ตรัง -ภาพรวมราคาปุ๋ยลดฮวบกว่า 50% เกษตรกรพอได้ผ่อนคลาย ทำต้นทุนลดลง แต่ราคาผลผลิตก็ลดตาม แต่ก็พอสู้ได้ ขณะที่ร้านค้าเสี่ยงขาดทุนรายวัน เพราะราคาผันผวนอยู่ในช่วงขาลงตลอดทั้งปี บางครั้งซื้อมาราคาหนึ่งแต่ระหว่างทางขนบรรทุกสินค้า ซึ่งต้องใช้เวลาข้ามวันปรากฎว่ารุ่งขึ้นราคาลงอีก เท่ากับขาดทุนทันที ทำร้านค้าไม่กล้าสต็อกและขาดทุนไปตามๆ กัน
จากปัญหาสถานการณ์โควิด ต่อเนื่องลากยาวถึงช่วงสงครามรัสเซีย – ยูเครน รวมระยะเวลาประมาณ ไม่ต่ำกว่า 2 ปี ทำปุ๋ยเคมีขาดแคลนหนัก ทำราคาพุ่งขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากเดิมเคยกระสอบละ 700 – 800 บาท ราคาพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่กระสอบละ 1,600 – 1,900 บาท ทำเกษตรกรเดือดร้อนไม่เงินซื้อปุ๋ยใส่บำรุงพืช บำรุงสวน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเนื้อที่เพาะปลูกไม่มาก ต้องนำเงินเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนหนังสือ ไม่มีเงินซื้อปุ๋ย แต่หากเป็นเกษตรกรรายใหญ่ทุนหนากว่า ยังมีความสามารถในการซื้อใส่
ล่าสุด จากการตรวจสอบร้านจำหน่ายปุ๋ยในจ.ตรัง เช่น ที่ร้านตรัง-มาเลเซีย อะโกรเทค จำกัด ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายปุ๋ยรายใหญ่ใน จ.ตรัง พบกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน อ.เมืองตรัง ที่เดินทางซื้อปุ๋ย นำไปใส่สวนปาล์มน้ำมัน บอกว่า ขณะนี้ราคาปุ๋ยได้ลดลงมามากแล้วประมาณ 50% โดยตนเองมีสวนปาล์มประมาณ 20 ไร่ ตั้งใจมาซื้อปุ๋ยสูตร 0-0-60 จากเดิมราคาเคยปรับขึ้นไปสูงถึงกระสอบละกว่า 1,500 บาท ขณะนี้ราคาปุ๋ยลดลงมาเหลือกระสอบละ 1,000 บาท ,สูตร 10 -10-30 เคยสูงถึงกระสอบละ 1,890 บาท ขณะนี้เหลือกระสอบละ 1,450 บาท ซึ่งสวนปาล์มตนเองจะซื้อใส่ทุกๆ 2 เดือน ต้นละประมาณ 2 กก. เพราะหากใส่ 3 เดือนครั้ง จะต้องใส่ต้นละ 2 กก.ครึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม สามารถใส่ปุ๋ยได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงที่ปุ๋ยราคาแพงมาก เพราะโชคดีราคาปาล์มน้ำมันดีประมาณกก.กว่า 10 บาท จึงใส่ได้ แต่ขณะนี้ราคาปาล์มปรับต่ำลงมา เหลือประมาณกก.ละ 5-6 บาท ราคาปุ๋ยก็ปรับลดลงมาด้วย ทำให้ได้ปุ๋ยราคาถูกลงมาด้วยเมื่อเทียบเคียงกับราคาปาล์ม ก็ยังพออยู่ได้
ข่าวน่าสนใจ:
ทางด้านนายวีระ ตระกูลรัมย์ เจ้าของร้านตรัง-มาเลเซีย อะโกรเทค จำกัด ร้านจำหน่ายปุ๋ยรายใหญ่ใน จ.ตรัง นำดูโกดังเก็บปุ๋ยของร้าน ก็พบว่าโกดังค่อนข้างโล่ง จากเดิมเคยมีปุ๋ยเก็บสต็อกไว้แน่นโกดังจนไม่เหลือพื้นที่ว่าง โดยวางซ้อนๆกันแต่ละสูตรสูงประมาณ 30 ชั้น ( ชั้นของกระสอบปุ๋ยวางซ้อนกัน) แต่ขณะนี้โกดังโล่ง เหลือปุ๋ยปริมาณไม่มาก โดยบอกว่า หลังจากราคาปุ๋ยเคมีได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่การขนส่งทำได้ยากลำบาก และต่อเนื่องด้วยเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำปุ๋ยขาดแคลน แต่ขณะนี้พบว่า ราคาปุ๋ยเคมีทุกชนิดราคาปรับลดลงมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ( ปลายปี 2565 ) จนถึงขณะนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงราคาขาลง และเชื่อว่าในปีนี้ราคาปุ๋ยน่าจะลงทั้งปี แต่บางชนิดราคาผันผวน ลงไปแล้วปรับขึ้นอีกเล็กน้อยในลักษณะเป็นแรงกระเพื่อม เช่น ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 ขึ้นไปสูงถึงกระสอบละ 1,300 บาท สัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงเหลือกกระสอบละ 700 กว่าบาท วันนี้ปรับขึ้นมาเป็นกระสอบละ 890 บาท และปุ๋ยไนโตรเจน สูตร 21-0-0 ลดลงกระสอบละกว่า 900 บาท มีการปรับราคาขึ้นมาเป็นกระสอบละกว่า 1,000 บาท ส่วนปุ๋ยปาล์มน้ำมันสูตรตัวท้ายสูงๆ ทุกสูตรเคยปรับขึ้นไปอยู่ที่กระสอบละ 1,600 -1,800 บาท อันเนื่องจากสถานการโควิด การขนส่งสินค้าทำได้ยากลำบาก และเกิดสงครามรัสเซีย -ยูเครน แม่ปุ๋ยขาดแคลน แต่ตอนนี้ปรับลงมาเหลือกระสอบละ 1,100 -1,200 บาท ซึ่งคิดว่าลงมาเยอะแล้ว และปีนี้เชื่อว่าปุ๋ยจะยังลงตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ราคาปุ๋ยในช่วงขาลงนี้ ส่งผลกระทบต่อร้านค้าทั่วไปอย่างมาก แต่ละร้านไม่สามารถจะสต็อกของไว้ได้เลย เพราะราคาอยู่ในช่วงขาลง และแนวโน้มก็จะลงต่อไปอีก เพียงแต่มีแรงกระเพื่อมที่บางสูตรราคากระโดดขึ้นมาเล็กน้อย เช่น ปุ๋ยยูเรีย เนื่องจากว่าความต้องการปุ๋ยยูเรียมากขึ้น ในช่วงสั้นๆ จึงทำให้ทั้งยูเรีย และแอมโมเนียดีดตัวขึ้น เชื่อว่าไม่สามารถลดลงไปอยู่ในราคาเดิมก่อนปรับขึ้นได้ เช่น ราคาเดิม 700-800 บาท ขึ้นไปสูงสุด 1,600 -1,800 บาท ตอนนี้ลงมาอยู่ที่ 1,100 -1,200 บาท แต่จะลงไปถึงกระสอบละ 700-800 บาท เหมือนเดิมคงเป็นไปไม่ได้ ด้วยเพราะสาเหตุเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ค่าขนส่งที่แพงขึ้น ปรับลงไปอย่างไรก็ไม่เท่าเดิมแน่นอน น่าจะได้แค่ 900 ปลายๆ ถึง1,000 ต้นๆ โดยช่วงนี้เป็นรอบที่ 2 ของการใส่ปุ๋ย ซึ่งปาล์มจะใส่ปีละ 3 รอบคือ ต้นฝน กลางฝน และปลายฝน ตอนนี้เดือน ก.ค.-ส.ค.จะเป็นช่วงการใส่รอบ 2 ส่วนรอบ 3 จะใส่ตอนต.ค.-พ.ย. เชื่อว่าเกษตรกรซื้อได้ และร้านก็ขายได้ ซึ่งตอนที่ราคาปุ๋ยแพง ราคาปาล์มก็ปรับขึ้นอยู่ที่กก.ละ 9-10 บาท แต่ตอนนี้ราคาปุ๋ยลดลงมา ราคาปาล์มก็ลดเหลือประมาณกก.ละ 5- 6 บาท ชาวสวนก็คงจะซื้อได้ ทางร้านก็น่าจะพอขายได้ แต่ซื้อมาต้องรีบขาย เพราะเสี่ยงขาดทุน บางครั้งซื้อมาอยู่ระหว่างการขนส่งยังมาไม่ถึงร้าน ปรากฏว่าราคาลงแล้ว ก็เท่ากับขาดทุนทันที
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: