ตรัง-มหาวิทยาลัยมทร.ศรีวิชัยตรัง ร่วมกับโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มแปลงใหญ่ ร่วมกันต่อยอดทำเจลนวดสมุนไพรน้ำมันปาล์มแดง ใช้สำหรับการนวดผ่อนคลาย เพื่อต่อยอดผลผลิตการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลดปริมาณผลผลิตในตลาด แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำระยะยาว พัฒนาปาล์มอย่างยั่งยืน
กลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันท่าสะบ้า หมู่ 3 ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวกันของเกษตรกรชาวสวนปาล์มใน ต.ท่าสะบ้า จำนวน 30 คน เป็นการปลูกปาล์มแปลงใหญ่ มีเนื้อที่สวนปาล์มน้ำมันรวมกว่า 500 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ต่อปี ลดต้นทุนการผลิต และคิดค้นพัฒนาต่อยอดแปรรูปผลปาล์มน้ำมันนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจำนวนมาก เช่น น้ำมันปาล์มแดง สำหรับบริโภคแทนน้ำมันพืช ทำน้ำสลัด หรือผสมในอาหาร ไขปาล์ม สบู่เหลวน้ำมันปาล์มแดง สบู่ก้อนน้ำมันปาล์มแดง สบู่กรีเซอรีน สูตรน้ำผึ้ง เป็นต้น โดยเกษตรกรเจ้าของผลผลิตการเกษตรดังกล่าวเอง เพื่อดูดซับปริมาณปาล์มน้ำมันที่ออกสู่ตลาด และแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ พัฒนาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยความพยายามของเกษตรกรโดยไม่หวังพึ่งรัฐในการนำผลผลิตไปใช้ภายในประเทศ ล่าสุด ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เป็นเจ้าของงบประมาณ จัดอบรมให้ความรู้กับ การนำน้ำมันปาล์มแดงที่สกัดได้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิวพรรณและรักษาอาการ เช่น การทำเจลนวดสมุนไพรน้ำมันปาล์มแดง ใช้สำหรับการนวดผ่อนคลาย การทำโลชั่นบำรุงผิว เนื่องจากประเทศไทยเรามีธุรกิจทั้งนวดสปา นวดแผนไทย ซึ่งขึ้นชื่อและนิยมอย่างแพร่หลาย รวมทั้งตลาดทั่วไป เพื่อหวังเจาะตลาดต่างๆดังกล่าว นำอนาคต โดยเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาให้ความรู้ พร้อมสาธิตวิธีการทำและการทดสอบสภาพผิว การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการทำผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับสภาพผิวและการจำหน่าย เช่น เจลนวดโลชั่นบำรุงผิวต่างๆด้วย โดยนำสมุนไพรข้างบ้านหรือในสวน มาเป็นส่วนผสมในการทำผลิตภัณฑ์ให้ได้กลิ่นและสรรพคุณต่างๆ เช่น สารสกัดจากผักเสี้ยนผี ใช้ในโรคข้อเก่าอักเสบ เอ็นอักเสบ คลายกล้ามเนื้อ ,สกัดไพร ขมิ้นอ้อย โดยการเอาหั่น นำไปต้มสกัดกรองด้วยผ้าขาว จากนั้นนำมาตุ๋นในไขน้ำมันปาล์มแดง เป็นวัตถุดิบมาทำเจล เพื่อใช้สำหรับการนวด คลายเส้น ผ่อนคลาย
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกริช เอี้ยวสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกว่า สิ่งที่ให้ความรู้กับกลุ่มพัฒนาน้ำมันปาล์มแดงคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของครีมของโลชั่นต่างๆ ให้ทุกคนได้ลงมือทำจริงว่ามีวิธีการทำอย่างไร และมีการเพิ่มความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมอมบรมในการใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของสารจากพืชสมุนไพรต่างๆว่าแต่ละชนิดที่นำมามีประสิทธิภาพอย่างไรในการรักษาโรค จะทำให้ชาวบ้านนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งการส่งเสริมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมใหม่แก่เกษตรกรโดยตรง สามารถช่วยได้เยอะในอนาคตเพราะราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่แน่นอนบางช่วยราคาตกต่ำ ดังนั้น ความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปเป็นตัวช่วยเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์มแดงซึ่งสกัดจากปาล์มน้ำมันได้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านคอสเมติกต่างๆ ที่เป็นความต้องการของคนยุคใหม่มากขึ้น
นายศิววงศ์ เพชรจุล ผู้จัดการคลีนิคเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง บอกว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ราคาปาล์มมีแนวโน้มลดต่ำลง ทำให้ผลปาล์มร่วง หรือเศษผลปาล์ม มักจะถูกทิ้ง ไม่มีการนำมาสร้างประโยชน์อะไร ทางกลุ่มวิสาหกิจฯจึงได้หารือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อช่วยในการพัฒนาและสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นจากน้ำมันปาล์มแดง ซึ่งได้มาจากการสกัดให้ผลปาล์มร่วง หรือเศษผลปาล์ม โดยเริ่มจากการคิดผลิตภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการตลาด พร้อมกับการนำนวัตกรรม หรือวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากเกษตรกรทั่วไปได้รู้จักการนำผลปาล์มมาแปรรูป หรือสร้างมูลค่าเพิ่มเช่นนี้ ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งตลาดยังไปได้อีกไกล หากสินค้าที่ทำขึ้นมานั้นมีคุณภาพ เพราะล่าสุดยังมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราชไสใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มาร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย
นางจันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ ประธานวิสาหกิจแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันท่าสะบ้า บอกว่า สำหรับให้ผลปาล์มเมื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการสกัด ก็จะได้น้ำมันปาล์มรวมสูตรเข้มข้น จากนั้นนำมาแยกเป็นน้ำมันโอเลอิน กับไขปาล์มสเตริน ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มแดงนั้น จะทำให้ได้ไขปาล์มสเตริน ทั้งแบบที่แยกตัวตามธรรมชาติ และแบบที่ลดอุณหภูมิแล้วมาแยก โดยสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ แทนที่จะนำไปทิ้ง โดยเริ่มจากการนำมาทำเป็นเจลนวด หรือยาหม่อง แต่ในการพัฒนาในครั้งแรกยังไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร จึงร่วมมือกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เพื่อทำเป็นเจลนวดสมุนไพร โดยได้สมุนไพรมาจากที่พืชขึ้นอยู่ในสวนปาล์มอยู่แล้ว และมีสรรพคุณในการช่วยคลายเส้น อาทิ ผักเสี้ยนผี ไพล ขมิ้นอ้อย ซึ่งสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม หรือคนทำงานที่มีปัญหาด้านความเครียด รวมทั้งยังพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยให้เก็บสินค้าได้ยาวนานขึ้น และมีรูปแบบที่สะดวกต่อการนำไปใช้ ซึ่งหากผลิตภัณฑ์นี้ได้รับความนิยมแพร่หลายและมียอดขายที่ดี ก็จะส่งผลต่อการนำผลปาล์มมาใช้มากขึ้น เพราะตอนนี้มีผู้คนเอาพื้นที่สวนยางเดิม หรือนาข้าวเดิม 80-90% มาปลูกปาล์มกันมากขึ้น จนเกรงว่าจะส่งผลต่อราคาที่ตกต่ำในอนาคต ดังนั้น รัฐจึงควรเร่งหาทางนำผลปาล์มมาแปรรูป หรือต่อยอดให้มากขึ้น นอกเหนือไปจากการทำไบโอดีเซลแค่อย่างเดียว อย่างเช่นการทำเป็นสินค้าต่างๆ เหมือนอย่างเช่นที่ทางกลุ่มกำลังทำ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปลูกปาล์มอินทรีย์ เพื่อที่จะได้สกัดเป็นน้ำมันปาล์มอินทรีย์ แล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม เป็นต้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: