X

หึ่ง! ปลัดมท. สั่งออกราชการ “ผู้ว่าฯ ตรัง” หลังศาลอาญาทุจริตฯ พิพากษาจำคุก ซื้อจีที 200 เจ้าตัวเขียน จม.อำลา

หึ่ง! ปลัดมท. สั่งออกราชการ “ผู้ว่าฯตรัง” หลังศาลอาญาทุจริตฯ พิพากษาจำคุก ซื้อจีที 200 เจ้าตัวเขียน จม.อำลา โอด ถูกเอกชนหลอกขายของ ขอพิสูจน์ความบริสุทธิ์ศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ตามที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำเลย 12 ราย ในคดีจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 ของสำนักงานจังหวัดยะลา ที่มีการจัดซื้อจำนวน 2 สัญญา ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฎหมายเป็นทางการแล้ว โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาจำคุกจำเลย 4 ปี ขณะที่ผู้ต้องคำพิพากษาหลายราย ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่รายการตามปกติ กระทั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เครือข่ายเฝ้าระวังทุจริตส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ได้เข้ายื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และ อธิบดีกรมการปกครอง รวม 2 ฉบับ เพื่อติดตามการกำเนินการทางวินัยตามมาตรา 98 พ.ร.บ.ป.ป.ช. หลังจากได้รับการร้องเรียนสมาชิกเครือข่ายฯ ระบุตามที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงในยุคที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นข้าราชการสำนักงานจังหวัดยะลา และส่งสำนวนกลับตามมาตรา 98 ให้ดำเนินการทางวินัย ซึ่งปัจจุบันเรื่องอยู่กองวินัยการเจ้าหน้าที่ และในส่วนฐานความผิดทางอาญา อัยการสูงสุดก็ได้พิจารณาสำนวนไต่สวนสอบสวนคดีของ ป.ป.ช. และส่งเรื่องฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ได้ประทับรับฟ้องแล้ว จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามผลกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาแล้ว และผู้ถูกกล่าวหาได้อุทธรณ์ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ประทับรับฟ้องแล้ว และ ไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเป็นผลของกฎหมาย ตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 93 แต่ในการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 98 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งหรือถอดถอน ยังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ เลย ทั้งที่คำพิพากษาศาลชั้นตอนออกมาตั้งแต่ปลายปี 2565 จึงขอทวงถามหน่วยงานต้นสังกัดว่า ได้ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ ออกคำสั่งทางปกครองให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือไม่ อย่างไร

ต่อมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 กันยายน ได้ปรากฏนายพิพนธ์ คนขยัน ส.ส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นทวงถามกรณีดังกล่าว โดยสะท้อนปัญหาการดำเนินการทางปกครองต่อข้าราชท้องถิ่นตลอดจนข้าราชการพลเรือน ภายหลังป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ตลอดจนศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาแล้ว โดยหยิบยกกรณีการจัดซื้อเครือตรวจจับระเบิดของสำนักงานจังหวัดยะลา ซึ่งการดำเนินการของผู้บังคับบัญชา อาจมีความล่าช้า สะท้อนปัญหาการดำเนินการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ตลอดทั้งวันของวันที่ 4 ตุลาคม มีกระแสข่าวหนาหูว่านายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามคำสั่งโทษทางวินัยแก่ข้าราชการกลุ่มกังกล่าวแล้ว ตามข้อเสนอของป.ป.ช. ให้ดำเนินการตามมาตรา 98 โดยมีคำสั่งให้ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ออกจากราชการ ตามมติคณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงคดี GT200 ซึ่งในขณะนั้นนายขจรศักดิ์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัดยะลา ขณะที่ในวันเดียวกัน เกิดกระแสข่าวแพร่สะพัดในแวดวงข้าราชการจังหวัดตรัง ว่านายขจรศักดิ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการโดยไม่ระบุเหตุผล ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดตรัง และพยายามขอสัมภาษณ์นายในช่วงเย็นก่อนเลิกงาน โดยเมื่อเดินลงจากศาลากลางนายขจรศักดิ์มีสีหน้าเคร่งเครียดเมื่อถูกถามถึงกระแสข่าวยื่นใบลาออก โดยได้โบกมือปฏิเสธพร้อมกล่าวสั้นๆว่า “ยังไม่มีนะ ยังไม่ได้ยื่น” จากนั้นก็รีบขึ้นรถออกไปทันที

ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม บนศาลาว่าการจังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ ได้เผยแพร่เอกสารไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ลงวันที่ 4 ตุลาคม ระบุเป็นคำกล่าวอำลาจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ตอนหนึ่งว่า พี่น้องชาวจังหวัดตรังและท่านหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรังคงแปลกใจที่ตน ได้เขียนคำอำลาจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ทั้ง ๆ ที่ยังมีอายุราชการอยู่อีก 1 ปี ขอเรียนว่า ในช่วงทำงานอยู่ที่จังหวัดยะลา ในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดยะลา เมื่อปี 2551 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาได้แต่งตั้งให้ตนเป็นประธานกรรมการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด อัลฟา 6 จำนวน 2 ชุด เพื่อมอบให้หน่วยงานความมั่นคงจังหวัดยะลา ไปใช้ในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดยะลา มีการวางระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งศาลากลางจังหวัดยะลาก็ถูกวางระเบิดถึง 2 ครั้ง ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา จึงได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการความมั่นคงจังหวัดยะลาพิจารณาสนับสนุนเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดแบบพกพา เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน เช่นเดียวกับหน่วยงานฝ่ายทหาร ตำรวจ ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งได้จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติงานอยู่ในเวลานั้น

หนังสืออำลาระบุอีกว่า ในปี 2554 ตนและข้าราชการจังหวัดยะลา รวมทั้ง ส่วนราชการต่าง ๆ ที่จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนกรณีมีการร้องเรียนว่า เครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดใช้งานไม่ได้ โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน รวม 3 ชุด ซึ่งปรากฏตามข่าวในหนังสือพิมพ์ และคณะอนุกรรมการไต่สวน 2 ชุดแรกได้เสนอความเห็นต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า หน่วยงานและข้าราชการได้จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่มีเจตนากระทำความผิด และจากการตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงจังหวัดยะลานั้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งรายงานความเห็นไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เป็นกรณีที่บริษัทผู้ขายได้หลอกลวงส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดมิได้มีการทุจริตแต่อย่างใด และในปี 2555 จังหวัดยะลาได้แจ้งความดำเนินคดีบริษัทผู้ขายเครื่องมือตรวจหา วัตถุระเบิด และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า บริษัทผู้ขายเครื่องมือตรวจหา วัตถุระเบิดได้ฉ้อโกงจังหวัดยะลาตามฟ้อง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้ซื้อคือ จังหวัดยะลาและได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแสดงให้คู่สัญญาทราบ และให้คืนเงินแก่จังหวัดยะลา

นายขจรศักดิ์ระบุอีกว่า ในส่วนของตนและข้าราชการที่ถูกกล่าวหานั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้ มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรง โดยให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ซึ่งข้าราชการ ที่ถูกกล่าวหาและลงโทษครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับล่างและระดับกลาง และตามกฎหมาย ป.ป.ช. ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องมีคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดมา โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดใช้สำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาใช้ในการลงโทษ และไม่ต้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังนั้น ตนจึงต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลปกครองต่อไป ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี และจะทำให้ไม่สามารถกลับมารับราชการได้อีก

“ในท้ายที่สุด แม้ว่าผมจะกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม ผมจึงต้องปฏิบัติตามระบบและขั้นตอน กระบวนการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งที่ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ผมรับราชการมา ผมไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยในการกระทำการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่อย่างใด มีแต่เจตนา และความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน และได้สมัครใจไปปฏิบัติงานที่จังหวัดยะลาซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่มีการก่อเหตุร้ายและความรุนแรงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นที่ทราบกัน โดยทั่วไปแล้ว”อดีตผู้ว่าฯตรังระบุ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน