ตรัง ชมรมนกกรงหัวจุกแฟนซีจังหวัดตรัง จัดแข่งขันนกกรงหัวจุก ระดมทุนเป็นค่าเดินทางไปยื่นหนังสือเสนอปลดล็กนกกรงหัวจุก พร้อมล่า 20,000 รายชื่อเสนอปลดล็อกนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่ผ่านมาจนท.ฝ่ายปกครองของอำเภอหนึ่งในจังหวัดตรัง เข้าจับกุมชาวบ้านที่นำนกไปแข่งตามราวแขวนนก โดยแจ้งข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง แม้ชาวบ้านนำใบอนุญาตมาแสดงแต่จนท.ไม่รับฟัง
ที่สนามกีฬาทุ่งแจ้ง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ชมนกกรงแฟนซีจังหวัดตรัง จัดการแข่งขันนกกรงหัวจุกเพื่อการกุศล ระดมทุนไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภา ขอถอดถอนนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง และส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ การแข่งขันครั้งนี้มีนกกรงหัวจุกเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 500 ตัว ซึ่งนกที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสด 5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล โดยผู้จัดได้แจกคิวอาร์โค้ด ให้ผู้เข้าร่วมแข่งสแกนลงชื่อสนับสนุนปลดล็อกนกกรงหัวจุก เป้าหมายให้ได้รายชื่อ 20,000 รายชื่อ รวมทั้งตั้งกล่องรับบริจาคสนับสนุนปลดล็อกนกกรงหัวจุก
ข่าวน่าสนใจ:
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
นายมานิต อินทองปาน ประธานชมรมนกกรงแฟนซีจังหวัดตรัง บอกว่า จัดงานนี้ขึ้นเพื่อระดมทุนสนับสนุนค่าเดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภาในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เพื่อปลดล็อกนกกรงหัวจุกออกจาสัตว์าคุ้มครอง เพราะนกกรงหัวจุกที่สมาชิกเพาะเลี้ยงอยู่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและประเทศอย่างมากมาย ตัวอย่างนกกรงเผือกที่นำมาแข่งในวันนี้ มีราคาตั้งแต่ตัวละ 10,000 บาท นกกรงหัวจุกหนึ่งปีสามารถออกลูกได้ 7 ครอก ได้ลูกนกครอกละ 3 ตัว หรือปีละ 21 ตัว สามารถสร้างรายได้นับแสนให้กับคนเลี้ยง ทั้งที่ในธรรมชาติออกลูกได้แค่ 3 ครอกต่อปี การเพาะเลี้ยงแบบฟาร์มไม่ได้ทำให้เลือดชิด แต่ทำให้ได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้น เพราะผู้เพาะเลี้ยงต้องการสายพันธุ์ดี ขายได้ราคาดี ในจังหวัดตรังมีฟาร์มเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก 60 ฟาร์ม ที่เป็นฟาร์มถูกต้องตามกฎหมาย และขึ้นทะเบียนถูกต้อง ในขณะที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่ได้ขออนุญาตเพราะขั้นตอนยุ่งยากมาก ต้องไปขึ้นทะเบียนนกกรงหัวจุกที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนตัวละ 800 บาท ถือว่าสูงมาก หากปลดล็อกได้ ชาวบ้านสามารถเพาะเลี้ยงสร้างรายได้ และยังสามารถขจัดปัญหาการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่มีความเลื่อมล้ำกับชาวบ้าน ปัญหาเจ้าหน้าที่ขัดแย้งกับชาวบ้านได้ด้วย นักวิชาที่ออกมาให้ข้อมูลว่าการเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกทำให้เลือดชิด ตนขอยืนยันว่าฟาร์มต่างๆ เลี้ยงเพื่อให้ได้สายพันธุ์ดี ไม่ทำให้เลือดชิด นกที่นำมาแข่งขันกันล้วนเป็นนกกรงหัวจุกได้จากฟาร์ม จากการเพาะเลือกคัดสายพันธุ์ ให้มีรูปลักษณะดี มีหัวใจนักสู้ มีความทนทานต่อโรค
การเลี้ยงนกกรงและแข่งขันนกกรงหัวจุกสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว การจัดการแข่งขันแต่ละครั้งมีการกระจายรายได้ และชมรมผู้จัดยังมีการนำเงินรายได้ไปช่วยสังคม เช่น นำเงินรายได้ไปให้บ้านพักคนชรา บ้านเด็กกำพร้า
ที่ผ่านมานกเขา ไก่ชน วัวชน ล้วนปลดล็อกได้แล้ว แต่นกกรงกรงหัวจุกเราขอให้มีการปลดล็อกมา 20 ปี แต่ยังไม่สามารถปลดล็อกได้
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์และพันธุ์พืช ควรมีทางออกให้กับชาวบ้านด้วย ไม่ใช่จะตั้งหน้าตั้งตาจับ-ปรับ ให้สามารถเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มจำนวนนกกรงหัวจุกให้มีจำนวนมากขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 66 เราได้มีตัวแทนจากจังหวัดตรังไปประชุมที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไปประชุมเรื่องนี้กับ สส. สว และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมมีมติว่าให้แต่ละจังหวัดรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นขอถอดถอนนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง และวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ตัวแทนแต่ละจังหวัดจะไปยื่นหนังสือขอปลดล็อกพร้อมกันที่รัฐสภา
โดยก่อนหน้านี้แค่การให้ใบอนุญาต และการขึ้นทะเบียน ผู้เลี้ยงนกจังหวัดตรังต้องไปขึ้นทะเบียนที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จังหวัดนครศรีธรรมราช มีค่าขึ้นทะเบียนต่อตัวที่แพงมาก แต่หากปลดล็อกให้เลี้ยงแบบเสรี จะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนอีกหลายกลุ่ม เช่น เกษตรกรปลูกกล้วย มะละกอ ช่างทำกรงนก ช่างทำซี่กรงนก
แต่หากปลดล็อกทำไม่ได้ ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถรองรับและรับขึ้นทะเบียนได้ภายในจังหวัดของตัวเอง และปรับลดค่าขึ้นทะเบียนลง ซึ่งทุกวันนี้การไปขึ้นทะเบียนที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กว่าที่เจ้าหน้าที่จะมาตรวจปรากฎว่าลูกนกนั้นโตไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 16 ตุลาคมกลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกจังหวัดตรังได้ยื่นหนังสือผ่านสส.ตรังทั้ง 4 เขต เพื่อให้ช่วยเรียกร้องผลักดันการปลดล็อคนกกรงหัวจุกในสภาด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมา ในพื้นที่มีการจับกุมชาวบ้าน โดยมีฝ่ายปกครองอำเภอหนึ่งในพื้นที่ เข้าจับกุมชาวบ้านที่นำนกไปแข่งตามราวแขวนนก โดยแจ้งข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมีการยึดนกนำไปขังไว้รวมกัน เกิดปัญหานกปะปนกัน และชาวบ้านต้องเสียค่าปรับตัวละ 1,000 บาท จึงจะยอมคืนนกให้ บางคนถูกจับนับ 10 ตัว ต้องเสียค่าปรับนับหมื่นบาท หรือจ่ายมากกว่านั้น ทั้งที่ชาวบ้านบางส่วนมีใบอนุญาตเพาะเลี้ยงและครอบครองมาแสดง แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่รับฟังและก็บอกกับชาวบ้านว่าเป็นนกเถื่อน ต้องจับกุมตามกฎหมาย ทำให้ผู้เลี้ยงนกวิตกกังวลและหวาดกลัวในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เมื่อไม่สามารถปลดล็อกได้ ซึ่งอาจเป็นช่องทางการทุจริต กลั่นแกล้ง จากเจ้าหน้าที่ได้ เพราะให้อำนาจดุลพินิจในการดำเนินการค่อยข้างมาก ขณะที่ขั้นตอนการพิจารณาขออนุญาตตามกฏหมายมีความล่าช้าและซับซ้อนซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ได้เช่นกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: