วันที่ 25 ส.ค. ที่สวนทับเที่ยง ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.) ตรัง เป็นประธานเปิดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าทับเที่ยง “ย้อนวันวานเมืองเก่าทับเที่ยง” ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรัง ประจำปีงบประมาณ 2566 ระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค. โดยมี นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอเมืองตรัง นายโชคดี คีรีกิ้น นายจารึก ทองหนัน รองนายกฯอบจ.ตรัง สมาชิกอบจ.ตรัง ตลอดจนส่วนราชการ เทศบาลนครตรัง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง เครือข่ายชุมชนเมืองเก่าทับเที่ยง นายกสมาคมการท่องเที่ยวและโรงแรมจ.ตรัง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.ตรัง ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมงาน บรรยากาศคึกคัก
นายบุ่นเล้ง กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และบริการในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าตรัง ในอ.เมืองตรัง ให้กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมืองทับเที่ยงของเราเป็นเมืองหนึ่งที่มีวิถี และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ยาวนานมากว่า 100 ปีแล้ว โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือน สถาปัตยกรรม ศิลปะภาพวาด และประติมากรรม ซึ่งสามารถมาสัมผัสได้ตลอดทั้งปี และยังมีของดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว วิถีชีวิต ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เพื่อช่วยกันสืบสานอนุรักษ์เมืองเก่า และสืบทอดวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของจังหวัดตรัง ให้คงอยู่คู่กับ จังหวัดตรังสืบไป
สำหรับกิจกรรมภายในงาน อาทิ นิทรรศการทับเที่ยงเมืองเก่า การแสดง การละเล่นทางศิลปวัฒนธรรม การออกบูธสินค้า อาหาร สาธิตเมนูพื้นเมือง อาทิ โกวตาว หมี่ชมพู ขนมเต่าแดง กะลอจี้ สั่มเส่งเฮง และสินค้าอื่นๆ อีก 100 ร้านค้า
ในส่วนของเมนูพื้นเมือง โกตาวเป็นอาหารคาวเป็นอาหารของคนจีนฮกเกี้ยน นิยมทำในช่วงเทศกาลสำคัญเช่นเทศกาลตรุษจีน สารทจีน เชงเม้งเป็นการไหว้บรรพบุรุษ หรือรวมญาติกัน ความหมายของอาหารนี้ให้ลูกหลานทานแล้วมีความกลมเกลียวกันรักเหนียวแน่นเหมือนโกวตาว ซึ่งในส่วนผสมโกวตาวจะมีเผือก , แป้งมัน, หอมแดง, กระเทียม ,กุ้งแห้ง, เนื้อปู,ซีอิ๊วขาว และผงปรุงรสซีอิ๊วดำ, น้ำมันพืชสำหรับผัด ,ต้นหอม และหมูสับ
ข่าวน่าสนใจ:
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
- ระทึก เพลิงไหม้บ้าน 2 ชั้นวอดทั้งหลัง น้องแมว 7 ชีวิต รอดตายหวุดหวิด โดย 3 ตัวโดนไฟลวกบาดเจ็บ
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
ซึ่งจะการเตรียมวัตถุดิบคือ จะนำเผือกหั่นเป็นลูกเต๋า นำไปทอด กุ้งแห้งแช่น้ำสักหยาบ หมูสับ เนื้อปู กระเทียมสับ แป้งมันละลายกับน้ำซุป หลังจากนั้นนำกระทะใส่น้ำมันให้ร้อน ใส่กระเทียมสับผัดพอหอมใส่ หมูสับ กุ้งแห้ง ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและซีอิ๊วดำนิดหน่อยใส่เผือกและเนื้อปูตามด้วยแป้งมันที่ละลายไว้กับน้ำซุปควรไปเรื่อยๆด้วยไฟอ่อนๆกวนจนแป้งสุกตักใส่จานโรยด้วยต้นหอมและหอมเจียว
ในส่วนของขนมเต่าแดง เป็นขนมมงคลของชาวจีนกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แถบช่องแคบมะละกา ใช้ในโอกาสพิธีไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เทวดาและพิธีมงคลต่างๆ และหมี่ไทยโบราณ ก็จะเป็นอาหารคาว ใช้ได้ทุกโอกาสเป็นอาหารมื้อหนักหรืออาหารว่างก็ได้
สำหรับ ต.ทับเที่ยง หรือเมืองเก่าทับเที่ยง จากข้อมูลหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง บันทึกไว้ว่า หลังจากเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ จ.ตรัง ถือเป็นการเสด็จฯ ครั้งที่ 2 ได้ทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนเพราะปัญญา และพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรัง หลังจากเสด็จฯ กลับในครั้งนั้น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้กราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองตรังจากกันตัง มายัง “ตำบลทับเที่ยง” หรือ อำเภอบางรักในขณะนั้น ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ ที่กันตังไม่ปลอดภัยจากการศึกสงคราม เพราะในขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งยังเกี่ยวกับโรคระบาดเนื่องจากเป็นที่ลุ่ม รวมทั้งพื้นที่คับแคบขยายเมืองได้ยาก และอีกหลายเหตุผลสำคัญ ที่สำคัญ “ตำบลทับเที่ยง” เป็นย่านการค้าขายที่มีความเจริญอยู่เดิม และมีชัยภูมิอยู่จุดศูนย์กลาง เหมาะแก่การปกครอง การย้ายเมืองจึงได้รับพระบรมราชานุญาต และดำเนินการเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2458 และ “ทับเที่ยง” ได้เป็นที่ตั้งของ “เมืองตรัง” สืบมาจนปัจจุบัน
“ทับเที่ยง” เลื่องลือทั้งเรื่องความสงบ เรียบง่าย แต่เป็นเมืองการค้าการขายมาแต่โบราณ “คนทับเที่ยง” สนใจเหตุบ้านการเมือง มี“สภากาแฟ” ยามเช้าที่นอกจากเอาไว้รองท้องก่อนเริ่มวันแล้ว ยังเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เหตุบ้านการเมือง มี “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” อันเป็นมนต์เสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงอาหารการกินที่หลากหลายเรื่องราวสะท้อนความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีชุมชนย่อยๆ มากมายที่มีตำนานและเรื่องราว มีสถานที่ที่เป็นความทรงจำของผู้คนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น “โรงหนัง” “หอนาฬิกา” “ลำคลองที่ตัดผ่านเป็นโครงข่าย” “เนิน” หรือ “ควน” ที่บ่งบอกเรื่องราว มี“ชมรม” มี “สมาคม” ของทุกศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พึ่งพา และเกื้อกูลกันมายาวนาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: