ตรัง – ชาวบ้าน 2 ฝั่งถนนคลองเต็ง-เขาวิเศษ ระยะทาง 2 กม. เดือด การก่อสร้างถนน 4 เลนหยุดชะงักนานนับ 4 เดือน ติดปัญหาต้นจามจุรี 2 ข้างทางที่ทางจังหวัดอนุมัติให้ตัดล่าช้า โดยทางอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ยังหารับเหมาตัดโค่นไม่ได้ ทำหน้าฝนเกิดโคลน หน้าแล้งก็ฝุ่น ร้านค้า ร้านอาหารขายไม่ได้ต้องปิดร้าน กลางคืนก็มืด ซ้ำทางแคบและต่างระดับเดินทางลำบาก เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาท่ามใต้ อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ มีทั้งบ้านเรือน ร้านค้า วัด โรงเรียน นับร้อยครัวเรือนอยู่สองฝั่งถนนสายคลองเต็ง – วังวิเศษ หรือ ทางหลวงหมายเลข 4158 ระยะทาง 2 กม. รวมตัวกันสะท้อนความเดือดร้อน และ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา การก่อสร้างถนน เพราะปัจจุบันนี้มีการยกเครื่องจักรหนักออกจากพื้นที่ก่อสร้าง หลังมาเปิดเขตถนนทั้งสองฝั่งออก เพื่อขยายถนนเป็นสี่ช่องจราจร โดยสัญญาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2565 สิ้นสุดสัญญา 26 มกราคม 2566 รวมเวลา 210 วัน งบประมาณก่อสร้าง 49.3 ล้านบาท แต่การก่อสร้างหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งสภาพถนนมีในตอนนี้ เป็นลักษณะไหล่ทางที่เปิด เพื่อขยายถนนมีลักษณะต่างระดับกับผิวจราจรเดิม มีลักษณะเป็นดินและลูกรัง บางช่วงมีความชันมาก ส่วนต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉา ขนาด 2-4 คนโอบ จำนวน 100 ต้น ยืนโด่อยู่ทั้ง 2 ไหล่ทางซ้ายขวา ถูกพ่นสีแดง เป็นสัญลักษณ์ เพื่อรอการตัดออก ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเหตุผลที่ถนนเส้นนี้ล่าช้า เพราะติดปัญหาเรื่องการตัดต้นจามจุรีออกไป อันเนื่องมาจากทางจังหวัดตรังอนุมัติให้มีการตัดโค่นออกล่าช้ากว่าการก่อสร้าง โดยการก่อสร้างนั้น ได้ผู้รับเหมาแล้ว ผู้รับเหมาเข้าไปทำแล้ว แต่ทางจังหวัดเพิ่งได้มาอนุมัติให้มีการตัดโค่นต้นไม้ออกไปในเดือนพฤศจิกายน หลังการก่อสร้างดำเนินไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ส่วนพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ กำลังประกาศหาผู้รับเหมาตัดโค่น โดยครั้งแรก วงเงิน 100,000 บาท ไม่มีใครยื่นซองประมูล ขณะนี้ประกาศรอบ 2 ตั้งราคากลาง 80,000 บาท จะสิ้นสุดวันกำหนดยื่นซองในวันที่ 15 มกราคมนี้ แต่ยังไม่มีใครเข้ายื่นซองประมูล ทำชาวบ้านเดือดร้อนหนักต้องเผชิญกับปัญหามาแล้วประมาณ 4 เดือน คือ ไหล่ทางที่เปิดไว้มีความลาดชัน ไม่สามารถนำรถเข้าออกบ้านได้ หน้าฝนจะกลายสภาพเป็นโคลน ส่วนหน้าแล้งก็มีฝุ่น และกลางคืนถนนจะมืดและเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันบ่อยครั้ง หรือชาวบ้านล้มรถบ่อยครั้ง เพราะเมื่อหลบหลีกก็ต้องตกไหล่ทาง ร้านค้า ร้านอาหารปิดร้าน บางส่วนที่พอจะเปิดได้ ลูกค้าก็หายไปกว่า 50% เพราะลูกค้าจอดรถลำบาก
นางสาวโสภิดา คงสง (เสื้อลูกไม้ชุดชมพู ) ชาวบ้าน ม.4 ต.นาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง กล่าวว่า สภาพถนนหน้าบ้านที่ถูกปาดออกจนลาดชัน ทำให้รถยนต์เก๋งของตนขับออกบ้านอย่างยากลำบาก และยิ่งช่วงหน้าฝนเป็นโคลนจนสกปรก นำรถเข้าออกบ้านก็เลอะเถอะ ตนรู้แค่ว่าที่เขาชะลอการก่อสร้างเพราะติดปัญหาเรื่องต้นจามจุรี ที่ต้องดำเนินการเรื่องป่าไม้ พอติดขัดก็ก่อสร้างถนนไม่ได้ แต่นี่ก็กินเวลาหลายวันยังไม่มีวี่แววว่าทำเมื่อไหร่จะก่อสร้างเสร็จ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา
นางจริยา แซ่ฮิ้ว (เสื้อสีชมพู) คนแก่ ชาวบ้าน ม.8 ต.นาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง กล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านเดินทางกันลำบาก ถนนแคบที่เหลือ 2 ข้างก็เป็นทางต่างระดับ จะหลบทีก็ตกถนน ถนนสายนี้มีรถมากทั้งรถชาวบ้าน รถเด็กนักเรียน รถบรรทุก และกลางคืนก็มืดเพราะไม่มีไฟส่องสว่าง เกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก ตนไม่รู้ว่าติดปัญหาอะไร แต่อยากให้เร่งการก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว
ข่าวน่าสนใจ:
นายโสภณ จันทรังษี(เสื้อสีเหลือง) ชาวบ้าน ม.4 ต.นาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง บอกว่า การค้าขายลำบากมาก ต้องหยุดขายไปเกือบหมด แล้วยุคเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยชาวบ้านลำบากต้องทำมาหากิน การเข้าออกบ้านก็ลำบากทั้งคนทั้งรถ บางคนต้องหาหินมาถมทำทางเข้าเอาเอง ก็ลำบาก ฝนตกก็เป็นดินโคลนเข้าออกบ้านไม่ได้เลย อยากให้ก่อสร้างถนนเสร็จโดยเร็ว คนที่รับผิดชอบออกมารับผิดชอบ ตอนแรกที่รู้ว่ามีโครงการขยายถนนก็รู้สึกดีใจ แตอยู่ๆก็หยุดทำ อยากรู้เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ทำต่อให้เสร็จ ไม่เคยมีใครมาบอกชาวบ้านจริงจังไม่เคยมี เพราะติดเรื่องการตัดต้นไม้ ก็เกิดคำถามในใจว่าการก่อสร้างขยายถนนทำไม ไม่ตัดต้นไม้ก่อน หรือ ทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้าน จะได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้วย วันละ 3,000 บาท ก็ขายไม่ได้ เดือดร้อนหนัก
อย่างไรก็ตาม นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และนายชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย สมาชิกสภา อบจ.ตรัง เขต อ.เมือง ได้พยายามเร่งหาทางช่วยเหลือชาวบ้าน จึงได้เรียกส่วนที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล ทั้งฝ่ายควบคุมงาน และผู้รับเหมามาพูดคุย และเร่งประสานการแก้ปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีตัวแทนแขวงทางหลวงตรังเข้าพบหารือด้วยแต่อย่างใด โดยเฉพาะได้ต่อสายพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ส่วนพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ (ออป.) ได้รับคำตอบว่า ทางจังหวัดตรังอนุมัติให้มีการทำไม้ออกจากเขตทางหลวงล่าช้า ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักดังกล่าว ซึ่งผู้รับเหมาไม่ได้ทิ้งงาน ขณะนี้ ออป. อยู่ระหว่างหาผู้รับเหมาตัดโค่นไม้รอบที่ 2 วงเงิน 80,000 บาท รอบแรก 100,000 บาท ไม่มีคนยื่นซอง ทั้งนี้ รอบที่ 2 จะหมดเขตในวันที่ 15 มกราคมนี้ หากไม่มีใครยื่นซองประมูล ทาง ออป.ก็จะหาผู้รับเหมามาโค่นเอง แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้วันไหน ใช้เวลาเท่าไร
โดยนายอุดร เกื้อเส้ง ผอ.ส่วนควบคุมงานก่อสร้างทาง สำนักงานทางหลวงที่ 17 กล่าวว่า สัญญาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2565 สิ้นสุดสัญญา 26 มกราคม 2566 สิ้นสุดสัญญาแล้ว แต่อยู่ระหว่างที่ผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิ์ไว้ตามระเบียบราชการ เนื่องจากติดขัดปัญหาเรื่องการตัดโค่นต้นไม้ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างต่อไม่ได้ ถ้าทำตัดโค่นไม้เสร็จแล้ว ก็จะได้ดำเนินการต่อไป ซึ่งอาจจะต้องขยายสัญญาให้ ถ้าทำไม้ได้ในเร็วๆนี้ก็คงจะสามารถก่อสร้างต่อไป คงไม่เกินเดือนกันยายนนี้ แต่หากไม่สามารถทำงานได้ต่อ และเบิกจ่ายไม่ทันในเดือนกันยายน ก็จะมีผลทำให้งบประมาณตกไป ซึ่งถนนสายดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการหาผู้รับทำไม้ ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ เพื่อนำไม้ในเขตทางหลวงออก ซึ่งเมื่อหาผู้ทำไม่ได้ก็ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างก่อสร้างถนนได้ ที่ผ่านมามีการประกาศหาผู้ทำไม้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกกำหนดราคากลางที่ 1 แสนบาท และครั้งที่ 2 กำหนดราคากลางไว้ 80,000 บาท ซึ่งหากยังไม่มีสามารถหาผู้รับทำไม้ได้ ทาง ออป.จะดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกันทางส.ส. และทางผู้นำจะหาทางบูรณาการกันแก้ปัญหานี้ เพื่อให้การก่อสร้างถนนราบรื่น และแล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนตัวเชื่อว่าจะได้ทำต่อ และทันเบิกจ่ายทันเดือนกันยายน งบประมาณคงไม่ตกไป อย่างไรก็ตามการก่อสร้าง ขยายถนน มีการสำรวจและการทำแผนแต่ละปี ตั้งแต่การสำรวจความต้องการของชาวบ้าน สำรวจเส้นทาง สำรวจต้นไม้ การเตรียมเรื่องตามขั้นตอนของป่าไม้ ซึ่งหากไทม์ไลน์ใดล่าช้าก็จะทำให้เสียโอกาส
นายวิศิษฏ์ ภู่ริยะพันธ์ ผู้จัดการโครงการ บริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมา กล่าวว่า ทางบริษัทไม่ได้ทิ้งงาน แต่ทำต่อไม่ได้ เพราะต้นไม้ยังไม่มีการตัดโค่น ซึ่งทางบริษัทพร้อมทันที หากทางฝ่ายการเมือง สส สจ เป็นตัวกลางในการเร่งดำเนินการ พร้อมจะเอาเครื่องจักรมาช่วยในการล้มไม้ และพร้อมจะประสานทุกหน่วย ตั้งแต่เริ่มสัญญา ตนได้เริ่มตั้งแต่เคลียริ่ง ปรับพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคมีทั้งเรื่องไฟฟ้า และ ประปาหมู่บ้าน ส่วนเรื่องต้นไม้ถือเป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่งส่งผลให้ผู้รับเหมาไม่สามารถทำงานต่อได้ เพราะไม่สามารถรับมอบพื้นที่ได้ จึงต้องขนเครื่องจักรไปทำงานที่อื่นก่อน ระหว่างรอให้เรื่องต้นไม้แล้วเสร็จตามขั้นตอน ซึ่งชาวบ้านอาจเกิดข้อสงสัยว่าผู้รับจ้างทิ้งงานหรือเปล่า ขอยืนยันว่าไม่มีการทิ้งงานแต่อย่างใด ทุกอย่างรอขั้นตอนของป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคลียร์ปัญหา โดยทางบริษัทพร้อมจะดำเนินการทันที และพร้อมช่วยเหลือทุกอย่าง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: