ตรัง-“พิมพ์ภัทรา” ลงตรัง พบภาคอุตสาหกรรม “สภาอุตฯใต้” ประสานเสียงหนุนแลนด์บริดจ์ ช่วยลดต้นทุนขนส่ง ชงขอสนับสนุนพัฒนาแรงงานขั้นสูงรับมือค่าแรง 400 บาท รมว.อุตสาหกรรม ลั่น รัฐบาลเอาแน่ สำรวจเส้นทางแลนด์บริจ ระนอง-ชุมพร แล้ว ดูแลเต็มที่ไม่ให้กระทบประชาชน-สิ่งแวดล้อม “ศิริพัฒน์” เตรียมนั่ง ที่ปรึกษารมต.
วันที่ 24 ตุลาคม 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายถนอมพงศ์ หลีกภัย สส.ตรัง เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วยคณะ เดินทางมาตรวจราชการและมอบนโยบาย ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง โดยมีนายทรงกรด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง นายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ นายธนพจน์ ศุภศรี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ให้การต้อนรับ
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ทวีศักดิ์ สงชู ผู้สมัครนายกอบจ.ตรังเบอร์ 3 ชูแผนชุมชนมีชีวิตพร้อมพัฒนาท้องถิ่น
- เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำ หัวรถไถไฟฟ้า ฝีมือครูสุโขทัย ถูก-ประหยัดกว่าถึง 10 เท่า
- เฒ่าชาวเบลเยียม วัย 80 ปี ถูกกลุ่มวัยรุ่น มีดฟันหัวปล้นทรัพย์ คืนวันคริสต์มาส
- "ประเสริฐ รักไทย” ประกาศชน “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” สู้ศึกชิงเก้าอี้ อบจ.ตรัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวพิมพ์ภัทราได้นำคณะจากกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมเดินทางมาด้วย โดยปรากฏมีนายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรครยมไทยสร้างชาติ รวมถึงนายศิริพัฒน์ พัฒกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด อาทิ พังงา ตรัง นครศรีธรรมราช ร่วมเดินทางมาด้วยและนั่งประชุมติดกับนางสาวพิมพ์ภัทรา โดยนางสาวพิมพ์ภัทราได้แนะนำต่อที่ประชุมว่านายศิริพัฒน์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ซึ่งจะมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะมีคำสั่งแต่งตั้งในสัปดาห์หน้า
ในที่ประชุมนางพรทิพา อัครสุต ได้รายงานสภาพทั่วไปของจังหวัดตรัง และ อุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ และ หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ได้เสนอความคิดเห็นต่อนางสาวพิมพ์ภัทรา
โดยนายอดิศร ตันเองชวน ได้เสนอประเด็นสำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. ผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ 2. ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน 3. โครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช 4. การรายงานกากอุตสาหกรรม 5. การกำหนดค่าฝุ่นละอองของกระทรวงอุตสาหกรรม (320 ppm) เเละ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (120 ppm) ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ 6. ปรับปรุงระบบ Industry Single Form เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการบูรณาการข้อมูล เเละขอข้อมูลมากเกินความจำเป็น
โดยนายอดิศร กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่ประสบอยู่คืออุตสาหกรรมต่อยอดจากน้ำมันปาล์มไปเป็นแก๊สซิไฟเออร์ ซึ่งภาคเอกชนได้หารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขผังเมืองให้มีพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้ และภาคใต้ต้องการให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งหรือโลจิสติกส์ เพราะภาคใต้มีค่าขนส่งที่สูง ภาคอุตสาหกรรมภาคใต้จะสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ระหว่างชุมพร-ระนอง
เเละนายธนพจน์ ศุภศรี สภาอุตสากรรมจังหวัดตรัง ได้เสนอประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้ 1. โครงการ “ออมต้นไม้ ” ปีที่ 1 และ 2 (ปี 2565 – 2566) 2. โครงการชาวอุตสาหกรรมรวมพลังบริจาคโลหิต เป้าหมาย 500,000 ซีซี
นายธนพจน์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไม้ยางพาราและปาล์มน้ำมันยังเป็นประเภทที่ต้องใช้แรงงานคน และอนาคต รัฐบาลมีแนวทางจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งอุตสาหกรรม ต้องต่อสู้กับต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากได้คือการ พัฒนาฝีมือแรงงาน และอยากให้เอกชน ที่อยู่ต่างจังหวัดได้เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งการลงทุนในเทคโนโลยี ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า ซึ่งแน่นอนว่า ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการลงทุน แต่ในกลุ่มเอสเอ็มอีย่อมมีปัญหา
ซึ่งอยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้กับเอกชนและภาคอุตสาหกรรม
โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา ได้มอบนโยบายในห้องประชุมอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือ อุตสาหกรรมจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะทุกอุตสาหกรรมมีส่วนสร้างรายได้เข้าประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชน ในส่วนของประเด็นเรื่อง BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ แต่ความเป็นจริงแล้ว BOI ก็ให้สิทธินักลงทุนเดิมเช่นกัน และขอยืนยันในฐานะตัวแทนของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีว่าเรื่องแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา ซึ่งวันนี้ได้ทำเรื่องขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ โดยเฉพาะเส้นทางที่สำรวจเดิมไว้ และจะทำแผนขอใช้พื้นที่ให้แล้วเสร็จในปี 2567 แลนด์บริดจ์ไม่ได้อาศัยเพียงงบประมาณของรัฐ หรือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นการสร้างท่าเรือจากซ้ายไปขวา แต่เป็นการสร้างโรงงาน สร้างนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และจะรองรับโรงงานต่างๆให้เกิดขึ้นทั้งในภาคใต้และภาคกลาง ให้มารวมกันเพื่อส่งเสริมสนับสนุนโรงงานเดิมที่มีอยู่ ส่วนประเด็นอื่นๆที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นห่วง เช่น การยกระดับฝีมือแรงงาน เรื่องนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็ให้ความสำคัญ ซึ่งให้การช่วยเหลือตั้งแต่ยกระดับฝีมือแรงงาน และการลดต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้การเดินทางมาจังหวัดตรังในครั้งนี้เพื่อให้กำลังใจข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งตอนนี้ด้านกฎหมายมี พ.ร.บ.ใหม่เพื่อให้ทันยุค ทันเหตุการณ์ จึงอยากให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว เพื่อให้ทันสมัยไม่ถูกกีดกันทางการค้า มีเรื่องเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมและธนาคารเอสเอ็มอีแบงค์ ก็ได้ให้การสนับสนุนเช่นกัน
ด้านดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ จะมีการขยายของเดิมซึ่งหากไม่พบว่าอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ขยายในกิจการเดิมที่ทำได้ จะมีกรอบย่อย ๆ เช่น การยกระดับการผลิต การลดการใช้พลังงาน การต่อยอดอุตสาหกรรม เรื่องสิ่งล้อม ที่สามารถเข้าไปขอได้ในรูปแบบของ BOI ส่วนเรื่องเงินลงทุนตอนนี้กระทรวงได้ออกโปรแกรมการลดการใช้คาร์บอน ที่จะมีเงินกู้ดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็น เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความตั้งใจในการยกระดับการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายการดูแลสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ด้านนายถนอมพงศ์ หลีกภัย สส.ตรัง เขต1 พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เรื่องแลนด์บริดจ์มีการถกเถียงกันในสภา วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้พูดชัดเจนว่าเกิดขึ้นแน่นอน ตนคิดว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีประโยชน์ต่อภาคใต้ ทางด้านสร้างความสะดวกสบาย และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรหลายต่อหลายครั้ง ทั้งนี้ตนเชื่อเหลือเกินว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้น จะมีอุตสาหกรรม เกิดขึ้นตามอีกจำนวนมาก และทำให้ประชาชนทำให้ภาคใต้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น
โดยคณะได้ใช้เวลารับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ในห้องประชุมเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดพัทลุง โดยก่อนออกจากจังหวัดตรัง นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ภาคใต้และจังหวัดตรัง ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเขาอยากเห็นโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าทำเรื่องนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมพร้อมเรื่องการลงทุน และสนับสนุนผู้ประกอบการที่จะมาลงทุน รวมทั้งดูแลผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ ตอนนี้ต้องดูว่ามีนักลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และการควบคุม เช่น การดูแลมลพิษ รวมทั้งส่งเสริมให้พวกเขามาลงทุน ซึ่งทุกโครงการมีทั้งคนสนับสนุนและคนคัดค้าน ตนคิดว่าต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยกระทรวงจะใช้กฎหมายควบคุมโรงงานและอุตสาหกรรมให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนประเด็นเรื่องประเด็นเงินดิจิตอลนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐบาล หากมีความชัดเจนคงจะมีผู้ประกอบการเข้าหารือ ซึ่งทางกระทรวงพร้อมสนับสนุนในหมุนเวียนภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: