X

ผู้เลี้ยงหมูกระทบหนักราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำ สวนทางต้นทุนอาหาร วอนรัฐเร่งปราบขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน

ตรัง-ผู้เลี้ยงหมูกระทบหนักราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำต่อเนื่อง สวนทางต้นทุนที่ยังสูง ทั้งอาหาร การป้องกันโรค ASF  วอนรัฐดูแลค่าต้นทุนการเลี้ยง และเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เชื่อเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำราคาหมูตก

ปัญหาราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำต่อเนื่อง สวนทางกับต้นทุนการเลี้ยงที่ยังสูงมาก เหตุจากปัจจัยการผลิตทุกชนิดไม่ได้ปรับลดราคาลงตามราคาหมู  ขณะเดียวกันมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งเชื่อว่าส่วนที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดได้น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่อีกจำนวนมากน่าจะหลุดเข้าสู่ระบบการจำหน่าย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในขณะนี้

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู   โดยนายพรชัย  ศรีสุข  เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง    บอกว่า  ฟาร์มหมูของตนใช้อาหารหมูที่ผสมเอง ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้สำหรับผสมอาหารทุกชนิดมีราคาสูงมาก ในขณะที่ราคาหมูหน้าฟาร์มราคาลดลงมาก วันนี้ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 78 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 85-87 บาท และมีแนวโน้มว่าราคาจะลดลงอีกต่อเนื่อง จากเดิมราคาหมูหน้าฟาร์มเคยขึ้นไปที่ราคาสูงสุดตนเองขายได้กก.ละ 110 บาท แต่ขณะนี้ในทุกๆ วันพระราคาหมูหน้าฟาร์มจะลดต่ำลงวันพระละ  4 บาทต่อกิโลกรัม    ส่วนสาเหตุที่ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลง อาจเป็นเพราะช่วงที่ราคาหมูหน้าฟาร์มพุ่งสูงทำให้เกษตรกรหันเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น ทำให้มีหมูออกสู่ตลาดจำนวน ขณะเดียวกันมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามา เชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มราคาลดลง ซึ่งหมูเถื่อนที่จับกุมได้เชื่อว่าเป็นแค่บางส่วน เพราะเชื่อว่าคงจับกุมได้ทั้ง 100 % คงเป็นไปไม่ได้ จะต้องมีเล็ดลอดเข้าสู่ตลาดด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จับกุมผู้กระทำผิดได้ยาก เพราะเขาทำกันเป็นกระขบวนการ และทำเป็นอาชีพ  โดยขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง เฉลี่ยขาดทุนตัวละ 600-700 บาท  และเกษตรกรบางรายหยุดเลี้ยงไปแล้ว เพราะแบกรับภาระต้นทุนต่างๆไม่ไหว ส่วนฟาร์มของตนซึ่งมีหมูอยู่ในฟาร์มประมาณ 400 ตัว ยังพออยู่ได้่ เพราะใช้อาหารที่ผสมเอง โดยรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง  แต่วัตถุดิบที่นำมาผสมผลิตอาหารปรับขึ้นเยอะมากทุกชนิด เช่น กากเมล็ดในปาล์มน้ำมันปาล์ม ซึ่งซื้อได้จากในพื้นที่ จากกิโลกรัมละ 5 บาท ปรับเป็นกิโลกรัมละ 6.5 บาท , ปลาบ่น จากเดิมกิโลกรัมละ 29-30 บาท ปรับเป็นกิโลกรัมละ 40 บาท   เช่นเดียวกับวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างจังหวัดตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป  ทั้ง รำข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ก็ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน

นอกจากต้นทุนอาหารสัตว์แล้ว ยังมีต้นเรื่องการป้องกันโรคระบาด AFSในหมูด้วย  เกษตรกรต้องเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเต็มที่ ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อในฟาร์มปริมาณมาก ซึ่งฟาร์มของตนใช้ยาฆ่าเชื้อลิตรละ 200 กว่าบาท แต่เดิมเคยใช้ลิตรละกว่า 500 บาท ทุกครั้งที่จะเข้าในฟาร์มหมูเราต้องเปลี่ยนรองเท้า เสื้อผ้า อาบน้ำให้สะอาด ล้างเท้าด้วยยาฆ่าเชื้อ ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อฉีดพ่นรถทุกคันที่เข้าไปในฟาร์ม รวมทั้งฉีดพ่นภายในฟาร์มทุก 2-3 วัน และต้องเลี้ยงในระบบปิดห้ามบุคคลภายนอกเข้า  ทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับ  ทั้งนี้ หมูตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวันที่จับขายได้ จะกินอาหารประมาณตัวละ 210 กิโลกรัม ซึ่งหมูที่ขายได้จะมีน้ำหนักตัว 100-110 กิโลกรัม ซึ่งทุกฟาร์มล้วนประสบปัญหาขาดทุนเหมือนกัน ตนอยากให้รัฐเร่งแก้ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้วัตถุดิบต่างๆสูงขึ้น และอยากให้รัฐบาลเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างจริงจัง เชื่อว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เข้ามาซ้ำเติมเกษตรกร

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน