X

ชาวตรังน้อมรำลึก 110 ปี นำหมูย่างเช็งเม้งพระยารัษฎาฯ อดีตเจ้าเมืองตรัง บิดาแห่งยางพาราไทย

ตรัง ชาวตรังทุกภาคส่วน น้อมรำลึก 110 ปี เชงเม้งหมูย่าง พระยารัษฎาฯ อดีตเจ้าเมืองตรัง บิดาแห่งยางพาราไทย เสริมสิริมงคลจุดประทัดสองแสนนัด ส่วนราชการ เอกชน ลูกหลานพระยาร่วมงานคับคั่ง บริษัทเบียนเจง ณ ระนอง กับภรรยาและญาติมิตรจำกัด ได้บริจาคเงิน 50,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลตรัง เพื่อสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัดโรงเรียนเทศบาลนครตรัง จำนวน 8 ทุน ทุนละ 2,000 บาทอีกด้วย

วันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) จังหวัดตรัง เทศบาลนครตรัง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง โดยมีนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านปฏิบัติการ นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง ราษฎรและข้าราชการ ร่วมทำพิธีรำลึก 110 ปี นำหมูย่าง อาหารคาวหวาน ผลไม้ กระดาษเงินกระดาษทองพิธีเชงเม้ง และจุดประทัดสองแสนนัดเสริมสิริมงคล พร้อมวางพวงมาลา สักการะ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ “อดีตเจ้าเมืองตรัง” “บิดายางพาราไทย” เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูต่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ โดยพวงมาลาส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา อาทิ หมอนยางพารา ถุงมือยาง พร้อมรูปถ่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ฯ ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เห็นชอบให้วันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็นวันยางพาราแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันถึงแก่อนิจกรรม ของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้ริเริ่มแนวคิดนำยางพารามาเป็นพืชเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดอาชีพชาวสวนยาง สร้างรายได้จากการทำสวนยางในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รวมถึง เป็นการเชิดชูเกียรติ

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง เมื่อปี 2433-2445 เป็นเวลา 12 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ได้สร้างคุณงามความดีให้แก่ชาวตรัง จนได้รับสมญานามว่า เจ้าแห่งการพัฒนา เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานความเจริญก้าวหน้าในหลายด้าน อาทิ ด้านการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ศึกษาการปลูกและทำยางพาราจากประเทศมาเลเซีย โดยนำพันธุ์ยางพาราเข้ามาปลูกในอำเภอกันตังเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย และอาชีพการทำสวนยางพารา ได้กลายเป็นอาชีพหลักของชาวตรังทุกวันนี้ และยังมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟ พริกไทย พืชผักสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น จนท่านได้รับการขนานนามว่า “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาล บิดายางพาราไทย” ทางด้านการคมนาคม มีการสร้างท่าเทียบเรือที่อำเภอกันตัง เปิดทำการค้ากับต่างประเทศ มีการตัดถนนที่เชื่อมระหว่างตรังกับพัทลุง ตัดผ่านเทือกเขาบรรทัด ช่วงที่เรียกกันว่า เขาพับผ้า ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญของภาคใต้ในปัจจุบัน พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน พุทธศักราช 2456 รวมสิริอายุได้ 56 ปี รัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดสร้างอนุสาวรีย์ ณ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งตำหนักผ่อนกาย ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง และในวันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็น “วันพระยารัษฎานุประดิษฐ์” จัดให้มีการประกอบพิธีทางศาสนา ร่วมทำพิธีรำลึก 110 ปี พิธีเชงเม้ง และวางพวงมาลา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
นอกจากนี้ทางบริษัทเบียนเจง ณ ระนอง กับภรรยาและญาติมิตรจำกัด ได้บริจาคเงิน 50,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลตรัง เพื่อสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัดโรงเรียนเทศบาลนครตรัง จำนวน 8 ทุน ทุนละ 2,000 บาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน