X

ผู้ค้าหมูผ่านโรงฆ่าสัตว์กระทบหนัก จากเขียงหมูทั่วไปผุดเป็นดอกเห็ด บางรายขายตัดราคาเขียงที่ทำตามกฎหมาย

ตรัง-ผู้ค้าแม่ค้าเขียงหมู รวมทั้งคนรับฆ่าหมูในโรงฆ่าสัตว์ส่งให้ลูกเขียง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเขียงหมูทั่วไปที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด หลังราคาหมูลดต่ำลง มีการขายตัดราคาเขียงหมูที่ปฏิบัติตามกฎหมายทำให้ทุกคนเดือดร้อนหนัก ขายหมูได้น้อยลง ไม่พอรายจ่ายและยังต้องถูกตรวจสอบคุณภาพหมูอย่างเคร่งครัดจากเจ้าหน้าที่ วอนขอความเป็นธรรม ตรวจสอบเขียงหมูทั่วไปด้วย

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจร้านจำหน่ายเนื้อหมู ภายในตลาดสดเทศบาลนครตรัง  หลังราคาหมูหน้าฟาร์มได้ลดต่ำลงจากเดิมเคยขึ้นราคาสูงสุดที่กก.ละ 110 บาท ขณะนี้ลดลงเหลือ กก.ละ 77 -78 บาท ว่าราคาหมูที่จำหน่ายตามเขียงต่าง ๆ ราคาลดลงหรือไม่   พบว่าทุกร้านราคาชิ้นส่วนหมูทุกประเภทลดลงมาแล้วประมาณ กก.ละ 10 -20 บาท   เช่น หมูเนื้อแดง จากเดิม กก.ละ 220 บาท ขณะนี้เหลือ กก.ละ 200 บาท , ซี่โครงหมูจากเดิมกก.ละ  190 บาท เหลือกก.ละ 180 บาท และหมูสามชั้น จากเดิม กก.ละ 240 บาท ขณะนี้เหลือกก.ละ  220 บาท แต่ปัญหาที่พบขณะนี้คือ ทั้งพ่อค้าคนกลางที่ทำหน้าที่รับจ้างฆ่าหมูในโรงฆ่าสัตว์ และพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูในตลาดสดเทศบาลนครตรัง  และในตลาดสดท่ากลาง  ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง  รวมประมาณกว่า 30 ราย  ซึ่งฆ่าหมูในโรงฆ่าสัตว์ ,  มีใบอนุญาตค้าสัตว์หรือซากสัตว์ซึ่งต้องต่อใบอนุญาตทุกปีและต้องเสียค่าธรรมเนียม ,  มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์,  ผ่านการตรวจเนื้อสัตว์โดยสัตว์แพทย์ตรวจโรคสัตว์  , การตรวจหาสารเร่งเนื้อแดง ต้องเสียภาษี และต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังราคาหมูลดลง  จึงทำให้มีพ่อค้า แม่ค้าเปิดเขียงขายหมูขึ้นทั่วไปตามจุดต่างๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  และเป็นหมูที่ไม่ได้ฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ ไม่มีใบอนุญาตค้าสัตว์ ไม่ผ่านการตรวจหาโรค ไม่ผ่านการตรวจหาสารเร่งเนื้อแดง หรือไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหมือนหมูที่ฆ่าจากโรงฆ่าสัตว์  ทำให้ใครก็สามารถเปิดเขียงขายหมูได้อย่างอิสระ ต้นทุนน้อย และขายในราคาที่ถูกกว่า ตัดราคาเขียงหมูที่ถูกต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยราคาต่างกันมากประมาณกก.ละ 40 -50 บาท   ทำให้พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูที่ขออนุญาตได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขายได้น้อยลง ต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎหมาย จึงวอนขอให้กรมปศุสัตว์ทำการตรวจสอบให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายเหมือนกัน เพื่อความเป็นธรรมและความปลอดภัยของผู้บริโภค

ทางด้านนางชาลี สุนทรนนท์  ซึ่งเป็นคนรับฆ่าหมูในโรงฆ่าสัตว์ส่งให้ลูกเขียง   กล่าวว่า  นอกจากพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูที่รับหมูไปขายถูกตัดราคาจากเขียงหมูทั่วไปที่ไม่ได้รับอนุญาตแล้ว  ทำให้ขายหมูได้น้อยลง ตนเองก็เช่นกันจากเดิมที่ฆ่าหมูต่อวันประมาณวันละ 100 ตัว ขณะนี้เหลือวันละประมาณ 50-60 ตัว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนหนัก  รายได้ไม่พอเงินเดือนลูกน้องในโรงฆ่าสัตว์ที่มีกว่า  20 คน   แต่ถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งคุณภาพหมู  และต้องปลอดภัย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ตรวจสอบ และให้ความเป็นธรรมกับทุกคนด้วย ที่สำคัญประชาชนผู้บริโภคได้รับประทานหมูที่ปลอดภัย เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับผู้ค้าหมูที่ได้จากโรงฆ่าสัตว์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน