ตรัง-ข้าราชการบำนาญ ผันตัวเองเป็นเกษตรกร สร้างศูนย์เรียนรู้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยเท้าพ่อ ด้วยการทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา สร้างรายได้เดือนละเกือบ 50,000 บาท โดยเฉพาะเลี้ยงแพะนมตัวเดียวรายได้ปีนับแสนบาท ชี้ช่องเกษตรกรชาวสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน เลี้ยงแพะนมเสริมสร้างรายได้ดี
นายประสาร ทุ่ยอ้น ข้าราชการบำนาญ อายุ 75 ปี เกษตรกรผู้นำตำบลท่าข้าม เจ้าของ “ ปฏิเวธฟาร์มสุข ” หมู่ 4 บ้านทุ่งรวงทอง ต.ท่าข้าม.อ ปะเหลียน จ.ตรัง นำนายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง นายณัฐวุฒิ สังข์สุข นายอำเภอปะเหลียน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอปะเหลียน เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยเท้าพ่อ ซึ่งร่วมโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กับสถานีพัฒนาที่ดินตรัง เนื้อที่รวม 15 ไร่ ซึ่งสภาพดินที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำจะมีสภาพเสื่อมโทรม ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ดินมีความเป็นกรด-ด่างสูง จึงได้ปรับปรุงฟื้นฟูดิน ทั้งการใช้โดไลไมท์มาแก้ และพัฒนามาใช้การทำปศุสัตว์ร่วมด้วย เพื่อหวังมูลสัตว์จะช่วยบำรุงดิน ทั้งการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงโค เลี้ยงแพะ ปรากฏว่าทำให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น โดยแบ่งพื้นที่การทำประโยชน์ คือ ปลูกปาล์มน้ำมัน ประมาณ 10 ไร่, เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง จำนวน 50 ตัว , เป็ดไข่พันธุ์กากี 60 ตัว ออกไข่วันละ 50-55 ฟอง เป็ดเทศ 20 ตัว ,โค จำนวน 8 ตัว ,แพะลูกผสม 10 ตัว ,แพะนมพันธุ์ ซาแนน 3 ตัว รีดนมได้แล้ว 1 ตัว ได้น้ำนมประมาณ 4-5 กิโลกรัม/วัน และพันธุ์เอ็มจี จำนวน 2 ตัว (ซึ่งปริมาณน้ำนมต่อตัวจะสูงกว่าสายพันธุ์ซาแนน) คาดจะรีดนมได้ในปีหน้า ส่วนของมูลวัว มูลแพะก็นำไปใช้ทำปุ๋ยบำรุงสวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา และบรรจุกระสอบขายกระสอบละ 50 บาท รวมทั้งการปลูกพืชผักต่างๆ ตามฤดูกาล ,ขุดสระเลี้ยงปลาทั้งปลากด ปลาหมอ และเลี้ยงปลาในร่องน้ำกลางสวนปาล์มน้ำมัน นอกจากนั้น เนื่องจากสภาพพื้นที่เคยเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาก่อน จึงมีการทำประตูระบายน้ำ ผันน้ำทะเลเข้าบ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้ปัจจุบันนี้มีกุ้ง หอย ปู ปลาทะเลชนิดต่างๆ เข้ามาวางไข่ในร่องน้ำสวนปาล์มน้ำมันจึงมีสัตว์น้ำชุกชุม รวมทั้งปลาตูหนาทะเล เสมือนมีตู้เย็นอยู่ในสวนปาล์ม ทางคนงานสามารถวางตาข่ายจับปลา รวมทั้งลอบจับปู และจับปลาตูหนาได้ง่ายๆ นำไปประกอบอาหาร
นายประสาร ทุ่ยอ้น เจ้าของปฏิเวธฟาร์มสุข บอกว่า สำนักงานพัฒนาที่ดิน เป็นพี่เลี้ยงให้ในการช่วยพลิกฟื้นปรับปรุงที่ดินให้สภาพบ่อกุ้งร้างที่ดินเสื่อมโทรมมีค่ากรด-ด่าง (pH) เพียง 3.0 เท่านั้น ด้วยการใช้ปุ๋ยโดโลไมท์ การปลูกหญ้าแฝก การใส่ปุ๋ยหมัก แต่ตนเองคิดว่าการเลี้ยงสัตว์ควบคู่น่าจะช่วยได้ จึงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดดังกล่าว ทั้งเป็ด ไก่ โค แพะพื้นเมือง และแพะนม เพื่อมูลสัตว์ทำให้ค่าความกรด -ด่างลดลง ปรากฏว่าได้ผล ค่าความเป็นกรดด่างเพิ่มสูงขึ้น 7.0 ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น รวมทั้งการเลี้ยงปลา และสัตว์น้ำทะเลกุ้ง หอย ปู ปลา ธรรมชาติจากทะเลที่เข้ามาอาศัยในร่องน้ำสวนปาล์มน้ำมัน สามารถจับมารับประทานได้ตลอดเวลา สร้างรายได้ทั้งระบบต่อเดือนประมาณ 40,000 -45,000 บาท ส่วนที่ทำรายได้สูงสุดให้กับฟาร์มก็คือ แพะนม เดิมใช้แพะนมพันธุ์ผสมทั่วไป แต่พบว่าให้น้ำนมน้อย โดย 1 ตัวจะให้น้ำนมได้เพียงประมาณ 1 ลิตรต่อวัน ระยะเวลาให้นมเพียงประมาณ 5-6 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตนได้สั่งซื้อแพะนม สายพันธุ์ซาแนน ซึ่งเป็นลูกแพะนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส ที่เลี้ยงง่าย เติบโตดี และให้น้ำนมสูง โดยซื้อทั้งตัวเมีย และตัวผู้ นำมาผสมพันธุ์ผลิตลูกเอง ในส่วนของแพะนม ให้ผลผลิตน้ำนมสูงถึง 1,200 ลิตรต่อปีต่อตัว โดยตนจะให้กากถั่วเหลืองที่ไปรับมาจากร้านขายน้ำเต้าหู้มาให้แพะนมกิน เพื่อเพิ่มน้ำนม ตอนนี้รีดนมมา 14 เดือนแล้ว น้ำนมยังสูงได้ประมาณวันละ 4-5 ลิตร สามารถนำไปผลิตเป็นนมพาสเจอร์ไรท์ขายลิตรละ 110 บาท หรือบรรจุขวดได้ประมาณวันละ 30 ขวด โดยขายขวดละ 20 บาท ต่อปีแพะนมของตนเพียง 1 ตัว สามารถสร้างรายได้ให้ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งผลผลิตน้ำนมมีไม่พอความต้องการของลูกค้า เพราะนมแพะมีคุณค่าทางโภชนนาการสูง มีประโยชน์ต่อร่างกาย ต่อกระดูกและฟัน จึงเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรที่สนใจอยากทำอาชีพเสริมในสวนยางพรา และสวนปาล์มน้ำมัน หากใครต้องการเลี้ยงแพะนม สามารถมาปรึกษาและศึกษาดูงานได้ที่ฟาร์ม ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 082-8096870
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- ตรัง ชื่นชมชุมชนท่องเที่ยวร่วมใจเก็บขยะบนเกาะเหลาเหลียง
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: