 คน เป็นสหายของนายไกร อุปกรณ์มีเข้(จระเข้) 1 ตัว ทำจากต้นกล้วยพังลา (กล้วยตานี) ต้นโต ๆ ขุดให้ติดเหง้า นำมาแกะสลักส่วนเหง้าให้เป็นหัวเข้ ขาใช้หยวกกล้วยตัดเป็นรูปขาแล้วใช้ไม้เสียบไว้ หางทำด้วยทางมะพร้าว เมื่อเสร็จแล้วใช้ไม้ขนาด 4 คืบ 4 อันปักเป็นขาหยั่ง เชื่อกันว่าคนที่จะทำตัวจระเข้นั้น จะต้องเป็นผู้มีความรู้ทางเวทย์มนตร์คาถา เพราะหลังจากทำตัวจระเข้เสร็จแล้วจะต้องทำพิธีบรรจุธาตุ เรียกวิญญาณไปใส่ เบิกหูเบิกตา เรียกเจตภูตไปใส่ หากทำไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นเสนียดจัญไรแก่ตนเอง ก่อนนำเข้าพิธี คนทำจระเข้ต้องทำพิธีสังเวยครูด้วยหมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน และเหล้าขาว แล้วนำไปวางข้างโรงโนราด้านตะวันตก ให้จระเข้หันหัวไปทางทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ) หากหันหัวไปทางทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) โนราจะไม่แทง บนตัว หัว และหางจระเข้ ติดเทียนไว้ตลอดด้านหน้าโรงที่จะไปแทงเข้ จะต้องเอาหยวกกล้วยพังลา (กล้วยตานี) 3 ท่อน มาวางไว้เพื่อทำเป็นแพเพื่อให้โนราเหยียบก่อนออกไปแทงเข้ นอกจากนี้มีหอก 7 เล่ม เรียกชื่อต่างกัน เช่น หอกพิชัย กอกระบวย ในตะกง ปานฉนะ เป็นต้น การรำแทงเข้ จะเริ่มด้วยโนราใหญ่ จุดเทียนตรงบายศรีแลที่ครูแล้วขึ้นบทเพลงโทน (จับบทไกรทอง) เนื้อความเป็นการทำขวัญนายไกร และการละเล่นในพิธีทำขวัญ
และก่อนจะออกไปทำพิธีแทงเข้ มโนราห์จะต้องทำพิธีไหว้ครูโนรา และจะทำพิธีเหยียบเสน เพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับเสน (มีลักษณะคล้ายปาน) โดยเชื่อว่าเสนเป็นเนื้องอกนูนจากระดับผิวเป็นแผ่น ถ้ามีสีแดงเรียกว่า เสนทอง ถ้ามีสีดำ เรียกว่า เสนดำ ไม่ทำให้เจ็บปวดหรือมีอันตรายแต่ถ้าหากงอกบางส่วนของร่างกาย เช่น บนใบหน้าจะดูน่าเกลียด ถ้าเป็นกับเด็ก ๆ ขนาดของเสนจะโตขึ้นตามอายุ พิธีกรรมดังกล่าวเชื่อว่าเสนจะค่อย ๆ หายไป ถ้าไม่หายให้ทำซ้ำอีกจนครบ 3 ครั้ง เสนจะหายไปในที่สุด อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ ขันน้ำหรือถาดใส่น้ำ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ มีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ เครื่องเงิน เครื่องทอง หญ้าคา หญ้าเข็ดหมอน เงิน 32 บาท (ในอดีตใช้ 12 บาท) พระขรรค์หรือกริช ผู้เข้าร่วมพิธีกรรม โนราใหญ่ เด็กที่เป็นเสน ผู้ปกครอง ลูกคู่โนรา
ต่อจากนั้นโนราออกจากโรงใช้เท้าเหยียบแพหยวกแล้วกล่าวบริกรรมคาถา จากนั้นโนราใหญ่ ผู้รำ เป็นสหายนายไกร ครูหมอโนราก็ร่ายรำไปยังตัวจระเข้ แล้วโนราใหญ่กล่าวบริกรรมคาถากำกับ แล้วจึงใช้หอกแทงเข้ เอาเท้าถีบให้เข้หงายท้อง โนราคนอื่น ๆ ก็ใช้หอกแทงเข้ ต่อจากโนราใหญ่แล้วว่าบทปลงอนิจจัง กรวดน้ำให้ชาละวัน จบแล้วว่าคาถาถอนเสนียดจากเข้ เป็นอันจบพิธีกรรมโนราแทงเข้
ส่วน นายระพีพัฒน์ กาญจนพรหม หรือ โนราบูม ยังจะต้องนอนในโรงมโนราห์ก่อน ยังไม่สามารถเข้าบ้านได้ จะต้องไปร่ายรำมโนราห์ ที่บ้านของชาวบ้านและวัด จำนวน 3 บ้าน 3 วัด ก่อนจึงจะเสร็จพิธีกรรมดังกล่าว จึงจะก้าวสู่บทบาทมโนราห์ใหญ่โดยสมบูรณ์
ส่วนทางด้าน นายกิตติพงศ์ ขาวปาน หรือมโนราห์กุ๊ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นมโนราห์ใหญ่ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ในครั้งนี้ บอกว่า สำหรับวันนี้พิธีกรรมมโนราห์แทงจระเข้ วันนี้เป็นพิเศษ มีพิธีกรรมผูกผ้าใหญ่ การผู้กผ้าใหญ่ก็ คือ การที่มโนราห์คนหนึ่งได้ฝึกหัดมโนราห์มาตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงอายุ 21 ปีขึ้นไป จะต้องบวชเป็นพระก่อน และทำการผูกผ้าใหญ่ จะได้เป็นมโนราห์ใหญ่ จะได้เป็นหัวหน้าคณะ จะได้ทำพิธีแทงจระเข้ จะได้ตัดเหมย แก้บน ให้กับชาวบ้านได้ ในช่วงเช้าจะนิมนต์พระ มาสวดบทชยันโต แลพพิธีกรรมครอบเทริดให้กับมโนราห์ใหญ่ และมาจับบทมโนราห์ เป็นบทเป็นตอน จำนวน 12 บท จนมาถึงบทที่ 12 บทนายไกร แล้วถึงช่วงพิธีกรรมแทงจระเข้ โดยทางคณะมโนราห์สำเริง บันเทิงศิลป์ ได้สืบทอดมาจากคุณปู่ คือ มโนราห์แคล้ว กาญจนพรหม ต่อมาเป็นคุณพ่อ มโนราห์คล่อง กาญจนพรหม ต่อมาก็ มโนราห์สำเริง บันเทิงศิลป์ ซึ่งทุกคนที่ผ่านมาโดยเฉพาะตัวตนเอง มโนราห์กุ๊ก ก่อนที่จะมาเป็นมโนราห์ใหญ่ได้ก็จะต้องผ่านพิธีกรรมนี้มาเหมือนกัน ตอนนี้เราก็มีมโนราห์ตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ที่เกิดมาถึงก็รำเป็นแล้ว เหมือนอยู่ในสายเลือด เป็นการสืบทอดเชื้อสายมโนราห์สืบต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: