ตรัง – ชาวบ้านเข้าแสดงความยินดีหน.อุทยานได้อยู่ที่เดิม ด้านหัวหน้าอุทยานฯระบุเร่งเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว รองรับสนามบินนานาชาติ จ.ตรัง ซึ่งเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะมีแผนจะผลักดันการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายหาดปากเมงให้เทียบเท่าอ่าวนาง จ.กระบี่ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดึงรายได้เข้าจังหวัด ยืนยันทุกแผนพัฒนาจะต้องมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
จากกรณีชาวบ้าน และองค์กรเครือข่ายประมงพื้นบ้านจาก 5 อำเภอ เรียกร้องไม่ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย้ายนายพริษฐ์ นราสฤกษฎ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 10 เดือนเท่านั้น โดยระบุเป็นดี ขยันทำงาน เข้ากับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันระหว่างชาวบ้านกับอุทยานฯ ไม่มีผลประโยชน์ จึงเรียกร้องให้อยู่ต่อ โดยคัดค้านไม่ให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ย้ายนายพริษฐ์ออกจากพื้นที่
ล่าสุด หลังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ลงนามคำสั่งให้นายพริษฐ์ เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมต่อไป สร้างความดีใจให้กับชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเป็นอย่างมาก จึงทำให้ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตัวแทนประมงพื้นที่จาก 5 อำเภอ นำโดยนายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เดินทางไปมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีและให้กำลังใจนายพริษฐ์ด้วย โดยยืนยันจะให้ความร่วมมือกับอุทยานฯในการพัฒนาพื้นที่ ขณะเดียวกัน บอกว่าดีใจหากทางอุทยานฯมีแผนจะยกระดับพัฒนาการท่องเที่ยวของจ.ตรัง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
- ชาวบ้านเอือมระอา!ไฟใต้จะจบปีไหน-บึ้ม อส.รปภ.ครูเจ็บ 3
- คึกคักวันแรก สมัครนายก อบจ.เชียงราย กองเชียร์ล้นทะลัก อาทิตาธร เบอร์ 1 สลักจิฤฏดิ์ เบอร์ 2
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
ทางด้านนายพริษฐ์ นราสฤกษฎ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า ผลจากการที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยรับฟังปัญหาจากชาวบ้านรวมทั้งแนวทางการพัฒนาก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาในหลายด้านทั้งทางบก และทางทะเล ซึ่งต้องคำนึงถึงการยกระดับชีวิตคุณภาพชุมชน ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากร ทั้งทางบกและทางทะเล ให้อยู่คู่กับพื้นที่ตลอดไป แต่ในการจัดการบริหารทั้งหมด จะต้องมีภาคประชาชนมามีส่วนร่วมในการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้กติกาและกฎหมายของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาหาดปากเมงให้เหมือนกับอ่าวนางจังหวัดกระบี่ ซึ่งแนวคิดนี้เกิดจากที่ ตนเองได้เข้าไปสัมผัสหลายๆในพื้นที่มา ซึ่งพื้นที่ปากเมงก็เป็นพื้นที่หนึ่ง ที่ตนเองพยายามจะเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมาย เราสามารถทำได้เปลี่ยนแปลงได้ซึ่งทุกกระบวนการทั้งหมด ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เป็นหลักอยู่แล้ว เรามีความมั่นใจว่าเรามีต้นทุน เรามีศักยภาพ ที่จะเป็นการท่องเที่ยวในเชิงรุกได้ แล้วตอนนี้ตนเองเริ่มนับหนึ่งแล้ว และจะเดินด้วยความต่อเนื่อง ให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ โดยเริ่มต้นจากมีการพูดคุยเวทีชาวบ้าน และผู้ประกอบการ ที่หน้าหาดปากเมง ซึ่งทุกคนตอบรับว่าจะเดินไปด้วยกัน ทุกคนเห็นด้วย และตอนนี้ที่ตนเองได้ทำงานมาเป็นระยะเวลา 10 เดือน ได้บริหารจัดการเรื่องของการใช้พื้นที่ โดยเฉพาะหน้าชายหาดอย่างต่อเนื่อง เหตุผลตนเองลงไปพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นที่หาดปากเมง หาดยาว ขอความร่วมมือว่าพื้นที่ที่ทำประโยชน์อยู่เป็นพื้นที่ของรัฐ แต่ต้องรักษาดูแลปกป้องทำประโยชน์ เพราะฉะนั้นในการทำประโยชน์มันจะต้องมีกติกา และมีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกราย ทางทะเลสัตว์ทะเลหายากไม่ว่าจะเป็นพะยูน หรือปลาที่มีค่า ตอนนี้เรามีการบริหารจัดการเบื้องต้นไปแล้ว ในการจัดระเบียบของการชมพะยูนไม่ว่าจะเป็นที่เขาแบนะ เกาะมุกด์ ได้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเข้ามากำหนดกติกา
ส่วนบนบกจะเน้นที่หาดปากเมงซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง หาดยาวก็มีการดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ในส่วนของทะเลตอนนี้เกาะกระดานก็ได้มีการปรับปรุง ปรับภูมิทัศน์ใหม่หมด เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในทางทะเล ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงถ้ำมรกต อาจจะมีโครงการในการทำท่าเทียบเรือลอยน้ำที่ ถ้ำมรกต เพื่อความสมบูรณ์ อำนวยความสะดวกในเรื่องการท่องเที่ยว การจัดระเบียบเรือต่างๆ ที่สามารถดูแลการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ ทั้งนี้ ตอนนี้เราจะมีสนามบินนานาชาติเพราะฉะนั้นการท่องเที่ยว จึงต้องเปิดในเชิงรุกในการประชาสัมพันธ์ ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อที่จะรองรับและตอบโจทย์การท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วก็ให้มีความประทับใจออกไป ซึ่งตนเองจะเน้นในเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหลัก เพื่อที่จะให้เขาได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทุกทาง และตรังเราถือเป็นศูนย์ Center และวงแหวนอันดามัน สามารถขึ้นไปถึงกระบี่ พังงา ภูเก็ต ลงไปจังหวัดสตูล เราพยายามให้ตรังเป็นศูนย์รวมของการท่องเที่ยวอันดามัน 6 จังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรังให้ความสนใจ แล้วความสำคัญในด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากและเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ดูแลบริการและนักท่องเที่ยวประทับใจ
ด้านนางหย๊ะ หมาดตุด บอกว่า ถ้าเกิดเขาทำอะไรขึ้นมาแล้วไม่กระทบกับชาวบ้านในชุมชน เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เราก็ไม่ว่าชาวบ้านยอมรับอยู่แล้ว แต่หากมากระทบกับธรรมชาติ ชาวบ้านเราก็ไม่เอา เพราะพวกเราเป็นเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ที่เราทำในเรื่องของด้านฟื้นฟูของการจัดการทรัพยากร หากชาวบ้านอยู่ได้เราก็อยู่ได้ กับรัฐที่เขาจะเข้ามาร่วมในชุมชน ในส่วนที่จะเข้ามาพัฒนาและยกระดับนั้น อันดับแรกเราก็จะดูสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในอันดับที่ 2 ต้องมีการเก็บข้อมูลให้ความสำคัญกับชุมชนด้วยถ้าไม่มีชุมชน เขาก็อยู่ไม่ได้
ขณะที่นายสุวุฒิ ทองย้อย เจ้าของร้านค้าริมชายหาดปากเมง กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายหาดปากเมงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเทียบเท่าอ่าวนาง จ.กระบี่ เพราะตนเองเข้ามาอยู่ทำมาหากินในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงขณะนี้เหมือนพื้นที่ถูกลืม การพัฒนาการท่องเที่ยวชายหาดปากเมงยังไม่ไปถึงไหน เฟื่องฟูเป็นครั้งคราว หากมีคนสำคัญเดินทางมา เหมือนที่คราวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมา พอนายกกลับไปทุกอย่างก็เงียบเหมือนเดิม อยากเห็นการพัฒนาที่ดีกว่านี้ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิดหน้าชูตาของจ.ตรัง หากยกระดับการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: