ตรัง- อบต.และรพ.สต.กะลาเส ทำงานเชิงรุกแบบอย่างท้องถิ่นไทย ตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดของเกษตรกร และส่งเสริมสุขภาพด้วยสมุนไพรไทย เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพและมุ่งเน้นการผลิตพืช ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรทุกชนิดอย่างปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง อบต.กะลาเส และรพ.สต.กะลาเส ทำโครงการตรวจหาสารเคมีในเลือดของเกษตรกรและผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตพืชที่ปลอดภัย โดยมีนายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายก อบต.กะลาเส ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกะกะลาเส เป็นประธาน ทั้งนี้ ประชาชนชาวกะลาเส ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ทั้งไว้จำหน่ายและไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งอาจเป็นบ่อเกิดปัญหาโรคต่างๆ จากการใช้สารเคมี และสารกำจัดศัตรูพืชอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ เพื่อการคุ้มทุนหรือใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและรักษาคุณภาพผลผลิต เนื่องจากรูปแบบการเกษตรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการเกษตรทำเพื่อการบริโภค มาเป็นการเกษตรเศรษฐกิจ เกษตรกรต้องการเพิ่มผลผลิตและรักษาคุณภาพของผลผลิต จึงมีการสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมทั้งสารเคมีกำจัดวัชพืช ประกอบกับการขาดองค์ความรู้ในการใช้สารเคมี ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารพิษ เกิดสารพิษตกค้างในผัก และสะสมในลำห้วย หนอง คลองบึงฯลฯ การบริโภคผักและใช้แหล่งน้ำที่มีการสะสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ร่างกายที่ได้รับสารพิษมีอาการเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง ตาพร่า หายใจติดขัด ฯลฯ ทั้งนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมการเจาะเลือดตรวจทั้งหมด 113 คน ในการเจาะเก็บตัวอย่างเลือด นำไปตรวจวิเคราะห์ 2 อย่าง คือ ตรวจหาสารเคมีในร่างกาย หากพบจะได้รับสมุนไทยรางจืด และตรวจความเข้มของเลือดให้เกษตรกรด้วย ฮีมาโตคริต (hematocrit) เพื่อวัดว่าร่างกายมีเม็ดเลือดแดงพอหรือไม่ หากไม่พอก็จะเกิดภาวะเลือดจาง โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วใส่ในหลอดแก้วแล้วนำไปปั่นโดยใช้แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางให้เม็ดเลือดแดงไปกองรวมตัวกันที่ก้นหลอดแก้ว ถ้าพบใครเลือดจาง รพ.สต.จะให้ยาเฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous sulfate) หรือยาบำรุงเลือด เป็นอาหารเสริมธาตุเหล็กไปกิน 2 เดือน จากนั้นค่อยมาตรวจซ้ำ เพื่อให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เพิ่มความเข้มของเลือด สร้างภูมิต้านทาน ทั้งนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมการเจาะเลือดตรวจทั้งหมด 113 คน ผลปรากฏว่า เลือดปกติ 18 คน ผลเลือดปลอดภัย 27 คน ผลมีความเสี่ยง (รับยาสมุนไพรรางจืด ) 31 คน ผลไม่ปลอดภัย (รับยาสมุนไพรรางจืด ) 21 คน และผลความเข้มข้นของเลือดต่ำ (รับยาบำรุงเลือด) 16 คน
ซึ่ง รพ.สต.กะลาเส เคยตรวจเลือดเกษตรกรมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2561 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทำการคัดกรองจำนวน 100 คน พบว่า มีกลุ่มไม่ปลอดภัย 40 คน คิดเป็นร้อยละ 40 หลังจากให้รับประทานยาสมุนไพรรางจืด พบว่าจากที่เป็นกลุ่มไม่ปลอดภัย ดังกล่าวลดลงเป็นกลุ่มปลอดภัย 33 คน กลุ่มเสี่ยง 4 คน กลุ่ม ปกติ 3 คน ต่อมาปี 2562 เป้าหมายจำนวน 201 คน ผลเลือดระดับปกติ จำนวน 39 คน คิดเป็นร้อยละ 19.40 ผลเลือดปลอดภัยจำนวน 104 คน คิดเป็นร้อยละ 51.74 ผลเลือดมีความเสี่ยง จำนวน 49 คนเป็นร้อยละ 24.38 ผลเลือดไม่ปลอดภัย จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 4.48 ส่วนข้อมูลระดับจังหวัดตรัง ผลการตรวจเลือดประชาชนจังหวัดตรัง ตั้งแต่ปี 2556 -2562 พบว่า มีประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยง อยู่ระหว่างร้อยละ 10.63 -24.95 และในปี 2562 มีแนวโน้มจะสูงขึ้น (ปีต่อหยุดตรวจหลังเจอสถานการณ์โควิด) ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จังหวัดตรังได้ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยรางจืด เพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดภาวะเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าวิธีดังกล่าวได้ผลดี โดยทำให้กลุ่มเสี่ยงกลับไปเป็นกลุ่มปกติ ถึงร้อยละ 93.5 – 95.0
ข่าวน่าสนใจ:
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
ด้านนายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายก อบต.กะลาเส ประธานคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกะกะลาเส บอกว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากการกลุ่มปาล์มแปลงใหญ่ RSPO สิเกา-วังวิเศษ โดยบริษัทรับซื้อปาล์มน้ำมัน ที่เห็นว่าประชาชนใช้สารเคมี โดยเฉพาะยาปราบวัชพืช ซึ่งก็เป็นจริง จากการ รพ.สต.กะลาเส เคยสุ่มตรวจประชาชนในหมู่ 1 และหมู่ 2 ผลปรากฏ มีสารเคมีตกค้างในเลือดจำนวนมาก ร้อยละ 60-70 จึงได้ทำโครงการต่อเนื่องกันมา 5 ปีแล้ว โดย รพ.สต.จะมีการจัดยาให้เกษตรกรที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และเป็นโครงการที่ได้รับการยกย่องจาก RSPO , จาก GIZ และจาก Auditor หรือผู้สอบบัญชีที่เป็นกรรมการประเมินตรวจสอบสวนปาล์มน้ำมัน จนได้รับคำชมเชยว่า ชุมชนกะลาเสเป็นชุมชนแบบอย่างที่คำนึงถึงความปลอดภัย ห่วงใยในสุขภาพของเกษตรกร เพราะมีการสุ่มตรวจตัวอย่างเลือดหาสารเคมีในร่างกายของผู้สัมผัสโดยตรงยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง โดยมี อสม.ออกไปสำรวจ และถามความสมัครใจของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ
นายสมปราถ พงษ์แพทย์ เกษตรกร บอกว่า มีอาชีพทำสวนปาล์ม ปกติก็จะใช้สารเคมีด้วยในการฆ่าหญ้า แต่จะจ้างคนฉีดไม่ได้ฉีดเอง ซึ่งการตรวจหาสารเคมีในร่างกายแบบนี้ดี จะได้รู้เข้าใจวิธีการใช้การฉีดยา ถ้าตรวจพบเจอว่ามีสารเคมีในร่างกาย อาจจะต้องเปลี่ยนยี่ห้อของสารเคมี แต่การปลูกพืชผักทั่วไปนั้น ตนเองจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ แต่จะใช้ภูมิปัญญาจากพืชสมุนไพรไทยมาทำ เช่น ใช้ยาเส้นผสมกับใบสะเดา เปลือกตำเสา เปลือกขี้เหล็กมาทำน้ำหมัก เพื่อนำฉีดรดพืชผัก ส่วนยาฆ่าหญ้าจะใช้เกลือกับผงซักซอกผสมกัน ฉีดพ่น ผลิตเองทำเอง เพราะพืชผักก็กินเองด้วย ซึ่งฉีดพ่น 2-3 วันก็เก็บกินได้ ปลอดสารพิษ
ด้านนายสมนึก ยงประเดิม หมู่ 5 ต.กะลาเส บอกว่า เคยตรวจมาแล้วครั้งหนึ่งกับโครงการเกษตรปาล์มแปลงใหญ่ พบว่ามีสารเคมีในเลือด จึงรับประทานรางจืดตามที่หมอแนะนำ จากนั้นก็เว้นไป มาตรวจใหม่ครั้งนี้ ก็เป็นโครงการที่ดี จะได้รู้ความเสี่ยงของตนเอง ที่บ้านตนเองทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำสวนปาล์ม และปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก และใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ทำให้รู้และเข้าใจเรื่องการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย รู้วิธีการป้องกันสารเคมี แต่ส่วนใหญ่จะใช้สมุนไพรในการกำจัดศัตรูพืช เช่น ใบยาสูบ หรือที่เจ้าหน้าที่แจก เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันคนอื่นด้วย จะได้รู้ว่าร่างกายว่ามีสารเคมีตกค้างหรือเปล่า แต่ยอมรับว่าหลีกเลี่ยงการใช้ยาก เพราะบางอย่างจำเป็นต้องใช้ แต่รู้ว่าต้องใช้ให้ถูกวิธี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: