ตรัง-ยุติธรรมจังหวัดตรัง เข้าช่วยเยาวชนหญิงสู้คดี หลังเข้าร้องถูกสวมรอยเปิดบัญชีม้า โดนฉ้อโกง 6 คดี ใช้กองทุนยธ.เข้าข่วย ตั้งทนาย-ค่าใช้จ่ายคดี เตือนปชช.ระวังธุรกรรมออนไลน์ธนาคาร ธนาคารดังยังเงียบส่งข้อมูลเปิดบัญชี
ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดตรัง ถนนจริงจิตร ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง ครอบครัวเยาวชนนักศึกษาวัย 17 ปี ชาว ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นำโดยนายวิทยา เพชรพริ้ง พ่อ นางสาวเบญจวรรณ บัวทอง ( แม่ ) และ น้องฝน ลูกสาว อายุ 17 ปี บุตรสาว นักศึกษาชั้น ปวช. 3 วิทยาลัยแห่งหนึ่ง เข้าร้องขอความเป็นธรรมจากนางวิพรรัตน์ รัตนะ รักษาราชการแทนยุติธรรมจังหวัดตรัง หลังยืนยันตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2565 ถูกมิจฉาชีพซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ เบอร์ 062–5268700 โดยหลักฐานเลขบัตรประชาชน 13 หลัก 4 ตัวหลังเจ้าของซิมการ์ด ไม่ตรงกับเลขบัตรประชาชน 13 หลักของน้องฝน จากนั้นนำหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวไปเปิดบัญชีออนไลน์ กับธนาคารกรุงเทพ สาขาตรัง เลขบัญชี 9800534985 จากนั้นมิจฉาชีพได้นำหมายเลขบัญชีไปหลอกประชาชนลงทุน จนมีคนตกเป็นเหยื่อหลายราย และน้องถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกง ,ฉ้อโกง ,ผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมแล้วประมาณ 6 คดี เป็นเงินหลายแสนบาท
โดยคดีแรก ที่ สน.คันนายาว กรุงเทพฯ เป็นเงิน 80,000 บาท แต่ตำรวจกันน้องไว้เป็นพยาน เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ และที่สภ.นครราชสีมา เป็นเงิน 220,000 บาท ซึ่งเจ้าทุกข์ยืนยันจะดำเนินคดี จนตอนนี้ถูกส่งฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งทางครอบครัวได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 5,000 บาท ยื่นประกันตัวน้องออกมา และยังต้องรายงานตัวกับศาลเด็กและเยาวชนนครราชสีมาเป็นระยะๆ และต้องเดินทางไปขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ส่วนอีก 4 คดีที่ตรวจสอบพบ คือ จ.เชียงใหม่ ,จ.ขอนแก่น และจ.อุดรธานี 2 คดีนั้น ขณะนี้ทางตำรวจยังไม่ได้ออกหมายเรียกมาถึง ซึ่งทั้งหมดทำครอบควัวเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เสียเงินเสียทอง ต้องกู้หนี้ยืมสิน เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาและขึ้นศาล ขณะที่น้องต้องเสียสมาธิในการเรียน และมีคดีติดตัว ซึ่งทางน้องและครอบครัว ระบุ แรกเริ่มที่ธนาคารกรุงเทพ ส่งหนังสือแจ้งการอายัติบัญชีไป ทางครอบครัวและน้องไม่สนใจ โดยคิดว่าเป็นหนังสือจากแก๊งมิจฉาชีพ เพราะส่วนตัวไม่เคยเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงเทพ สาขาตรังแต่ประการใด จนกระทั่งมีหมายเรียกจากโรงพักต่างๆ จึงตกใจเข้าปรึกษาตำรวจท้องที่ จนทราบว่ามีคดีติดตัวดังกล่าว
ทั้งนี้ เข้าร้องขอความเป็นธรรมจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดตรัง หลังยืนยันตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างชื่อเปิดบัญชีออนไลน์กับธนาคารกรุงเทพ สาขาตรัง จากนั้นนำเลขบัญชีไปหลอกเหยื่อร่วมลงทุน ทำต้องถูกดำเนินคดีรวมประมาณ 6 คดี โดยน้องยืนยันมีคนไปซื้อซิมโทรศัพท์โทรศัพท์มือ แต่เลขบัตรประชาชน 13 หลัก 4 ตัวข้างหลังของน้องกับเจ้าของซิมโทรศัพท์ไม่ตรงกัน แต่นำเบอร์โทรดังกล่าวไปเปิดบัญชีออนไลน์ โดยที่ธนาคารกรุงเทพฯ ยังไม่ยอมส่งมอบข้อมูลหลักฐานการเปิดบัญชีออนไลน์ทางโทรศัพท์กับน้องเยาวชนแม้จะนำใบบันทึกแจ้งความจาก สภ.ห้วยยอดไปยื่นขอหลักฐานการเปิดบัญชีออนไลน์ดังกล่าว และขอสเตทเม้นความเคลื่อนไหวของบัญชีแม้จะยื่นขอมาแล้วเกือบ 1 ปี ทางด้านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดยื่นมือช่วยเหลือทั้งการแต่งตั้งทนาย การสอบปากคำรวบรวมหลักฐาน เพื่อส่งไปให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครราชสีมาช่วยเหลือ เนื่องจากน้องถูกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว จ.นครราชสีมา
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- กอ.รมน. จ. ขอนแก่น กวดขัน แรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย
นางวิพรรัตน์ รัตนะ รักษาราชการแทนยุติธรรมจังหวัดตรัง บอกว่า หลังรับเรื่องแล้วก็ให้ความช่วยเหลือน้อง ด้วยการจัดทนายความให้คำปรึกษาผ่านคลินิกยุติธรรม นอกจากนั้นจะให้ความช่วยเหลือด้านกองทุนยุติธรรมในการปล่อยตัวชั่วคราว และในเรื่องของเงินช่วยในค่าทนายความ หรือค่าฤชาต่างๆ ซึ่งคดีของน้องเหตุเกิดที่ จ.นครราชสีมา ทางสำนักงานยุติธรรมจังหวัดตรังจะรับซื้อและสอบปากคำน้อง และจะส่งต่อการขอรับความช่วยเหลือไปที่สำนักงานยุติธรรมนครราชสีมาต่อไป
นอกจากนั้นหากยังมีหมายเรียกจากจังหวัดอื่นอีก ขอให้น้องมาแจ้งเจ้าหน้าที่ก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนั้นๆต่อไปด้วย เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมกับน้องและครอบครัว โดยยอมรับขณะนี้การที่ธนาคารให้เปิดบัญชีออนไลน์ได้ โดยไม่มีมาตรการรองรับความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่งผลเสียหายต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งประชาชนก็ควรระมัดระวัง นอกจากนั้นมีประชาชนมาร้องขอความช่วยเหลือจากการที่ได้รับความเดือดร้อนด้านคดีความหลายคดีเช่นกัน เช่น ขอความช่วยเหลือในเรื่องค่าทนายความ และค่าฤชาธรรมเนียม การปล่อยตัวชั่วคราว ในกรณีที่กระทำผิดคดีอาญาแล้วไม่มีเงินในการประกันตัวในชั้นศาลก็มาขอยื่นรับความช่วยเหลือ แต่ในการให้ความช่วยเหลือก็จะมีคณะอนุกรรมการให้ความเหลือประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่า ในกรณีของผู้รับความเดือดร้อนแต่ละคนใครจะได้รับความช่วยเหลือได้ เพราะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกองทุนยุติธรรมกำหนด เช่น ฐานะยากจน มีความเดือดร้อน นอกจากพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมแล้วก็ยังมีพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: