ตรัง หลายหน่วยงานด้านแรงงานลงเยี่ยมหนูน้อยวัย 13 ปี รับจ้างตัดปาล์ม และ น้องสาว พร้อมเร่งหาทางช่วยเหลือ ทั้งให้เรียนต่อ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แรงงานจังหวัดตรัง แจง ทำงานตัดปาล์มไม่ผิด กม.เพราะเป็นการจ้างเหมา และแบ่งรายได้เป็นธรรม
จากกรณีที่ได้มีการเสนอข่าว “น้องเร” เด็กชายนนทพันธ์ เดชเจริญ หนูน้อยวัย 13 ปี อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลตำบลควนกุน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ว่า เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เพื่อช่วยหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ทั้งพ่อและน้องสาว หลังจากที่แม่แยกทางจากไป ส่วนตัวหนูน้อยก็เรียนจบแค่ชั้น ป.4 จึงต้องตระเวนทำงานรับจ้างทั่วไป กระทั่งโชคดีที่มี “พี่เจม” หรือ นายเจม สมแสง อายุ 31 ปี หนุ่มชาวตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา ให้การอุปการะ ด้วยการดึงมาช่วยทำงานตัดผลปาล์มน้ำมัน ทำให้หนูน้อยเริ่มมีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้ประจำวันละ 300-500 บาท แต่ล่าสุดกลับมีหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ติดต่อมายัง นายเจม ผู้ที่ให้การอุปการะหนูน้อยวัย 13 ปี ให้เดินทางไปพบที่ศาลากลางจังหวัดตรัง พร้อมอ้างว่าการให้หนูน้อยมาทำงานตัดผลปาล์มน้ำมันอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย จนถูกกระแสโซเชียลวิจารณ์หน่วยงานดังกล่าวอย่างหนักว่า แทนที่จะช่วยเหลือกลับมากระหน่ำซ้ำเติมคนดี ๆ นั้น
ล่าสุดวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดย นายจเร พูลช่วย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตรัง นางอมรวรรณ ช่วงเพ็ชจินดา แรงงานจังหวัดตรัง นางสาวนูรียัน นิเต๊ะ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง นางสาวพรปวีย์ อุไรสวัสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและวิชาการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง พร้อมด้วย ปลัดอำเภอสิเกา กำนัน ผู้นำท้องที่ ผู้ท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่บ้านของน้องเร เพื่อพูดคุยกับครอบครัวแนวทางการช่วยเหลือ และบ้านของน้องเจม ได้พูดคุยกับภรรยาของนายเจม ที่พื้นที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
ข่าวน่าสนใจ:
- ชัยภูมิ นทท.แห่สัมผัสทะเลหมอกน้ำค้างแข็งหลายพื้นที่แตะ 7 องศาคึกคัก!
- ศึกชิงเก้าอี้ "นายก อบจ." เดือดแน่..ลุ้นใครล้มช้าง 5 สมัย?
- ปทส.จับชาวบ้านฆ่าเลียงผา สัตว์สงวนหายาก บริเวณพื้นที่เทือกเขาตาง๊อก อ.คลองหาด จ.สระแก้ว
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดเซอร์ไพรส์ ส่งตุ๊กตาหมีน่ารักทักทายผู้โดยสารบนสายพานรับกระเป๋า
โดย นางสาวนูรียัน นิเต๊ะ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง บอกว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า หนูน้อยวัย 13 ปี เคยเข้าใช้บริการที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง เมื่อปี 2560 ในกรณีครอบครัวแตกแยก โดยพ่อกับแม่ของน้อง มีลูกด้วยกัน 4 คน อดีตภรรยารับไปดูแล 1 คน และเหลืออีก 3 คน คนสุดท้องตอนนั้น อายุ 2 ขวบ จึงได้ประสานแล้วส่งต่อให้ญาติในพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นผู้ดูแล ส่วนน้องเร และน้องสาว อีก 2 คน ย่าเป็นคนอาสารับมาดูแล เดิมอาศัยอยู่พื้นที่อำเภอวังวิเศษ แต่เมื่อเกิดปัญหาก็ย้ายมาอยู่พื้นที่อำเภอสิเกา ตอนนั้นน้องก็เข้าเรียนระบบปกติ ที่โรงเรียนกมลศรี แต่ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ได้มีการเรียนออนไลน์ ซึ่งทางครอบครัวไม่พร้อม จึงทำให้การศึกษาต้องสะดุดลง อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมประสานน้องเข้าเรียนต่อโรงเรียนประจำ ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ในช่วงปิดเทอม สามารถกลับมาอยู่กับพ่อ อยู่กับครอบครัวได้ โดยทางบ้านพักเด็กฯ จะทำหน้าที่ติดตามน้องเรื่องการไปเรียน และความเป็นอยู่
ส่วน นางสาวพรปวีย์ อุไรสวัสดิ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและวิชาการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง บอกว่า ล่าสุดได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของเครื่องอุปโภค-บริโภคไปกับทางครอบครัวของน้องแล้ว และต่อจากนี้ก็จะช่วยเหลือเป็นเงินผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน จำนวน 3,000 บาท รวมทั้งจะช่วยดูแลในเรื่องของบ้าน เพราะค่อนข้างทรุดโทรม สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม โดยจะสนับสนุนในการซ่อมแซมบ้าน เป็นเงินงบของโครงการพัฒนาจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด
ขณะที่ นายจเร พูลช่วย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตรัง บอกว่า สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ จะช่วยดูแลในเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก ค่าจ้าง ค่าชดเชยต่าง ๆ และจากการสอบข้อเท็จจริงจากหนูน้อยวัย 13 ปี พบว่า ได้ไปช่วย “พี่เจม” หรือ นายเจม ในการตัดปาล์ม โดยไปรับเหมาตามสวนต่าง ๆ และมีทีมงานรวมประมาณ 8 คน จากนั้น นายเจม จะนำเงินมาแบ่งกัน รวมถึงน้องเร ด้วย เพื่อให้เขานำไปช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว ซึ่งในเบื้องต้นไม่เข้าองค์ประกอบใช้แรงงานเด็ก แต่เป็นเรื่องของการจ้างเหมา จ้างทำของกัน น้องจึงสามารถทำงานตัดปาล์มได้
ด้าน นางอมรวรรณ ช่วงเพ็ชจินดา แรงงานจังหวัดตรัง บอกว่า จากกระแสโซเชียล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ก็ได้ห่วงใยในเรื่องของการชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อ หลังมีกระแสข่าวว่าเรื่องมนุษยธรรมกับการใช้แรงงานเด็ก โดยทางหน่วยงานไม่ได้มาที่จะจับผิดตามกฎหมาย แต่มาสอบข้อเท็จจริง เพียงแค่วันแรกไม่ได้มีโอกาสได้เจอ นายเจม จึงอาจเป็นความเข้าใจผิดกันนิดหน่อยในการสื่อสารกัน พร้อมยืนยันว่าทุกหน่วยงานของจังหวัดตรัง ยินดีให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการที่จะช่วยเหลือให้น้องเร ได้เรียนต่อ ได้มีทุนการศึกษา และให้คุณพ่อได้มีอาชีพที่พอจะจุนเจือครอบครัว เนื่องจากตอนนี้คุณพ่อเองก็มีโรคประจำตัวอยู่ก็คือ โรคไตระยะสุดท้าย จึงไม่สามารถทำงานหนักได้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้เต็มที่ แต่ในเรื่องของความรัก พ่อก็มีความรักให้กับน้องเขาอย่างเต็มที่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: