X

เครือข่ายชาวสวนยาง สุดทน เรียกร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เตรียมนัดประชุมใหญ่เครือข่ายฯภาคใต้

ตรัง เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เรียกร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ มองปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากผู้บริหารงานที่ล้มเหลวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย  โดยที่ผ่านมาผู้บริหารกยท.บางส่วนเป็นคนใกล้ชิดนักการเมืองและคนของบริษัทผู้ส่งออก เข้ามาจ้องแต่หาผลประโยชน์ ทุกโครงการจึงล้มเหลว ขาดความต่อเนื่อง  ขณะที่การสรรหาบอร์ดกยท.ชุดใหม่ที่กำลังจะแต่งตั้งในเดือนธันวาคมนี้  พบว่า ส่อเค้าไม่ชอบมาพากล มีทั้งคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งไม่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อนยื่นใบสมัคร และบางคนแย่งสมัครในนามสถาบันเกษตรกร ทั้งๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เชื่อจะเข้ามาหาผลประโยชน์ในวังวนเดิมเหมือนชุดก่อน  เหยียบย่ำชาวสวนยาง เตรียมนัดประชุมใหญ่ตัวแทนเกษตรกรและเครือข่ายสถาบันเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางที่จ.ตรัง ในต้นเดือนหน้า เพื่อหารือเคลื่อนไหวเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องการแก้ปัญหาต่อไป   และเตรียมเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมารับฟัง เอาไปประกาศเป็นนโยบาย พรรคไหนทำได้ จะรณรงค์ให้ชาวสวนยางเลือกพรรคนั้น 

วันนี้ (25 พ.ย.)  ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง นำโดย นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง , นายสมปอง  นวลสมศรี  ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.กระบี่ ,นายบรรจงกิจ  บุญโชติ  ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางนิคมทุ่งสง  จำกัด  ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช  และนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องไปยังรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้นมายาวนาน

โดยนายประทบ  สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ภาคใต้เกิดฝนตกชุก ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดมีน้อย แต่ราคายางพารากลับตกต่ำ โดยน้ำยางสดเหลือประมาณกก.ละ 37-40 บาท ส่วนราคาแผ่นรมควันชั้น 3 เหลือกก.ละ 45-46 บาท  ซึ่งเดือดร้อนหนักทั้งเกษตรกรและสหกรณ์ผู้แปรรูปยางพารา จึงเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและการยางแห่งประเทศไทย เร่งแก้ไขปัญหา เตรียมนัดประชุมใหญ่ตัวแทนเกษตรกรและเครือข่ายสถาบันเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางที่จ.ตรัง ในต้นเดือนหน้า เพื่อหารือการเคลื่อนไหวเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องการแก้ปัญหาต่อไป   และเตรียมเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมารับฟัง เอาไปประกาศเป็นนโยบาย พรรคไหนทำได้ จะรณรงค์ให้ชาวสวนยางเลือกพรรคนั้น

ด้านนายสมปอง  นวลสมศรี  (เสื้อสีดำกั๊กทับ)  ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.กระบี่ กล่าวว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง ส่วนตัวมองว่าเกิดจากความล้มเหลวของรัฐบาล ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้บริหาร หรือบอร์ด การยางแห่งประเทศไทย  ชุดเก่าที่ผ่านมา ไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหา ทำให้ทุกโครงการที่ออกมาล้มเหลวทั้งหมด ไม่มีความต่อเนื่อง และไม่รับฟังข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้องของชาวสวน ที่เสนอไปทำไม่ถึง 10% เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในของผู้บริหารการยาง ที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจผู้ส่งออกยาง และเป็นคนใกล้ชิดนักการเมือง ทำให้เข้ามาหาผลประโยชน์    ตอนนี้เกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่มีที่พึ่ง เป็นความล้มเหลวของกระทรวงเกษตรฯไม่สนใจแก้ปัญหาให้เกษตรกร เชื่อว่าตอนนี้ปัญหาของเกษตรกรกลายเป็นประเด็นการเมืองไปแล้ว   เพราะไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจากกระทรวงที่กำกับ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาง  และขณะนี้กยท.กำลังอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นบอร์ด กยท.ชุดใหม่ ในเดือนธันวาคมนี้  โดยในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะต้องมาจากตัวแทนของเกษตรกร และตัวแทนของสถาบันเกษตรกรโดยตรง ที่จะต้องคัดเลือกตัวแทนจากทุกภาค กลับพบความไม่ชอบมาพากล  คือ ไม่มีตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในส่วนของตัวแทนเกษตรกร และตัวแทนของสถาบันเกษตรกรโควต้าภาคใต้ ก็พบว่าไม่ชอบมาพากลเช่นกัน  เพราะมีบางคนเดิมสมัครในนามตัวแทนเกษตรกรไปแล้ว  แต่มาเปลี่ยนใจยื่นใบสมัครใหม่ในนามสถาบันเกษตรกร  ในช่วงที่ กยท.ได้มีการขยายเวลารับสมัครออกไปนานถึง 10 วัน เพื่อรองรับ  และบางคนเป็นคนใกล้ชิดนักการเมือง เป็นคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เป็นเลขานุการรัฐมนตรีเกษตรฯเฉลิมชัย ศรีอ่อน ) ทำอาชีพขายเสื้อผ้ามือสองอยู่ที่กรุงเทพฯ และไม่ได้เป็นเกษตรกรโดยตรง ไม่มีสวนยาง ไม่มีความรู้เรื่องยาง โดยได้ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา  ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาของการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ    ซึ่งทั้งสองคนนี้เป็นถูกจัดลงสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิภาคใต้ แล้วในภาคใต้มีพื้นที่ปลูกยางประมาณ  10 ล้านไร่ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร และบอร์ดมีอายุการทำงาน 3 ปี เกษตรกรจะพึ่งใคร   ประกอบกับความล้มเหลวของบอร์ดชุดเก่าที่มีคนของนักการเมือง มีคนของกลุ่มธุรกิจส่งออกยาง ควรจะถอดบทเรียน เข้าไปแล้วทำงานในลักษณะสมยอมเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งถ้าเป็นคนในเครือข่ายนักการเมืองหรือกลุ่มทุน เกษตรกรก็จะไม่ได้อะไรเลย

ด้านนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน  ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย   กล่าวว่า ในวันที่ 8-9 ธค.นี้ ตัวแทนเกษตรกรและตัวแทนเกษตรกรภาคใต้ตอนกลางทั้ง 6 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง,กระบี่,พังงา,ภูเก็ต ,พัทลุง และนครศรีฯ  จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อหารือกันในเรื่องปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต่อไป  เพราะเกษตรกรเดือดร้อนหนัก ขณะที่รัฐบาลไม่ได้สนใจแก้ปัญหาอย่างจริง ตามที่ได้ประกาศไว้ รวมทั้งการยางแห่งประเทศไทยก็ล้มเหลวในการดำเนินโครงการต่างๆ ทุกโครงการ    เบื้องต้น เตรียมทวงข้อเรียกร้องเดิมทั้ง  4 ข้อ ประกอบด้วย  1.โครงการชะลอการขายยางที่ผ่านมา ทั้งยางก้อนถ้วย น้ำยางสด และยางแผ่นรมควัน ปรากฏว่าขณะนี้ล้มเหลว หยุดโครงการลงชั่วคราว เพราะกยท.ไม่มีเงินทำต่อแล้ว   ไม่สามารถจะเก็บยางไว้หมุนเวียนได้แล้ว    2.โครงการสวนยาง SFC เพื่อสนับสนุนการจัดการป่าไม้ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป้าหมายส่งสินค้าทั้งไม้ยางและยางพาราแปรรูปสู่ตลาดสากล แต่ก็ล้มเหลวเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่สวนยางพารามีทั้งหมด  25 ล้านไร่ แต่ไม่มีความคืบหน้าในโครงการ ส่งออกไปตลาดยุโรปไม่ได้   อยากให้ทางรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ กำหนดพื้นที่เป้าหมายอย่างชัดเจนในการทำโครงการนี้  ทั้งนี้ ราคายางตามมาตรฐาน SFC หรือมาตรฐานสิ่งแวดล้อมนั้น ราคาจะสูงกว่าราคายางทั่วไปประมาณกก.ละ 7 บาท แต่รัฐไม่ได้ขับเคลื่อนโครงการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  3. โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ก็ล้มเหลว เดิมเป้าหมายจำนวน 100,000 ตัน แต่ทำได้จริงเพียงประมาณ 1 หมื่นตันเท่านั้น ก็หยุดชะงัก เป้าหมายจะนำยางมาใช้ภายในประเทศให้ได้ 35% ก็ล้มเหลว  และกลายเป็นว่าเรื่องยางกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเพราะเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง กระทรวงคมนาคม สาธารณสุข  กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ โดยยางถูกนำไปเป็นประเด็นการเมืองไปแล้ว   ชาวสวนถูกทอดทิ้ง โดยขอให้รัฐออกเป็นกฎหมายกำหนดให้มีการใช้ยางในโครงการต่างๆ 5%   และ 4.ให้รัฐส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยการสนับสนุนงบประมาณ เช่น เดิมจะส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวน ก็ปรากฏว่าล้มเหลวเช่นกัน

ทางด้านนายบรรจงกิจ  บุญโชติ  (เสื้อยืดคอน้ำเงินมุมในซ้ายเรา) ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจ.นครศรีธรรมราช  กล่าวว่า โครงการสวนยาง SFC เพื่อส่งเสริมการส่งออกสู่ตลาดสากลนั้น จ.นครศรีธรรมราชเป็น 1 ในจังหวัดนำร่อง ตั้งแต่สมัยยุครัฐบาล คสช. เริ่มทำที่สหกรณ์การเกษตรนาบอน ปรากฏว่าพอทำ ได้น้ำยางไปส่งบริษัทไม่เพียงพอเข้าไลน์การผลิต  เพราะพื้นที่น้อย จากนั้นไปทำที่สหกรณ์ทุ่งสง ก็ไม่ได้อีก เพราะเกษตรกรไม่มีใครเข้าร่วม ทำให้ล้มเหลว โดยจ.นครศรีธรรมราช เป้าหมายจะยกระดับสวนยางให้ได้มาตรฐาน SFC จำนวน 40,000 ไร่ แต่ทำได้จริงเพียงประมาณ 3,000 ไร่เท่านั้น รัฐควรเร่งสานต่อนโยบาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดสากล

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน