X

ตรัง วิสาหกิจชุมชน นำ 25 ผลิตภัณฑ์ ร่วมยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทย เพิ่มมูลค่าสินค้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ U2T for BCG

ตรัง คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ร่วมกับ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการเสวนา “การยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ” นำเสนอผลิตภัณฑ์โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) จำนวน 11 ตำบล  25 ผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมการประกวดแข่งขันหาผลิตภัณฑ์ดีเด่นของ U2T for BCG 

 

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2565) ที่ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลา-นครินทร์ วิทยาเขตตรัง ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดโครงการเสวนา “การยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ”  ซึ่งคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ร่วมกับ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้น เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) จำนวน 11 ตำบล  25 ผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมการประกวดแข่งขันหาผลิตภัณฑ์ดีเด่นของ U2T for BCG ในความรับผิดชอบของคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดการค้าระดับประเทศ โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดตรัง ที่นำสินค้าเด่นมาจัดแสดงในงาน เช่น  ผลิตภัณฑ์กระถางเพาะปลูกแบบย่อยสลายได้จากทางต้นจาก , ใบเหลียงสติ๊ก , เค้กใบเหลียง , ข้าวเบายอดม่วง , ผลิตภัณฑ์จากลูกหยี , สบู่และเจลอาบน้ำจากปาล์มน้ำมัน ,กัมมี่น้ำผึ้งมะนาว เป็นต้น

โครงการเสวนา “การยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ” ดำเนินการภายใต้รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชนในการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการให้มีแนวทางและแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเสริมสร้างศักยภาพในด้านการตลาด การเข้าถึงช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา (ผ่าน Zoom ฉายจอ) ในประเด็น “การยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ” โดย กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายพัฒนากิจการควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรกรไทย ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่   ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ เน้นการดำเนินการเชิงรุก ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ กรมส่งเสริมการเกษตร) และได้เชื่อมโยงเกษตรกร คือต้นน้ำ ไปยังลูกค้าคือปลายน้ำ ทั้งเพิ่มการเข้าถึงเกษตรกรแต่ละชุมชน ด้วยการมีศูนย์รับซื้อและกระจายสินค้าเกษตรรายภูมิภาค มีโรงแปรรูปสินค้า โรงแพ็คสินค้า และตลาดรวบรวมสินค้าเกษตร เพื่อพร้อมจัดจำหน่ายให้แก่ชุมชน ร้านค้า ร้านอาหารในพื้นที่ เช่น ศูนย์รับซื้อสินค้าผัก-ผลไม้ “ภาคเหนือ” ปัจจุบันรับซื้อผัก-ผลไม้ตรงกว่า 80 รายการ และในปัจจุบัน เพิ่มศูนย์รับซื้อผัก-ผลไม้  “ภาคกลาง” ที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง และมะม่วงทุกสายพันธุ์ กว่า 40 รายการ โดยตั้งเป้ารับซื้อเริ่มต้น 1,000 ตันต่อปี มีสมาชิก 50 ครัวเรือน พื้นที่คลอบคลุมกว่า 1,000 ไร่ ทั้งยังมีแผนขยายศูนย์รับซื้อสินค้าผัก-ผลไม้ “ภาคใต้” ซี่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาการจัดตั้งศูนย์ ฯ และหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” โดยในปีนี้ “บิ๊กซี” เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อย จึงได้ตั้งทีม OTOP SMEs ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ เพื่อทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ ในการจับคู่ธุรกิจ (BUSINESS MATCHING) สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs OTOP และเกษตกร  และกระทรวงวัฒนธรรมคัดสรรผู้ประกอบการ OTOP โดยร่วมทำงานกับหน่วยงานราชการในแต่ละภูมิภาค เพื่อหาสินค้าสินค้าท้องถิ่นมาวางจำหน่ายที่ บิ๊กซี

และในการขยายตลาดเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ “บิ๊กซี” ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับลูกค้าต่างชาติ ในการซื้อสินค้าของฝากกลับประเทศ เนื่องจากมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ที่คลอบคลุมทุกภูมิภาค เข้าถึงแหล่งนักท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น สาขาราชดำริ, ภูเก็ต, พัทยา และ เชียงใหม่ หัวใจสำคัญของการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ คือ การสร้างความจงรักภักดีในแบรนด์ (Brand loyalty) ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าซ้ำ และนึกถึงแบรนด์เราเป็นอับดับแรก ๆ ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นตัวกระตุ้นทำให้ช่องทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ชาวต่างชาตินิยมใช้ช่องทางออนไลน์ โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและแหล่งซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook /Twitter /TikTok/ Instagram ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างและเกิดการกลับมาซื้อซ้ำ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นจะต้องเตรียมพร้อมและคำนึงถึง ได้แก่ การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข, การผลิตสินค้าให้มีความแตกต่าง มีนวัตกรรมและความแตกต่างที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นำจุดเด่นของวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอด และบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจ (Story telling), ปริมาณสินค้าที่วางจำหน่าย ต้องมีเพียงพอและสามารถวางจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้า สร้างการจดจำและสามารถกลับมาซื้อซ้ำได้ และ การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ผู้ประกอบการ ควรเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมหรือการออกงานจำหน่ายสินค้าทั้งทางภาครัฐหรือเอกชน เพื่อเพิ่มความรู้ใหม่ ๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับผู้ประกอบการด้วยกันเอง”

นอกจากนี้ยังมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.นิพัฒน์ โพธิ์วิจิตร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ร่วมบรรยายให้ความรู้ในงานดังกล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน