ตรัง-หึ่ง! ปูดทุจริตสหกรณ์จังหวัดตรัง คลังจังหวัด พบ จนท.การเงิน ชงเบิกบำนาญเท็จ ค่าเล่าเรียนบุตร-ค่าเช่าบ้าน คาดเสียหายร่วม 10 ล้าน ระบบ GFMIS-KTB เอาไม่อยู่ ชงผู้ว่าฯสอบด่วน ด้านผู้ตรวจฯกรมส่งเสริมฯสหกรณ์ รับลูก พร้อมตรวจสอบ
ในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และมีการร้องเรียนต่อสื่อมวลชนให้ตรวจสอบ กรณีการตรวจพบการทุจริตภายในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับ ควบคุม ดูแล สหกรณ์ต่างๆให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย หรือพ.ร.บ.สหกรณ์ แต่มีการทุจริตเสียเอง โดยพนักงานราชการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินรายหนึ่ง เบื้องต้น คาดว่ากระทำต่อเนื่องกันมาหลายปี ในยุคสมัยที่สหกรณ์จังหวัดตรังดำรงตำแหน่ง ผ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 คน รวมทั้งในยุคสหกรณ์จังหวัดตรังคนปัจจุบัน ปัจจุบันพบความเสียหายแล้ว 8 ล้านบาท แต่เชื่อว่าความเสียหายจะไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยการตรวจพบครั้งนี้ เบื้องต้น เกิดจากการที่คลังจังหวัดตรัง ตรวจสอบพบการเบิกเงินค่าช่วยเหลือบุตร และค่าเล่าเรียนบุตร ค่าเช่าบ้าน ของข้าราชการบำนาญ สูงผิดปกติในช่วง 2 เดือน ประมาณ 250,000 บาท จึงโทรไปสอบถามที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง และมีร้านค้าทวงเงินค่าพัสดุ จึงพบความจริงดังกล่าว เบื้องต้น ทางคลังจังหวัดตรังได้รายงานเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้รับทราบเรื่อง จากนั้นแจ้งสหกรณ์จังหวัดตรัง โดยเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พนักงานราชการรายดังกล่าว ฐานทุจริตเป็นการเร่งด่วน และขั้นตอนต่อไปเมื่อสอบแล้ว จะต้องเร่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อไล่ออกพนักงานราชการรายดังกล่าว และจะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนต่อไป นอกจากนั้นได้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ ที่ใช้ชื่อว่า “ ประชาชนคนตรัง ที่ต่อต้านการทุจริตและทนดูไม่ได้” ทนเห็นพฤติกรรมการทุจริตภายในไม่ได้ ๆ ทำหนังสือร้องต่อ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ให้ตรวจสอบแล้ว
ล่าสุด ที่ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ศาลากลาง จ.ตรัง นายประวัติ แดงบรรจง ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ บุญโยม สหกรณ์จังหวัดตรัง เข้าพบนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อหารือข้อราชการ
ข่าวน่าสนใจ:
โดยนายประวัติ บอกว่า ตนไม่ได้เดินทางมาจังหวัดตรัง เพื่อตรวจเรื่องการทุจริตของพนักงานราชการสหกรณ์จังหวัดตรัง แต่ในเบื้องต้นตนได้ทราบข้อมูลคร่าวๆ เบื้องต้นว่าพบความไม่ชอบมาพากลภายในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่า เป็นยังไง จำนวนเงินเท่าไรและเป็นเงินส่วนไหน จึงให้ข้อมูลไม่ได้ เพราะต้องรอให้มีการสรุปผลก่อน โดยความจริงตนเองมาราชการเรื่องอื่นมาตรวจสหกรณ์การเกษตร 2 แห่ง ส่วนที่บอกว่า ขณะนี้เกิดผลกระทบทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร รวมทั้งค่าจ้างเหมาต่างๆ ได้ตนเองมองว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน คงจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ เพราะเรื่องการเบิก ค่าใช้จ่าย มีระเบียบกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการตามนั้น ขั้นตอนขณะนี้คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แต่จะดำเนินการอย่างไร หลังทราบเรื่องแล้ว ก็ต้องรอให้เรื่องชัดเจนก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่เป็นลักษณะเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน แต่หลังจากนี้ตนเองก็เตรียมความพร้อมที่จะเข้ามาตรวจสอบ ติดตาม อย่างต่อเนื่อง และต้องทำตามกฎหมายบ้านเมือง และระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด
ส่วนทางด้าน นายสมศักดิ์ บุญโยม สหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวปฏิเสธ ขอยังไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม การทุจริตภายในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรังครั้งนี้ น่าจะเกิดจากความบกพร่องร้ายแรงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบบการรักษาความปลอดภัยภายใน เกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งปกติของระบบราชการ จะมีระบบGFMIS มีอุปกรณ์Token key และรหัสผ่าน 3 ชุด ( ระบบ GFMIS คือ โครงการเปลี่ยนระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐ ให้มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพ โดยนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับกระบวนการดำเนินงาน และการจัดการภาครัฐ ด้านการงบประมาณ การบัญชีการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายงบประมาณ และการบริหารทรัพยากรบุคคล ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายการปฏิรูประบบราชการ ) ประกอบด้วย ชุดแรก (P10) เป็นอุปกรณ์ เพื่อให้จนท.การเงินนำไปเปิดเข้าระบบGFMIS ซึ่งส่วนใหญ่สหกรณ์จังหวัดจะมอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายบัญชีเก็บรักษา และให้จนท.การเงิน ( พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่การเงินคนทุจริต) ขอเบิกไปใช้งาน , Token key ชุดที่2 ใช้อนุมัติขอเบิก-จ่ายเงิน ส่วนใหญ่สหกรณ์จังหวัดตรัง จะมอบหมายให้ผอ.กลุ่มงานคนใดคนหนึ่งเก็บรักษาและใช้อนุมัติ ( อม 1) และToken key ชุดที่ 3 ใช้อนุมัติขั้นตอนสุดท้าย ส่วนใหญ่สหกรณ์จังหวัดตรังจะเก็บรักษาและใช้อนุมัติขั้นตอนสุดท้าย แต่พบว่าในการปฏิบัติจริงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเก็บรักษาและใช้งาน มักจะนำไปให้จนท.การเงินใช้คนเดียวครบวงจร จึงน่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดข้อบกพร่องร้ายแรง ทำให้จนท.การเงินทุจริตเงินราชการได้อย่างสะดวก
ส่วนในระบบ KTB เป็นระบบการโอนเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิ์ได้เงินราชการ ระบบนี้จนท.การเงินจะมีรหัสผ่านของตนเอง เพื่อเข้าระบบ KTB และสหกรณ์จังหวัดเป็นผู้มีรหัสผ่านอนุมัติเพื่อแจ้งธนาคารกรุงไทยให้โอนเงินให้เจ้าหนี้ฯ แต่บางครั้งมีสหกรณ์จังหวัดบางคนมอบให้จนท.การเงินอนุมัติแทน จึงทำให้ทุกฝ่ายมองว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบGFMIS และKTB จะเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ และทำราชการเสียหายร้ายแรง ส่วนพนักงานราชการ เจ้าหน้าที่การเงินคนดังกล่าว เบื้องต้น ยังไม่ได้หลบหนี หรือยังไม่ได้ออกจากงานแต่อย่างใด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: