ตรัง-“ข้าวเบายอดม่วงตรัง” ขึ้นทะเบียน GI แล้ว ข้าวพื้นเมืองมีสารต้านอนุมูลอิสระ คาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนสูง ตรงใจกลุ่มรักสุขภาพ พาณิชย์จังหวัด ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ เพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ชาวนายิ้ม ภูมิใจหลังทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกาย อนุรักษ์จนฟื้นคืน ยังห่วงพื้นที่ทำนาลด นายทุนกว้านซื้อ ปัญหาน้ำท่วม ไฟถนนทำข้าวไม่ออกรวง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้า “ข้าวเบายอดม่วงตรัง” (Bao Yod Muang Trang Rice) ทะเบียนเลขที่ สช 66100212 ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน 14 กันยายน 2565 ถือเป็น GU ลำดับที่ 3 ของจังหวัดตรัง ต่อจากหมูย่างเมืองตรัง และพริกไทยตรังพันธุ์ปะหลียน
ทั้งนี้ นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ข้าวเบายอดม่วงตรัง (Bao Yod Muang Trang Rice) สินค้า GI ของตรัง ครอบคลุมทั้งข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และข้าวขัดขาว โดยข้าวเบายอดม่วงเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ข้าวกล้องมีเยื่อหุ้มเมล็ด 2 สี คือ สีแดงและสีขาวขุ่นคล้ายสีข้าวเหนียว เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ เมล็ดสีแดงมีสารต้านอนุมูลอิสระ คาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนสูง เมล็ดสีขาวให้ความนุ่มเมื่อหุงสุกแล้ว เมล็ดข้าวมันวาว เหนียวนุ่มไม่กรุบหรือกระด้าง รับประทานง่าย ทั้งนี้ ข้าวเบายอดม่วงพบมีการเพาะปลูกโดยทั่วไปในจังหวัดตรัง มีพื้นที่ปลูกประมาณ 400 ไร่ ให้ผลผลิตไร่ละ 360 กิโลกรัม ปัจจุบันขายในราคากิโลกรัม 50-60 บาท ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเบายอดม่วงยังได้ต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เส้นพาสต้า ขนมจีนเส้นสด ข้าวตัง ขนมคุกกี้ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมพองเค็ม สบู่ หรือ แม้แต่ร้านอาหาร Thai Select ในจังหวัดตรังยังได้นำข้าวเบาม่วงเป็นจำหน่ายเมนูประจำร้านด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- สจ.ธรรมชาติ ไม่มาศาลฉะเชิงทรา ส่งสองทนายคู่หูยื่นฟ้องอัจฉริยะแทน
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- สยบข่าวลือ สจ.ธรรมชาติ หนีซุกเขมร หลังถูกทนายดังแฉเอี่ยวรีดเว็บพนัน
- ชาวนาเผยต้นทุนการทำนาสูงแถมข้าวยังคงราคาตกต่ำอยากให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือ
พาณิชย์จังหวัดตรัง ระบุอีกว่า โดยก่อนหน้านี้ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ได้นำข้าวเบายอดม่วงของกลุ่มเกษตรกรไปจำหน่ายให้ประชาชน ตามโครงการธงฟ้าราคาประหยัด ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี และหลังจากนี้ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง จะเข้าไปขับเคลื่อนการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า GI สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ขั้นตอนการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI ตลอดจนส่งเสริมประชาสัมพันธ์ ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับการตลาดยุคใหม่ เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง นอกจากนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ยังได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนสินค้าGI ผ้าทอนาหมื่นศรี และ แตงโมเกาะสุกร ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคำขอ
นางเพรียงใจ ชุมนาค หรือ ป้าแดง เครือข่ายข้าวอินทรีย์และผู้ทำนาอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวโบราณตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ปราชญ์ภูมิปัญญานาตรัง กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจเพราะได้ปลูกข้าวเบายอดม่วงมาตั้งแต่ต้น เป็นรายแรกในตำบลนาหมื่นศรี ซึ่งการได้รับรองมาตรฐานGI ทำให้ผลผลิตราคาดี ขายได้มากขึ้น คนที่รักสุขภาพมาซื้อกันมาก เพราะเป็นข้าวน้ำตาลต่ำ ช่วยชะลอความแก่ และข้าวเบายอดม่วงแปรรูปเป็นขนมได้ด้วย ตอนนี้ตนได้ทำข้าวเบายอดม่วงมาทำเป็นแป้งแบบเดียวกับแป้งข้าวเจ้า แล้วเอาไปทำขนมในช่วงเทศกาลเดือนสิบของภาคใต้ เช่น ขนมรูหรือชนมเบซำ นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นชาข้าวเบายอดม่วง ขนมขี้มอด แป้งข้าวเบายอดม่วงสำเร็จรูป เป็นต้น
“มันเป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดของป้า เพราะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์พันธุ์ข้าวตรัง มีอาจารย์สำราญ สมาธิ ผู้ศึกษาเรื่องข้าวพื้นเมืองโบราณตรังมาช่วยกัน เราช่วยกันปอกเปลือกกันทีละเมล็ดเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ จนได้ข้าวGIของตรัง การอนุรักษ์ข้าวสายพันธุ์นี้ถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย คนไม่นิยมปลูกเพราะให้ผลผลิตน้อย เป็นการปลูกสำหรับบริโภคในครัวเรือน สำหรับให้คนสูงอายุ หรือ ให้คนป่วย แต่ป้าปลูกเพื่อพื้นฟูท้องนา ใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไถกลบตอซัง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นห่วงพื้นที่นาในตำบลนาหมื่นศรีที่ลดลง มีนายทุนมาหาซื้อที่ดินที่นาแถบนี้ ปัญหาน้ำท่วมขังก็ยังเป็นอุปสรรค เพราะข้าวเบายอดม่วงปลูกในที่น้ำลึกไม่ได้ ไฟฟ้าส่องสว่างข้างทางที่ส่องถึงท้องนา ก็ทำให้ข้าวไม่ออกรวง”ป้าแดงระบุ
นางเพรียงใจ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ตนได้ส่งข้าวนางขวิดแดง ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองตรังไปศึกษาต่อยังศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ข้าวนางขวิดมีลักษณะเป็นข้าวพื้นบ้าน ระยะเวลาปลูกจนถึงให้ผลผลิต อยู่ในช่วง 6 เดือน เมล็ดข้าวยาว และที่ปลายของเมล็ดข้าวกระดกขึ้นเล็กน้อย เป็นลักษณะขวิดในภาษาใต้ ซึ่งปกติจะเป็นเมล็ดขาวและแดง เมล็ดสีแดงเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม หลังจากนี้จะส่งข้าวนางเอกไปศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการสั่งซื้อข้าวเบายอดม่วง สามารถสั่งซื้อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนข้าวเบายอดม่วงนาพละ โทร.089-6451814 , เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปข้าวเบายอดม่วง โทร. 098-0173694 ,วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวตำบลนาหมื่นศรี โทร.095-2579853 , ป้าแดง 087-570-3566 , แปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนพัฒนาการเกษตรครบวงจรฝายคลองนางน้อย โทร.095-2601246 และร้านจำหน่ายสินค้าสุขภาพในจังหวัดตรัง เช่น ร้านเรดเฮาส์ฟาร์ม ร้านอาหารทางเลือก ร้านไร่มีตาลตะวัน และ ร้านดาวล้อมเดือน กลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: