ตรัง โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ค่าไฟพุ่งจากเดือนละประมาณ 1 ล้านบาทต่อโรง พุ่งเป็นเดือนละประมาณ 1.4 -1.5 ล้านบาทต่อโรง ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเจ้าของสวนยางพารา ทำราคาไม้ยางพาราราคาตกจากตันละ 1,500 บาทเหลือประมาณตันละ 1,000 บาท ระบุรัฐควรยกเลิกการเรียกเก็บค่า FT เพราะถือเป็นการเก็บซ้ำซ้อน และรัฐควรส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล 1 อำเภอ 1 โรงงานไฟฟ้าชีวมวล สามารถแก้ปัญหาค่าไฟแพงช่วยประชาชน และช่วยเกษตรกรได้ เพราะใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบในพื้นที่
ที่บริษัท เอสดีที พาราวู้ด จำกัด สาขารัษฎา ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา 1 ใน 5 โรงงานของนายเสน่ห์ ทองศักดิ์ เจ้าของผู้ประกอบการ นำผู้สื่อข่าวดูกระบวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูป เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ โดยตลาดหลัก 90% คือ ประเทศจีน ส่วนอีก 10% ใช้ในประเทศ
โดยนายเสน่ห์ บอกว่า ตนเองมีโรงงานทั้งหมด 5 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย จ.ตรัง 2 แห่ง ,จ.พัทลุง 1 แห่ง ,จ.นครศรีธรรมราช 1 แห่ง ส่วนอีก 1 แห่ง เป็นโรงงานวู้ดพาเลซ ทำขี้เลื่อยอัดเม็ด แต่ละโรงงานมีพนักงานประมาณ 250 คนต่อโรง และต้องทำงานโดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานหลัก ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และค่า FT ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน จนถึงขณะนี้ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกชนิดได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% เช่น โรงงานของตนเอง พบว่าการใช้ไฟเมื่อเปรียบเทียบกันของเดือนมกราคม- มีนาคม 2565 กับมกราคม – มีนาคม 2566 พบว่า ค่าไฟต่อโรงต้นปี 2565 เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ต้นปี 2566 ขณะนี้ค่าไฟต่อโรงตกเดือนละประมาณ 1.4 -1.5 ล้านบาท หรือเดิมตนต้องจ่ายค่าไฟทั้ง 5 โรง รวมประมาณเดือนละ 5 ล้านบาท ตอนนี้ต้องมาจ่ายรวมประมาณเดือนละกว่า 7 ล้านบาท ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ทางรอดก็คือ การลดราคาวัตถุดิบ (ไม้ยางพารา) จากชาวสวน เดิมก่อนหน้านี้ 2-3 ปี ราคาไม้ยางอยู่ที่ตันละ 1,500 บาท แต่ขณะนี้หลังพลังงานแพงราคาต้องปรับลดลงเหลือตันละ 1,000 บาท หรือไม่เกินตันละ 1,000 บาท ซึ่งไม้ยางพารา 1 ไร่ ได้น้ำหนักไม้ยางพาราประมาณ 30 ตัน เดิมชาวสวนขายได้ประมาณไร่ละ 45,000 บาท ตอนนี้เหลือไร่ละประมาณ 30,000 บาท ราคาชาวสวนหายไปไร่ละ 15,000 บาท หรือรายได้ชาวสวนหายไปประมาณ 40 – 50%
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
ทั้งนี้ทางประกอบการไม่สามารถจะปรับขึ้นราคาสินค้าที่ส่งขายต่างประเทศได้ เพราะเป็นเรื่องของการแข่งขัน แต่เกษตรกรจะได้รับผลกระทบโดยตรง เช่นเดียวกับโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราทุกแห่ง และอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องคำนึงถึงการแข่งขัน เมื่อต้นทุนสูงก็ต้องหาทางปรับลดต้นทุนการผลิตดังกล่าว ทำให้เกษตรกรทุกประเภท ซึ่งเป็นต้นน้ำได้รับผลกระทบโดยตรง และขณะนี้ พรรคการเมืองก็มีการหาเสียงเรื่องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยไม่ได้คำนึงถึงผู้ประกอบการ ในอนาคตอาจกระทบหนักเพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้ประกอบการลดพนักงาน ลดสวัสดิการ และล่าสุด ที่มีการประชุมและปรับลดค่าไฟลงเล็กน้อย มองว่าแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย ยังคงไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟ ส่วนตัวมองว่าการไฟฟ้าและรัฐควรหาทางแก้ที่ดีกว่านี้ เช่น การยกเลิกค่า FT เพราะส่วนตัวมองว่าเป็นการเก็บซ้ำซ้อน เพราะมีการเก็บภาษี เก็บค่าไฟหลักอยู่แล้ว ไม่ควรเก็บอีก
นายเสน่ห์ ทองศักดิ์ เจ้าของผู้ประกอบการ บอกอีกว่า ส่วนแผนการติดตั้งโซล่าเซลหลายโรงงานก็พยายามจะทำ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่คุ้มการลงทุน เพราะบ้านเราฝนแปดแดดสี่ จากการสอบถามคนที่ลงทุนติดตั้งโซล่าเซลและคำนวณดูแล้วพบว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน เพราะหากลงทุนต้องใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาทต่อโรง ตนเองมีโรงงาน 5 แห่ง ต้องลงทุนเป็น 100% ล้านบาท ไม่คุ้มทุน ทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน เรื่องค่าไฟแพง คือ รัฐควรจะส่งเสริมให้ 1 อำเภอมี 1 โรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยนำวัตถุดิบในพื้นที่มาเป็นพลังงาน ประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูกลง และเป็นการยกระดับช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่นำมาป้อนโรงงานให้ได้ราคาที่ดีขึ้น ทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีขึ้นได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: