X

ทึ่ง! ต้นมันช้างคู่ ขนาดยักษ์ 16 คนโอบ อายุ 400 ปี ในสวนไม้ผล-ไม้ป่าพื้นเมือง ที่สวนตาจันทร์

ตรัง ชวนเที่ยวชมเที่ยวชิม “สวนตาจันทร์” ริมเทือกเขาบรรทัด แหล่งรวมไม้ผล และไม้ป่าพื้นเมือง ที่หลายต้นมีอายุยืนนาน 100-400 ปี โดยเฉพาะต้นมันช้าง หรือต้นสมพง ขนาด 16 คนโอบ ที่ใหญ่สุดใน อ.นาโยง

 

สวนตาจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ริมเทือกเขาบรรทัด รอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง-พัทลุง ในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านห้วยทรายขาว ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง กำลังเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่กำลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อรองรับการมาเยือนผู้คนที่รักในความเป็นธรรมชาติ เนื่องจากสวนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของไม้ผล และไม้ป่าพื้นเมืองที่หลายต้นมีอายุยืนนาน 100-400 ปี อาทิ ต้นทุเรียนบ้าน ที่ตั้งชื่อตามสภาพของต้นว่า หัวล้าน และสีหมอก โดยยังคงให้ผลผลิตปีละไม่น้อยกว่า 200-300 ลูก รวมทั้งต้นจำปาดะ ลางสาด ลองกอง มังคุด มะปริง บึ้ง สะตอ ระกำ รวมทั้งฝูงผึ้งป่า และอีกมากมายสารพัด ซึ่งชาวปักษ์ใต้จะเรียกกันว่า สวนสมรม หรือสวนผสมสนาน

แต่ที่เห็นจะได้รับความสนใจจากผู้คนมากที่สุดก็คือ ต้นมันช้าง หรือต้นสมพง ซึ่งขึ้นอยู่คู่กันบริเวณปากทางเข้าสวน และถือว่าเป็นต้นมันช้างที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โดยต้นแรกซึ่งใหญ่ที่สุด อายุประมาณ 400 ปี และเชื่อว่าเป็นต้นตัวผู้ มีขนาด 16 คนโอบ หรือวัดเส้นรอบวงของลำต้นได้ 32 เมตร ส่วนอีกต้นซึ่งใหญ่รองมา อายุประมาณ 300 ปี และเชื่อว่าเป็นต้นตัวเมีย มีขนาด 14 คนโอบ หรือวัดเส้นรอบวงของลำต้นได้ 28 เมตร โดยต้นมันช้างทั้งคู่ยังคงตั้งยืนเด่นตระหง่าน ด้วยสภาพลำต้นที่ตรง ทรงสวย สมบูรณ์ แข็งแรง แม้จะเคยมีผู้พยายามมาติดต่อขอซื้อไม้ แต่ทางเจ้าของสวนก็ไม่ยอมขาย เพราะต้องการอนุรักษ์ไม้ป่าชนิดนี้เอาไว้ให้อยู่คู่กับชุมชน

ทั้งนี้ สวนตาจันทร์ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่มีอายุยาวนานมาเกือบ 200 ปี หรือ 5 ชั่วอายุคนแล้ว เริ่มต้นโดยทวดบาบามี ซึ่งเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาบุกเบิก แต่มาโด่งดังในรุ่นหลานคือ นายจันทร์ ทองสำลี เนื่องจากเป็นผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ จึงมักจะมีผู้เรียกชื่อกันอย่างติดปากว่า สวนตาจันทร์ จนกระทั่งมาถึงรุ่นล่าสุด รุ่นโหลน คือ “น้าหมี” นายสถิตย์ รัมนา อายุ 52 ปี ได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านห้วยทรายขาว พัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะภายในสวนมีของดีๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างมากมาย ซึ่งหาชมหาชิมได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเส้นทางได้ที่ “น้าหมี” โทร.(087) 270-0409 หรือ (063) 459-7029

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน