X

“ไม้กฤษณา” ไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ ชาวบ้านย่านตาขาว-ตรัง ลุยปลุก กลั่นเป็นน้ำมันกฤษณา ส่งขายตปท.สร้างรายได้เดือน 2 ล้าน

ตรัง-น้ำมันหอมจากไม้กฤษณา รวมทั้งชิ้นส่วนไม้หอม สินค้าส่งออกของชาวบ้าน ต.ในควน อ.ย่านตาขาว ส่งขายทุกประเทศแถบตะวันออกกลางหรือชาติอาหรับ โดยน้ำมันหอมของภาคใต้ จ.ตรัง คุณภาพสูง ทำยอดขายถล่มทลายเดือนละประมาณ 2 ล้านบาท แต่ยังขาดการส่งเสริมจากภาครัฐ หากเพิ่มกำลังการผลิตได้จะยิ่งส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อีกมาก เพราะตลาดต้องการสูง  ซึ่งยุคหนึ่งรัฐเคยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้กฤษณา  เพราะมองว่าเป็นไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง

ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้กฤษณาแปรรูป บ้านไม้หอม หมู่ที่ 1 ตำบลในควน อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ซึ่งสมาชิกกว่า 10 คน ได้รวมกลุ่มกันปลูกไม้กฤษฎา แซมในสวนยางพารามาเกือบ 20 ปี  เนื้อที่รวมแล้วประมาณ 50 ไร่   ซึ่งปัจจุบันได้ทำน้ำมันกฤษณาส่งขายทั้งตลาดกลางของไทย ซึ่งอยู่ที่ย่านซอยนานา กรุงเทพฯ และส่งขายไกลถึงต่างแดนแถบประเทศอาหรับ ตะวันออกกลางไม่ต่ำกว่า 8 ประเทศ ทั้ง ดูไบ  อินเดีย  คูเวต ฯลฯซึ่งมีพ่อค้าคนกลางออเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยคุณสมบัติกลิ่นหอมมากกว่าแหล่งอื่นในประเทศไทย

ทั้งนี้ ต้นกฤษณาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน  โดยทางกลุ่มได้นำไปดูแปลงขยายพันธุ์เพื่อไว้จำหน่าย ในราคาเริ่มต้น ต้นละ 20 บาท  รวมทั้งดูแปลงปลูกของสมาชิกในกลุ่ม, ดูวิธีการเจาะต้นกฤษณา เพื่อให้ได้แก่นมาสกัดทำเป็นน้ำมันหอมระเหยส่งขาย  , ขายเป็นชิ้นส่วนของแก่น นำไปเผาไฟ เพื่อให้กลิ่นหอม ,ส่วนของใบไม้กฤษณา นับจากใบที่ 3 -7 (นับจากยอดอ่อน) สามารถนำไปตากแห้งทำชากฤษณาขายด้วย รวมทั้งนำส่วนของน้ำซึ่งยังมีกลิ่นหอม มาแปรรูปทำ ผลิตภัณฑ์ต่างๆด้วย และนำชมกระบวนการผลิตสกัดน้ำมันหอมระเหยของกลุ่ม

นางพัชรินทร์ นามเทวี อายุ 52 ปี รองประธานฯ บอกว่า  ต้นกล้าพันธุ์ให้คนถอนมาจากบนภูเขา หรือจากแปลงปลูกของสมาชิก จากนั้นนำมาชำไว้ในถุง  ไว้จำหน่ายด้วย เริ่มต้นที่ราคาต้นละ 20 บาท โดยต้นกฤษณา 1 ต้น เมื่อตัดโค่นเอาแก่นไม้มากลั่นเอาน้ำมัน สามารถเอาไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง  เช่น ใบเอาไปทำชา  ส่วนของต้นเอาไปทำธูปหอม เอาไปกลั่นทำน้ำหอม ซึ่งคนที่ชื่นชอบกลิ่นกฤษณาคือ ชาวอาหรับ ตะวันออกกลาง  คนไทยไม่นิยมกลิ่นกฤษณา และถือเป็นต้นไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง แต่ยังขาดการส่งเสริมอย่างจริงจังทั้งการปลูก และโดยเฉพาะการแปรรูป  แต่เฉพาะพื้นที่นี้ ชาวบ้านนิยมปลูกกัน บางคนปลูกนับ 10   ไร่ อย่างแปลงนี้ของญาติตน  เดิมปลูกแซมในสวนยาง แต่พอยางอายุได้ประมาณ 15 ปี ญาติก็ยอมตัดโค่นยางทิ้ง เพื่อเหลือไว้แต่ต้นกฤษณา  ซึ่งไม้กฤษณาความจริงจะต้องใช้เวลานับสิบๆปี แต่หากเราจะนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อนำไปกลั่นทำน้ำมัน เพียง 5 ปี ก็สามารถใช้ได้แล้ว เพียงแต่จะต้องเจาะเอาไว้ตั้งแต่อายุต้นได้ประมาณ 2 ปี พอ 5 ปีก็ตัดเอาไปใช้ได้  หรือโดยรวมเมื่อเจาะ หรือทำตำหนิที่ลำต้นแล้วใช้เวลาประมาณ 2 ปีขึ้นไป จึงจะได้แก่นไม้มาสกัดเอาน้ำมันหอมจำหน่าย  ซึ่งในการปลูกและการทำ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร  เพียงแต่มีความรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ของมัน ก็ทำได้  โดยผู้ชายจะเป็นคนเจาะลำต้น  เพราะต้องออกแรง  ญาติๆปลูกไม้กฤษณาไว้จำนวนมาก แซมไว้ในสวนยาง เอามาป้อนให้กับกลุ่มแปรรูป ถือเป็นกลุ่มเดียวในจ.ตรัง และเป็นแหล่งใหญ่ของภาคใต้  มีคนมาศึกษาดูงานไม่ขาดสาย


ด้านนายอดิศักดิ์ เอียดตรง อายุ 53 ปี  1 ในสมาชิกของกลุ่ม ฯ   นำดูวิธีการ ขั้นตอนการเจาะกว่าจะได้แก่นไม้กฤษณา ในสวนยางของตนเอง เนื้อที่ 7 ไร่   โดยได้ปลูกแซมด้วยต้นกฤษณาไว้เต็มพื้นที่รวมประมาณ 200 ตัน ตอนนี้อายุได้กว่า 10 ปีแล้ว ได้ประโยชน์ทั้งสวนยาง และไม้กฤษณา  โดยบอกว่า ไม้กฤษณาเป็นไม้ไว้สำหรับใช้สอย ที่ยุคหนึ่งรัฐเคยส่งเสริมให้มีการปลูก แต่ไม่ได้ส่งเสริมการแปรรูปอย่างจริงจัง   ของตนเจาะด้วยไม้ไผ่ ผ่านมาแล้ว  2 ปี ก็สามารถตัดแก่นมาสกัดเป็นน้ำมันได้แล้ว  แต่หากยิ่งไว้นานแก่นจะยิ่งแก่ปริมาณน้ำมันจะยิ่งมาก มูลค่าแต่ละต้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันหอมระเหยที่ได้ ราคาหลักร้อย -หลักแสนบาทต่อต้นก็มี

ทางด้านนายอนันต์ เอียดตรง อายุ 72 ปี ประธานกลุ่มฯ นำดูการผลิต และสาธิตการเอาไม้กฤษณาเผาไฟ เพื่อให้ได้กลิ่นหอมที่ชาวอาหรับนิยม   บอกว่า ขั้นตอนการทำ เมื่อได้แก่นไม้กฤษณาแล้วจากนั้นเอามาสับ แล้วนำไปหมัก จากนั้นนำมาบด แล้วนำไปต้มกลั่น สกัดออกมาเป็นน้ำมัน ในการสกัดน้ำมันหอม จะได้ออกมา 2 ชั้น  คือ ชั้นบน จะเป็นส่วนของน้ำมัน  ส่วนชั้นล่าง จะเป็นส่วนของน้ำ  โดยน้ำมันกฤษณา ขายเป็นหน่วยที่เรียกว่าโตร่า (Tora) หนึ่งโตร่าประมาณ 12.5 ซีซี ราคาโดยทั่วไปประมาณ  4,000 บาทต่อโตร่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมัน เฉพาะน้ำมันของกลุ่มส่งขายเดือนละประมาณ 20,000 กรัม  ( 1,000 กรัม/1กก.)   ส่วนของน้ำ ซึ่งก็ยังมีกลิ่นหอม ก็นำไปแปรรูปเป็น สบู่ สบู่เหลว ยาสระผม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งไม่ต้องผสมกลิ่นน้ำหอมอะไรแล้ว เพราะว่าส่วนของน้ำก็มีกลิ่นน้ำหอมผสมอยู่ในนี้แล้ว

นอกจากนั้น ยังตัดแก่นไม้หอมเป็นชิ้นส่วนส่งขายด้วย  ซึ่งในประเทศตนเองจะเดินทางไปขายเอง ที่ซอยนานา หรือสุขุมวิทย์ ซอย 3  กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของประเทศไทย ราคากก.ละ 15,000 บาทขึ้นไป ถึงกก.ละ40,000 -50,000 บาท ขึ้นอยู่กับความหอม  แต่หากส่งไปขายตลาดกลางต่างประเทศ ผ่านพ่อค้าคนกลาง คือ ที่ประเทศดูไบ และประเทศอาหรับเอริเรต  หรือไม่ต่ำกว่า 8 ประเทศในตะวันออกกลาง ราคาพุ่งกก.ละ 300,000 – 400,000 บาท เพราะประเทศแถบอาหรับ ประเทศนิยมใช้น้ำหอมจากไม้ชนิดนี้

ทั้งน้ำมันบริสุทธิ์ และแก่นไม้นำไปเผาไฟ เพื่อให้ได้กลิ่นหอม  ซึ่งของจ.ตรังกลิ่นหอมมาก เป็นที่นิยม ซึ่งความจริงทางภาคใต้ยังมีไม่มาก เพราะยังขาดการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่จะมีมากที่ภาคตะวันออก  ซึ่งตลาดที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จึงมีสินค้ามาจากลาว เวียดนาม  เฉพาะของกลุ่มตนเองทั้งน้ำมันหอม และชิ้นส่วนไม้ ส่งขายต่อเดือนสร้างรายได้เข้ากลุ่มประมาณเดือนละ  2 ล้านบาท ซึ่งหม้อสกัดของกลุ่มมีเพียง 4 หม้อ ยังน้อยมาก ผลิตไม่ทัน ความต้องการ แม้ต้องสกัดทำงานตลอด 24 ชม.  ใจจริงอยากจะเพิ่มให้ได้ 10 หม้อ แต่ขาดการส่งเสริมจากภาครัฐ ไม่มีเงินทุน จึงทำตามสภาพ แต่หากมีเงินทุน เพิ่มกำลังการกลั่นจะขายได้มาก เพราะท้องตลาดต้องการน้ำมันหอมชนิดนี้จำนวนมาก มีเท่าไรไม่พอขาย  โดยน้ำมันกฤษณามีสรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ แก้ลม แก้ลมอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่นใจ และบำรุงกำลัง  ลูกค้าสนใจสั่งน้ำมันหอมกฤษณา และไม้หอมกฤษณา ติดต่อได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้กฤษณาแปรรูป บ้านไม้หอม ( หรือกลุ่ม แม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งหนองแห้ง โทรศัพท์  062 -1327156

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน