ตรัง-เกษตรกรเลี้ยงกุ้งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐหลังราคายังตกต่ำอย่างหนัก เชื่อสาเหตุเกิดจากการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ วอนรัฐยกเลิกการนำเข้า แม้จะออกมาเคลื่อนไหวพร้อมกันหลายจังหวัดตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา แต่ความช่วยเหลือยังล่าช้า และการส่งเสริมการเลี้ยงเป้าหมาย 400,000 ตันในปีนี้ กับราคาที่ตกต่ำ อาจทำให้เกษตรกรล้มหายไปจากสารบบอีกนับไม่ถ้วน
นายเจริญ หยงสตาร์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่ ต.สุโส๊ะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นำดูคนงานจากแพเข้าจับกุ้ง ขนาด 82 ตัว/กก.ในราคากก.ละ 105 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าทุน ซึ่งปกติกุ้งขนาดดังกล่าวจะขายได้ราคาประมาณกก.ละ 140 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ทำการจับกุ้งขายไปแล้วจำนวน 5 บ่อ รวมทั้งหมด 6 บ่อ ปริมาณกุ้งทั้งหมดรวมประมาณ 5 ตัน เฉลี่ยขาดทุนไปกก.ละ 40-50 บาท คิดเป็นเงินนับล้านบาท แม้ราคาเป็นอย่างนี้แต่ก็ต้องเร่งจับ เพราะลดภาวะขาดทุน เพราะราคาก็ยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับขณะเป็นช่วงที่สภาพอากาศอากาศเปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน ทำให้เสี่ยงที่กุ้งจะเกิดโรค ยิ่งต้องเผชิญกับภาวการณ์เลี้ยงที่ยากมากที่สุดของเกษตรกร
ทั้งนี้ หลังจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งช่วยกันออกมาเรียกร้อง ทางคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) คุยกับกรมการค้าภายในบอกว่าจะเร่งช่วยเหลือ เหมือนโครงการปี 2564 ในการชดเชยส่วนต่างกก.ละ 20 บาท แต่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้จริง คงจะประมาณเดือนกรกฎาคม เนื่องจากขั้นตอน.แต่กุ้งที่เลี้ยงไว้หากถึงกำหนด 3 เดือน ก็ต้องจับขาย หากฝืนเลี้ยงต่อไปรอมาตรการช่วยเหลือจะยิ่งทำให้ขาดทุนหนัก ทั้งนี้ รัฐควรจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ทั้งด้านราคา และลดต้นทุนการผลิต ทั้งอาหาร วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้กับบ่อกุ้ง เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งค่าพลังงาน ก๊าซ และไฟฟ้า ซึ่งเกษตรกรเลี้ยงกุ้งทั่วประเทศรวมประมาณ 35 จังหวัด ต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเช่นกัน ทั้งค่าอาหารที่แพงขึ้น ค่าก๊าซ น้ำมัน รวมทั้งค่าไฟ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นสูงกว่า 20 -30 %
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรังศก.ฝืด-นทท.หาย ปธ.ชมรมร้านอาหาร ดิ้นประคองตัว ชวนทุกร้านร่วมออกแคมเปญดึงลูกค้า จี้รบ.-สายการบิน ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว
- จ่อรอบสอง 5-11 ธ.ค.ยังไหวมั้ย? ทหารพราน 45 ล้างห้องเรียนในโรงเรียน
- สูญพันธุ์แน่! พะยูนตรัง ตายเพิ่มวันเดียว 2 ตัว ผลผ่าซากพบผอมโซ อ่อนแอจนเพรียงเกาะ เครือข่ายอนุรักษ์ ชี้ เข้าภาวะวิกฤตแล้ว
- สุดภูมิใจ! ยูเนสโกจ่อขึ้นทะเบียนเมนู “ต้มยำกุ้งไทย” มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ร้านอาหารดังเมืองตรัง ดัน “กุ้งแม่น้ำตรัง“ ขึ้นโต๊ะเสริฟ…
ทางด้านนางสาวศิษฎศรี หยงสตาร์ เจ้าของร้าน “ วังศิลาเคมีภัณฑ์” อ.ปะเหลียน ซึ่งจำหน่ายอาหาร วัสดุ และเวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ สำหรับการเลี้ยงกุ้งรายใหญ่ใน จ.ตรัง บอกว่า สินค้าทุกชนิดที่จำเป็นต่อการเลี้ยงกุ้ง ทั้งอาหาร เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์เตรียมบ่อทุกอย่าง ต่างพากันปรับราคาขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2565 แต่ขณะนี้ บางชนิดปรับราคามาบ้างเล็กน้อย ตามค่าเงินบาท และภาวะราคาน้ำมันโลก แต่ราคายังสูง และแนวโน้มราคาปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับราคากุ้ง ถ้าราคากุ้งดีแม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่คนเลี้ยงก็พอรับได้ แต่ถ้าราคากุ้งตกต่ำอย่างนี้ และต้องมาเจอกับสภาวะอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากหน้าร้อนเป็นหน้าฝน ทั้งร้อนกลางวันสลับฝนตก เป็นช่วงที่กุ้งเลี้ยงยากที่สุด ยิ่งเสี่ยงโรคเพิ่มขึ้น รัฐควรช่วยเรื่องราคา สนับสนุนเรื่องการส่งออก ไม่ควรนำเข้ามาตีกุ้งในประเทศ เพราะในประเทศเราก็มีผลผลิตกุ้งเพียงพอ อยากให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหา เพราะผู้เลี้ยงเสี่ยงมาก อยู่กับสิ่งมีชีวิตเป็นล้านๆตัวในน้ำ
– จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่ผลิตกุ้งทะเลได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจาก จ.จันทบุรี และสุราษฏร์ธานี มีพื้นที่การเลี้ยง 8,600 ไร่ เกษตรกร 503 ราย รวม 2,400 บ่อ ผลิตกุ้งได้ 25,000 ตัน /ปี โดยในปี 2565 ผลิตได้ประมาณ 20,113 ตัน และในปี 2566 ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2566 มีผลผลิตประมาณ 6,000 ตัน ขณะที่ Shrimp Board จัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 65 มีเป้าหมาย 320,000 ตัน และปี 66 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย แต่ขณะนี้ต้องมาประสบปัญหาวิกฤติด้านราคา ทำให้ทุกคนวิตกกังวล หากรัฐไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเชื่ออาจทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง อาจต้องกระทบเลิกเลี้ยงไปจำนวนมากปลายปีนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: