X

ตรัง ลุยสวนจำปาดะแหล่งใหญ่ “บ้านทับเขือ” ริมเทือกเขาบรรทัด รสชาติเด่น หวาน หอม อร่อย

ตรัง-ลุยแหล่งปลูกจำปาดะพันธุ์พื้นเมืองแหล่งใหญ่ ที่บ้านทับเขือ-ปลักหมู ริมเทือกเขาบรรทัด รสชาติหวานอร่อย ปลอดสารเคมี 100% แต่ละปีผลผลิตกว่าสิบตันสร้างรายได้เข้าชุมชนปีละหลายแสนบาท  แหล่งผลไม้ พืชผักพื้นถิ่น ต้นแบบ คน ป่า ความยั่งยืนของทรัพยากร ต้นแบบการปรับตัวจากอาชีพสวนยางอย่างเดียว มาเป็นการสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช สร้างรายได้ตลอดปี จนอาชีพสวนยางกลายเป็นอาชีพรอง

สินค้าเกษตรในจ.ตรัง ยังทยอยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง  และทุกชนิดราคาดีตลอดปี  และไปดูตัวอย่างการจัดการพื้นที่ คนอยู่ร่วมกับป่า ของชาวบ้านพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขาบรรทัดหรือเขาพับผ้า ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง กับ จังหวัดพัทลุง พื้นที่ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งการเดินทางไปยังชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู จะใช้เส้นทางตรัง-พัทลุง ช่วงเขาบรรทัด ห่างจากถนนสายหลักต้องเดินทางต่อโดยรถจักรยานยนต์หรือเดินเท้าเข้าไป ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนสายเล็กที่ชาวบ้านช่วยกันสละเงินร่วมกันสร้างพอให้รถจักรยานยนต์เข้าออกได้  ไม่ต้องการทำเป็นเส้นทางใหญ่ เพราะต้องขออนุญาตทางราชการ และเป้าหมายหลักไม่ต้องการให้รถยนต์เข้าไปได้  เพื่อรักษาสภาพพื้นที่ รักษาความเป็นชุมชนดั้งเดิม รักษาป่า โดยตลอดเส้นทางจะพบเห็นลำธารน้ำใสสะอาดไหลเลียบไปกับเส้นทางเข้าหมู่บ้าน

ชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 30 ครัวเรือน ยึดอาชีพทำการเกษตรแบบผสมผสาน เดิมปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก แต่ต่อมาหลังเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จึงพัฒนาตนเองมาปลูกพืชผสมผสาน ทั้งที่มีอยู่เดิม และปลูกเสริม ทั้งพืชผัก  สวนผลไม้  เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ชุมชนดังกล่าวมีกฎกติกาหรือธรรมนูญชุมชนร่วมกันในการรักษาป่า รักษาสิ่งแวดล้อม ต้นน้ำลำธาร ไม่ให้มีการบุกรุก สร้างความหลากหลายของพันธุ์พืช  และเลิกใช้สารเคมีในการทำเกษตร

โดยชาวบ้านในชุมชนปลูกพืชผัก และไม้ผลหลากหลายชนิดทั้งในพื้นที่ว่าง และปลูกแซมในสวนยางพารา  ทำให้มีผลผลิตขายได้ตลอดปี ทั้งกาแฟ ผักเหลียง ทุเรียน ขนุน มังคุด ลองกอง ลางสาด สละ สละอินโด ลูกเนียง สะตอ และจำปาดะ ซึ่งตอนนี้จำปาดะของชาวบ้านให้ผลผลิตดกเต็มต้น ซึ่งต้นจำปาดะในพื้นที่บางต้นมีอายุถึง 100 ปี แม้จะเป็นจำปาดะพันธุ์พื้นเมือง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี ดินดี น้ำดี อากาศดี  อุดมสมบูรณ์ ทำให้จำปาดะที่ได้เนื้อหนา รสหวานเข้ม ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวจำปาดะ  โดยจะมีพ่อค้ามารอรับซื้อที่จุดรับซื้อตลอดทั้งวัน ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 25-35 บาท สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกรรมใช้กับชาวบ้านที่นี่

ทั้งนี้  ตั้งแต่ช่วงเช้าชาวบ้านจะออกจากบ้านมาสำรวจผลจำปาดะภายในสวน ว่าผลไหนเก็บเกี่ยวพร้อมจำหน่ายแล้ว ซึ่งสังเกตุว่าแต่ละต้นจำปาดะติดผลตั้งแต่ยอดจนถึงโคนต้น ชาวสวนได้เอาถุงดำมาห่อหุ้มผลกันแมลงเจาะ การเก็บก็ต้องใช้วิธีปีนเก็บ  เมื่อเก็บแล้วจะนำมาเก็บไว้ที่จุดพักผลผลิต  ก่อนนำส่งขายให้แม่ค้าที่มาตั้งจุดรับซื้อ

ขณะที่ผลไม้ชนิดอื่น เช่น ผักเหลียง ก็สามารถเก็บขายตลอดทั้งปีในราคากก.ละ 50 บาท ส่งขายให้แม่ค้าในตลาด และต่างจังหวัด  ส่วนทุเรียน กก.ละ 100 บาท กำลังจะออกรุ่นที่ 2 สละ และสละอินโด รสชาติหวานกรอบ ไม่มีรสฝาด ราคาดีเช่นกัน กก.ละ 50 -60 บาท ส่วนลองกอง ลางสาด ใกล้จะสุกเช่นกัน

ด้านนายสมนึก พุฒนวล เกษตรกร บอกว่า ผลผลิตที่ออกจำหน่ายในช่วงนี้ มีจำปาดะ ทุเรียน สะตอ ลูกเนียง สละอินโด ซึ่งในแต่ละปีจำปาดะของบ้านทับเขือ-ปลักหมู ออกสู่ตลาดหลายสิบตัน ถือเป็นแหล่งใหญ่และขึ้นชื่อสร้างรายได้เข้าชุมชนปีละหลายแสนบาท  เฉพาะของตนในปีหนึ่งๆ จะได้ผลผลิตประมาณ 5 ตัน  ราคาขายส่งกิโลกรัม 25 – 35 บาท โดยส่งให้กับแม่ค้าในพื้นที่ตำบลช่อง บางส่วนส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าชาวพัทลุง จำปาดะที่นี่เป็นพันธุ์พื้นเมืองทั้งหมด ชาวบ้านทับเขือฯมีอาชีพหลักคือ  ทำสวนยางพารา ปลูกผัก ผลไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งตอนนี้ราคายางพาราไม่แน่นอน ราคาตกต่ำ ชาวบ้านเองต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่ได้ จึงต้องเสริมพืชอื่นๆร่วมในสวนยาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ชาวบ้าน ผลได้ที่ถือว่าเป็นหน้าเป็นตา เป็นผลไม้เด่นของที่นี่ก็คือจำปาดะ รองลงมาก็ทุเรียน สะตอ และกาแฟก็เป็นผลผลิตดาวรุ่งที่เริ่มสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน นอกจากนี้ก็มีผักเหลียง ผักกูด ที่สามารถเก็บขายได้ตลอดปี ผักผลไม้ทีบ้านทับเขือฯ ปลอดภัยไร้สารเคมี 100%  ยางพาราราคาไม่แน่นอน ยางพาราอย่างเดียวอยู่ไม่ได้เลย จึงต้องปรับตัวให้มีความหลากหลายมากขึ้น มาช่วยรายได้ต่อครัวเรือน อนาคตอาชีพยางพาราไม่ใช่อาชีพหลักแล้ว  แต่จะเป็นความหลากหลายของผลไม้ พืชท้องถิ่น จะเป็นรายได้หลักแทน

โดยเป้าหมายขององค์กรชุมชนทับเขือ คือ สร้างพื้นที่ให้มีความหลากหลายของพืช และร่วมอนุรักษ์พันธุกรรมพืช  สร้างพื้นที่ให้มีความมั่นคงทางอาหาร  ซึ่งจากเดิมที่เน้นปลูกยางพาราเป็นหลัก และเก็บผลไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่เดิมขายเป็นรายได้เสริม แต่ตอนนี้ชาวบ้านเปลี่ยนมาจริงจังกับการปลูกพืช และผลไม้มากขึ้น สร้างรายได้ตลอดทั้งปี เมื่อเกิดความหลากหลายในพื้นที่ มีความโดดเด่นของพืชผลนานาชนิด การท่องเที่ยวชุมชนก็ตามมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้ส่วนราชการ เกษตรอำเภอนาโยง และ เกษตรจังหวัดตรัง ได้เข้ามาดูในพื้นที่และผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

นอกจากนั้น ชาวบ้านได้พาไปดูการเก็บสะตอ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่กำลังออกผลผลิตเช่นเดียวกัน  พบคนปีนเก็บอย่างแคล่วคล่อง โดยนางกุหลาบ ดวงจันทร์ อายุ 63 ปี  ชาวบ้าน หมู่ 1 ต.ช่อง อ.นาโยง เจ้าของสะตอ บอกว่า สะตอมีทั้งที่บ้านใน อ.นาโยง และสะตอต้นดั้งเดิมหลายต้นในพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งนี้  โดยเฉพาะในช่วงแรกสะตอราคาดี ยังได้ขายฝักละ 4 – 6 บาท แต่หากราคาลดลงมาก็ยังขายได้ฝักละ 3 -4 บาท ซึ่งแต่ละปีมีรายได้เสริมนับหมื่นบาท   ช่วงนี้เป็นหน้าสะตอออกผล ลูกค้าจะสั่งเข้ามาจอง ก็นำไปส่งให้อ.นาโยง

ส่วนนายนิรันดร์ ลั่นสิน ชาว ต.ช่อง อ.นาโยง ซึ่งมีอาชีพรับจ้างปีนเก็บสะตอ  บอกว่า หน้านี้เป็นหน้าสะตอ ตนก็ตระเวนไปตามที่เจ้าของสวนร้องขอให้ช่วยปีนเก็บให้  ค่าจ้างคือ ขายได้เท่าไหร่ จะแบ่งรายได้กันคนละครึ่งกับเจ้าของสวน หากสะตอราคาแพงก็จะยิ่งรายได้ดี  ปีนี้ผลผลิตเริ่มออกมาได้ประมาณ 1   เดือน มีรายได้แล้วกว่า 10,000 บาท  บางปีตลอดฤดูกาลมีรายได้ประมาณ  50,000 – 60,000 บาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน