ตรัง-ชาวบ้านสนามบินตรัง ยื่นหนังสือสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ขอความเป็นธรรมค่าเวนคืนสนามบินตรัง รับไม่ได้คณะกรรมการกำหนดราคา ตารางวาละ 200 บาท ซึ่งเมื่อนำมาคูณกับค่าดัชนี 4.37 ของกรมธนารักษ์ ได้ประมาณไร่ละ 340,000 เท่านั้น เลขาสมาคมฯชี้ราคานี้ไม่สะท้อนราคาตลาด
จากกรณีชาวบ้านตำบลโคกหล่อ และ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 223 แปลง ได้ร้องขอความเป็นธรรมราคาเวนคืนที่ดินเพื่อขยายรันเวย์สนามบินตรัง ของกรมธนารักษ์ ที่ชาวบ้านมองว่าราคาต่ำกว่าความเป็นจริง หรือต่ำกว่าราคาการซื้อขายจริงในท้องตลาดกว่า 5 เท่า โดยได้รวมตัวกันยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และ ส่งหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยราคาในการเวนคืนตามประกาศคณะกรรมการกำหนดราคาตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ซึ่งได้มีการเรียกประชุมชี้แจงให้ชาวบ้านรับฟังเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์กำหนดไว้ว่า พื้นที่ดินไม่ติดถนน ให้ตารางวาละ 200 บาท และพื้นที่ติดถนน ให้ตารางวาละ 260 บาท แต่ชาวบ้านบางรายมีที่ดินติดถนนใหญ่เส้นเดียวกัน โดยฝั่งหนึ่งให้ตารางวาละ 1,000 บาท ส่วนฝั่งตรงกันข้ามให้ตารางวาละ 550 บาท ซึ่งเมื่อนำไปคูณกับดัชนีราคา 4.37 แล้ว ราคายังต่ำมาก ทำให้ชาวบ้านมองว่ามีความเหลื่อมล้ำ
และเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมานายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เสนอในที่ประชุม ระหว่างทั้งฝ่ายกรมท่าอากาศยาน และชาวบ้าน จำนวน 3 แนวทางกับ 1 ข้อปฏิบัติ คือ 1.ให้กรมท่าอากาศยานทบทวนอัตราค่าเวนคืนใหม่ 2.ให้ชาวบ้านร้องต่อ รมว.คมนาคมให้ทบทวน และ 3.รอร้องอุทธรณ์ค่าเวนคืน หลังมีการประกาศราคาออกมาแล้ว โดยที่ประชุมเลือกแนวทางที่ 1 ให้กรมท่าอากาศยานทบทวนอัตราค่าเวนคืนใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนข้อมูลใหม่ เนื่องจากข้อมูลการประเมินเดิม มีที่ดินบางแปลงใช้ฐานที่ดินตาบอดในอดีตมาประเมิน ขณะที่ปัจจุบันมีถนนและทางสาธารณะเข้าถึงแล้ว เป็นต้น
ล่าสุด กลุ่มชาวบ้านได้ทำหนังสือถึงสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางช่วยเหลือให้มีการกำหนดราคาที่ดินให้มีมาตรฐาน โดยมีนายกิตติพงศ์ ผลประยูร เลขาธิการสมาคมผู้ประเมินทรัพย์แห่งประเทศ ได้พบกับตัวแทนชาวบ้าน เพื่อรับฟังปัญหา หาข้อสรุป และให้คำแนะนำ โดยนายประพันธ์ ไตรทิพย์พงศ์ ชาวบ้านหมู่ 3 ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 6 พ.ค.2565 ได้มีการออกพ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน เพื่อก่อสร้างส่วนขยายและรันเวย์สนามบินตรัง ต่อมาวันที่ 14 มิ.ย.2566 คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนในท้องที่และหน่วยงานภาครัฐ กำหนดหลักเกณฑ์ราคาที่ต่ำมาก โซนด้านหน้า 650 บาท/ตร.ว. โซนด้านหลัง 200 บาท/ตร.ว. ตนและชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือต่อเลขาธิการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางช่วยเหลือให้มีการกำหนดราคาที่ดินให้มีมาตรฐาน
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- DSI ร่วมบริจาคน้ำดื่มให้ท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
นายประพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ได้หารือเลขาธิการสมาคมฯ ว่ามีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องการประเมินที่ต่ำด้วยสภาพสังคม ประชาชนต้องเดือดร้อน เพราะต้องย้ายออกจากพื้นที่ ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตร สวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน ถ้าเขาได้ราคาต่ำเงินที่ได้จะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้ อีกทั้งราคาที่ดินที่จะไปซื้อในอนาคตล้วนมีราคาสูง ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตที่ว่าราคาที่ดินที่ซื้อขายจริงในละแวกสนามบินตรัง มีราคาที่สูงถึงไร่ละ 3-4 ล้านบาท แต่ชาวบ้านได้ค่าเวนคืนเพียงไร่ละ 4 แสนบาท ซึ่งราคานี้ก็ต่ำกว่าราคาซื้อขายในน้องตลาดมาก ซึ่งคณะกรรมการชี้แจงว่าเขายึดหลักเกณฑ์ของกรมธรารักษ์และกรมที่ดิน ซึ่งก่อนนี้มีชาวบ้านไปเรียกร้องเรื่องนี้ที่ศาลากลางจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร โดยมีการท่าอากาศยาน ตัวแทนผู้ประเมิน ตัวแทนชาวบ้าน
“ประชาชนเองก็คาดหวัง เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องราคา พวกเราเองชาวต.โคกหล่อ ชาวต.ควนปริง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง มีความยินดีในการพัฒนาจ.ตรัง นำรายได้เข้าจังหวัด และส่งเสริมการท่องเที่ยว ชาวบ้านให้ความร่วมมือทุกอย่าง แต่ก็ติดขัดเพียงเรื่องเงินค่าเวนคืนที่ดิน เพราะค่าเวนคืนต่ำมากๆ ถึงแม้ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องอื่นด้วย เช่น การเกิดอุบัติเหตุ คนป่วยได้รับผลกระทบ แต่ชาวบ้านก็รับได้ แต่เรื่องค่าเวนคืนเราอยากให้รัฐดูแลมากกว่านี้ และให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านด้วย” แกนนำชาวบ้านระบุ
ด้านนายกิตติพงศ์ ผลประยูร เลขาธิการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯมีอำนาจหน้าที่ต้องดูแลราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งชาสวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ไปยื่นหนังสือด้วยตนเองที่สมาคมฯ และตอนนี้นายกสมาคมฯได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนขยายสนามบินตรัง ตนได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ และได้รับปากว่าจะช่วยเหลือให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งรัฐต้องให้ความเป็นธรรมเรื่องราคา รัฐต้องจ่ายไม่มากเกินไปจนได้รับผลกระทบ และ ชาวบ้านต้องได้ไม่น้อยเกินไป ราคาต้องเหมาะสมและต้องไปตามกฎหมาย วันนี้เราได้รับข้อมูล 158 ข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลการซื้อขายที่ดิน ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของจังหวัดตรังนำมาประกอบ ว่าจะคูณค่าดัชนี 4.37 เท่า ซึ่งเราต้องนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ว่า 158 ข้อมูล จะสามารถนำมาเป็นข้อมูลตัวแทนได้กี่ข้อมูล เพื่อมาดูว่า 4.37 เท่า นั้นเหมาะสมหรือไม่ และราคาประเมิน 200 บาท/ตร.ว. ที่กรมธนารักษ์กำหนดเพื่อนำมาเก็บค่าธรรมเนียมนั้นใช้เป็นฐานได้หรือไม่ หรือจะใช้ข้อมูลอื่น เพื่อให้ตัวแทนชาวบ้าน 7 คน ที่ประชาชนแต่งตั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการในขั้นตอนการทบทวน และขอชื่นชมคนตรังที่นำเสนอเรียกร้องด้วยดี และคาดหวังว่าคณะกรรมการจะรับฟังพี่น้องประชาชนด้วย ขอให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ทุกอย่างสมารถเป็นไปได้ทั้งหมด ในฐานะนักประเมินฯ ในฐานะที่เคยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจ.ตรัง จ.เพชรบุรี จ.ชลบุรี เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาค่าเวนคืนรถไฟความเร็วสูง สายภาคตะวันออก ซึ่งที่นั่นได้คูณค่าดัชนีถึง 6.9 เท่า และยังนั่งอยู่ในหลายๆคณะกรรมการ จึงกล้าพูดว่าภาครัฐ รวมทั้งคณะกรรมการทุกคน สามารถทบทวนได้ เพิ่มเติมได้ ทุกอย่างแก้ไขปรับปรุงได้ ราคาค่าเวนคืน งบประมาณ เพิ่มได้ เพราะข้อมูลพื้นฐานที่ทางกรมธนารักษ์กำหนด เขากำหนดเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมสิทธิจดทะเบียน ค่าราคาประเมินเก็บภาษีของท้องถิ่น ซึ่งกฎกระทรวงไปใช้ข้อนี้ และใช้ราคาจดทะเบียนซื้อขายที่สำนักงานที่ดิน ซึ่งทุกคนทราบดีว่าการจดทะเบียนราคาซื้อขายที่ดินนั้นผู้ซื้อขายไม่ได้บอกราคาที่แท้จริง การจดทะเบียนซื้อขายมีสักกี่รายที่สะท้อนราคาตลาด ถ้าเอาแค่ 3 ข้อนี้มา ราคาก็ไปได้ไม่เท่าไหร่ ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ข้ออื่น เหตุและผลในการเวนคืน ปัจจัยอื่น สามารถนำมาใช้ได้
“ตารางวาละ 200 บาท หรือ ไร่ละ 80,000 บาท ในจ.ตรังไม่มีที่ดินตรงไหนราคานี้ แล้วเมื่อนำมาคูณค่าดัชนี 4.37 ตกประมาณไร่ละ 340,000 บาท อย่างไรก็เป็นไปไม่ได้ มันไม่สะท้อน ซึ่งค่าดัชนีที่เป็นไปได้มีตั้งแต่ 3-7 ซึ่ง 4.37 อยู่ระดับกลาง แต่บังเอิญเจอราคาประเมินที่ต่ำ จึงทำให้ราคาเวนคืนไปไม่ถึง แต่สามารถขยับได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่ารับฟังข้อมูลรอบด้านหรือยัง คณะกรรมการระดับจังหวัดอย่าฟังเพียงฝ่ายเลขานำเสนอข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว ขอฝากไปยังคณะกรรมการที่เป็นข้าราชการ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ธนารักษ์จังหวัด ธนารักษ์พื้นที่ นำเสนอข้อมูลที่เกิดความเป็นธรรม อย่าพูดเพียงว่า ราคานี้เพื่อเก็บค่าธรรมเนียม อยากให้เรื่องนี้จบลงแค่ขั้นตอนทบทวน อย่าเสียเวลาเลย ชาวบ้านเองเขาไม่ได้อยากไปประท้วง เขาอยากให้จบลงในขั้นตอนทบทวนในราคาที่เป็นไปได้ อย่าใช้เวลาที่ยาวนานเพราะชาวบ้านเขาก็เดือดร้อน” นายกิตติพงศ์ระบุ
แฟ้มภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: