X

รมว.ทส สั่งกรมทช. ลงพื้นที่เกาะมุกด์ อบรมเครือข่ายอาสาสมัคร-ชุมชนชายฝั่งช่วยชีวิตพะยูน หลังชาวบ้านตรังเผยคลิปช่วย “ไอ้ลาย” เกยตื้นถูกวิธีจนสำเร็จ

ตรัง-รมว.ทส สั่งกรมทช. ลงพื้นที่เกาะมุกด์ อบรมเครือข่ายอาสาสมัคร-ชุมชนชายฝั่ง ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ลดอัตราการตายพะยูน หลังชาวบ้านตรังเผยคลิปช่วยพะยูนเกยตื้นได้ถูกวิธีจนสำเร็จ เผย แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติเฟสแรกสำเร็จ ทำประชากรพะยูนเพิ่มเกินเป้า อยู่ที่ 280 ตัว 

จากกรณีชาวบ้านเกาะมุกด์ หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอพะยูน สัตว์อนุรักษ์คู่จังหวัดตรัง แบบตัวเป็นๆอย่างชัดเจนความยาวประมาณ 5 นาที ขณะที่ชาวบ้านประมาณ 10 คน พยายามเร่งหาวิธีช่วยชีวิต พะยูนที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า “ไอ้ลาย” จากรอยแผลเป็นจากการต่อสู้กันเองตามธรรมชาติของพะยูนตามลำตัว โดยเป็นพะยูนเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ยาวประมาณ 3 เมตร ที่กำลังนอนเกยตื้นระหว่างกำลังกินหญ้าทะเลอยู่ที่ชายหาดของหมู่บ้าน ซึ่งมีหญ้าทะเลอาหารของพะยูนอุดมสมบูรณ์ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวและชาวบ้านพบเห็นได้ทุกวัน คุ้นเคยกับคนและเรือ จนเป็นที่รักและหวงแหนของชาวบ้าน ร่วมกันดูแลสอดส่องมาโดยตลอด โดยชาวบ้านได้ช่วยกันนำ “ไอ้ลาย” กลับลงสู่ทะเลอย่างปลอดภัยโดยถูกวิธี ด้วยการนำสแลนผืนใหญ่มารองและช่วยกันหามเพื่อป้องกันความบาดเจ็บจากการช่วยเหลือ ทำให้โลกโซเชี่ยลแชร์คลิปดังกล่าวและแสดงความชื่นชมเป็นอย่างมาก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พล.ต.อ.พัชวาท วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) มอบหมายนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทช. สั่งการให้นายสันติ นิลวัต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง(ศวอล.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และ มูลนิธิอันดามัน ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงให้ความรู้และสาธิตการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้นกับเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากพื้นที่เกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อให้เครือข่ายในพื้นที่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นมีชีวิตได้อย่างถูกวิธีและยังเป็นการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นได้อีกด้วย พร้อมทั้งเป็นผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอบคุณอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลและเครือข่ายที่ได้ช่วยพะยูนเกยตื้นมีชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ได้มีการร่วมประชุมหารือชี้แจงแนวทางในการจัดตั้งหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น บนพื้นที่เกาะมุกด์ เพื่อจะได้เป็นหน่วยที่เข้าช่วยเหลือกรณีพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นบนเกาะมุกด์หรือบริเวณใกล้เคียงได้อย่างทันท่วงที และมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าจัดการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยทางเจ้าหน้าที่ศวอล. ได้สาธิตวิธีการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้นและมอบอุปกรณ์สำหรับการขนย้าย รวมทั้งมอบแผ่นพับและคู่มือให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้แก่เครือข่ายในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านเกาะมุกด์เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 30 คน

นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง(ศวอล.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์พะยูนเกยตื้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่เกาะมุกด์ ผู้บริหารระดับสูงได้สั่งการลงมาให้หน่วยงานในพื้นที่ลงมาที่เกาะมุกด์ เพื่อให้ความรู้พร้อมฝึกสอนการช่วยชีวิตพะยูนเกยตื้นเบื้องต้น โดยมีการสาธิต พูดคุย ทำความเข้าใจกับเครือข่าย ถึงวิธีการช่วยชีวิตพะยูนอย่างถูกต้อง ที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก หากช่วยอย่างผิดวิธีโอกาสที่ตัวพะยูนรอดชีวิตจะมีน้อยมาก ผู้ช่วยชีวิตพะยูนจึงจำเป็นต้องมีทักษะ มีความรู้ ทั้งนี้ พะยูนเกยตื้นมีด้วยกันหลายลักษณะ เช่น พะยูนเกยตื้นที่ขึ้นมากินหญ้าทะเลแล้วพบกับเหตุการณ์น้ำทะเลลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านเรียกว่าติดแห้ง ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือพะยูนจะเสียชีวิตจากการติดแห้งตาย อีกกรณีคือ พะยูนมีอาการเจ็บป่วยเข้ามาเกยตื้นบริเวณชายฝั่ง กรณีเช่นนี้จะไม่ค่อยรอดชีวิต และ กรณีพลัดหลงจากแม่อย่างเช่นกรณีของมาเรียม

นายสันติ ยกตัวอย่างพะยูนที่เกยตื้นแบบติดแห้ง ต้องช่วยเขาอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนมีอาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น การยกตัวพะยูนหากยกผิด จะทำให้กระดูกสันหลังเหรืครีบหักได้ ทำให้พะยูนอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ได้อีกต่อไป สำหรับตัวพะยูนนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หายใจทางปอด พะยูนจะอยู่ในที่แห้งได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่า อันตรายคือหากมีเรื่องอุณหภูมิความร้อน แดดจัด ร่วมด้วย จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งหากอยู่ในสถานดังกล่าว พะยูนจะช็อกตายภายใน 30 นาที โดยชาวบ้านบนเกาะมุกด์ มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือพะยูนในระดับหนึ่งแล้ว รู้จักใช้อุปกรณ์ในท้องถิ่นที่พอจะหาได้มาประยุกต์ใช้สำหรับการช่วยเหลือ ในการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นเราจะไม่ดึงครีบดึงหาง ไม่ลากพะยูนลงในน้ำลึก แต่ใช้วิธีนำผ้าใบหรือสแลนมาขึง จากนั้นเคลื่อนย้ายพะยูนมาไว้ในสแลนและหามยกออกไป ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากชาวบ้านพบกับพะยูนเกยตื้นเพียงคนเดียว ก็สามารถช่วยเหลือพะยูนได้ หากทำการเคลื่อนย้ายได้ ก็ให้เคลื่อนย้ายก่อน หากเคลื่อนย้ายไม่ได้ ให้ใช้วิธีขุดบริเวณที่พะยูนเกยตื้นให้เป็นแอ่งน้ำ หากมีผ้า หรือ ผ้าขาวม้า ให้ใช้วิธีเอาผ้าชุบน้ำมาคลุมตัวพะยูนไว้ก่อน แล้วไปตามชาวบ้านหรือแจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธี

“ทางกรมทช. มีสายด่วนรับแจ้งเหตุพะยูนและสัตว์ทะเลเกยตื้น 1362 หรือ สายด่วนพิทักษ์ป่าและทะเล จะมีเจ้าหน้าที่รับสายตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีที่ได้มีแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ แผนระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565) โดยกรมทช.ได้ร่วมการจัดการ และได้ทำสำเร็จไปแล้ว จากตั้งเป้าพะยูนเพิ่มขึ้นที่ 250 ตัว แต่ตอนนี้มีพะยูนเพิ่มขึ้นถึง 280 ตัว และเรื่องที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการอนุรักษ์พะยูน คือเรื่องแหล่งหากิน และ แหล่งอาศัย ซึ่งพะยูนเป็นสัตว์เลือดอุ่นกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร การเพิ่มขึ้นของพะยูนต้องมีแหล่งอาหารเพียงพอ แหล่งหญ้าทะเลต้องไม่ถูกทำลายด้วย”นายสันติกล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน