เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งตรัง ชี้ พักหนี้ ช่วยได้เพียงรายเล็ก ยกตัวอย่างเลี้ยงกุ้ง ราคาตกต่ำ ขาดทุนครั้งละ 2-3 ล้าน แฉ ต้นตอ เอกชนนำเข้า-ลักลอบสวมสิทธิ์ แบบเดียวกับหมูแช่แข็ง
นายห้าหรน กองข้าวเรียม สมาชิกสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวถึงนโยบายพักหนี้เกษตรกรรายย่อยของรัฐบาลว่า การพักหนี้สำหรับเกษตรกรรายย่อยถือว่าเป็นเรื่องดี แต่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างเรามีผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำมายาวนาน รวมถึงโรคในกุ้ง โดยเฉพาะต้นทุนการเลี้ยงสูง และถ้าเลี้ยงแล้วขาดทุน จะขาดทุนสูงเป็นหลักล้าน บางรายขาดทุนครั้งละ 2-5ล้านบาท บางรายต้องปิดบ่อไปเลย แต่การพักนี้รอบนี้รัฐบาลช่วยเพียง 300,000 บาท ตนมองว่าจำนวนนี้ไม่ครอบคลุม เพราะเกษตรกรแต่ละรายเป็นหนี้จากการประกอบอาชีพมากกว่านี้ ตนอยากให้รัฐบาลมีนโยบายระยะยาว และเร่งดำเนินการ เรื่องส่งออกกุ้ง ดูแลต้นทุน เช่น แก๊ส ไฟฟ้า อาหารกุ้ง เคมีภัณฑ์ต่างๆ ตอนนี้เกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนสูงถึงกิโลกรัมละ 20-30 บาท ที่ผ่านมาเกษตรกรได้ยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังรัฐบาล และรัฐบาลให้ความช่วยเหลือชดเชยด้านราคาให้กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ได้เพียง 2.8 ตันต่อราย หรือคิดเป็นเงินราว 60,000 บาทเท่านั้น ซึ้งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงทั้งหมด
“ปัญหาที่เราพบคือ มีการนำเข้ากุ้งมา อุตสาหกรรมห้องเย็นเขาก็มีกุ้งใช้ ไม่จำเป็นต้องซื้อกุ้งของเกษตรกร แม้เป็นการนำเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่พบว่าในการนำเข้านั้น มีการสวมสิทธิจนมีกุ้งจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่น รัฐบาลให้นำเข้ามา 5,000 ตัน แต่นำเข้าจริงจะสวมสิทธิ์นำเข้ามา 10,000 ตัน หรือมากกว่านั้นก็มี คล้าย ๆ กับกรณีที่ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมว.เกษตรไปจับกุมห้องเย็นที่สวมสิทธิ์ลักลอบนำเข้าหมูแช่แข็งเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก กรณีการนำเข้ากุ้งก็เช่นเดียวกัน” นายห้าหรนระบุ
ข่าวน่าสนใจ:
แฟ้มภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: