“พริษฐ์” เก็บตัวเงียบ หลังอธิบดีกรมอุทยานสั่งย้ายด่วน! เซ่นไม่เก็บตั๋วถ้ำมรกต “ป.ป.ช.ตรัง” รุดลงพื้นที่ ผงะ! อุทยานโซนอันดามันช่องโหว่เสี่ยงรั่วไหลเพียบ จี้ เร่งใช้ E-ticket ทุกอุทยานฯ ชงเปิดบัญชีธนาคารให้โอนตรง กันจนท.จับเงินสด
ตรัง-“พริษฐ์” เก็บตัวเงียบ หลังอธิบดีกรมอุทยานสั่งย้ายด่วน! เซ่นไม่เก็บตั๋วถ้ำมรกต “ป.ป.ช.ตรัง” รุดลงพื้นที่ ผงะ! อุทยานโซนอันดามันช่องโหว่เสี่ยงรั่วไหลเพียบ ชงกรมฯเร่งระบบ E-ticket ทุกอุทยานฯ เผยปัญหาการใช้งาน อัตราจัดเก็บไม่ตรงกับระเบียบ จนท.ต้องมาตามเก็บส่วนต่างเป็นเงินสด แถมเจอปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี เสนอเปิดบัญชีธนาคารแต่ละอุทยาน ให้เอเย่นทัวร์โอนตรง ป้องกันจนท.จับเงินสด
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ตรัง เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ว่า จากกรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำทีมชุดพญาเสือลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจพื้นที่เกาะกระดานเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยเข้าสุ่มตรวจบริเวณหน้าถ้ำมรกต ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯหาดเจ้าไหมเข้ามาจัดเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด พร้อมข้อสังเกตสำคัญที่ว่า ผู้ประกอบการอาจมีการจ่ายตรงกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ผ่านตั๋วเข้าชมหรือไม่ พร้อมสั่งการให้นายพริษฐ์ นราสฤษฏ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยด่วน โดยนายชัยวัฒน์ระบุสาเหตุที่จู่โจมลงพื้นที่บริเวณหน้าถ้ำมรกตเนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนส่งต่อมาจากป.ป.ช. เกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดเก็บรายได้เข้าชมของอุทยานฯ ทั้งนี้ ทางอุทยานแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนมายาวนานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานหาดเจ้าไหม ไม่มีการมาดำเนินการจัดเก็บค่าเข้าใช้บริการที่บริเวณถ้ำมรกตมายาวนานแล้ว ประกอบกับรายงานการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของอุทยานหาดเจ้าไหมซึ่งมีพื้นที่จัดเก็บหลายแห่ง แต่รายได้ต่อวันต่ำกว่าอุทยานอื่นๆมาก โดยได้เพียงหลักหมื่นบาทต่อวัน ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวภายในเขตอุทยานหาดเจ้าไหมมีหลายจุด รวมทั้งถ้ำมรกตที่เป็นพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยว ทั้งจากที่ลงเรือฝั่ง จ.ตรัง และเดินทางมาทางเรือจากจังหวัดใกล้เคียง ทั้งจากกระบี่ พังงา ภูเก็ต และ จ.สตูล เข้ามาท่องเที่ยว แต่ผลการจัดเก็บรายได้ต่ำมากเพียงแค่วันละหลักหมื่นบาท หรือบางเดือนแค่ 2-3 หมื่นบาท แต่ไม่เคยเกิน 4 หมื่นบาท ขณะที่อุทยานอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงรายได้ต่อวันนับแสนบาท
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาระบุได้มอบให้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 5 นครศรีธรรมราช ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และให้ทาง นายพริษฐ์ ย้ายเข้าไปช่วยราชการที่ สบอ.5 ก่อน โดยให้ทางสำนักเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้าไปรักษาการแทน นั้น ผู้สื่อข่าวพยายามโทรหานายพริษฐ์หลายครั้ง เพื่อขอสัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้น แต่นายพริษฐ์ไม่ยอมรัยสาย นอกจากนี้ในเช้าวันนี้(6ธ.ค.) นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจ.ตรัง ในฐานะรักษาราชการผู้ว่าจ.ตรัง ได้จัดกิจกรรมมอร์นิ่งบรีฟ พบปะหัวหน้าส่วนราชการต่างๆเป็นประจำทุกสัปดาห์ ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลจ.ตรัง แต่ในที่ประชุมครั้งนี้นายพริษฐ์ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีเพียงเจ้าหน้าที่จากอุทยานฯหาดเจ้าไหมมาร่วมประชุมแทน ต่างจากทุกครั้งที่นายพริษฐ์เข้าประชุมด้วยตัวเองไม่เคยขาด
ข่าวน่าสนใจ:
- "ประเสริฐ รักไทย” ประกาศชน “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” สู้ศึกชิงเก้าอี้ อบจ.ตรัง
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
- ตรัง ร้านอาหารผวา!! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน อ้างสั่งอาหารหรู "พระกระโดดกำแพง" หลอกร้านดังเกือบเสียเงินแสน
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตามที่ป.ป.ช.ประจำจ.ตรัง ได้ดำเนินติดตามมาตรการบริหารจัดการอุทยาน ตามที่ค.ร.ม.มีมติเห็นชอบให้มีการจำหน่ายตั๋วเข้าอุทยานด้วยระบบ E-ticket รวมทั้งการทำแคร์เรียพาร์ท (Career Path: เส้นทาง ความก้าวหน้าในสายอาชีพ )ให้กับเจ้าหน้าที่อุทยาน ตั้งแต่ปี2564-2466 ปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า ในกลุ่มอุทยานแห่งชาติโซนทะเลอันดามัน มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น ที่เปิดใช้การจ่ายค่าเข้าอุทยานแบบ E-ticket คือ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา , อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา และ อุทยานแห่งชาติสิมิลัน และจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของป.ป.ช.พบว่า ในบางพื้นที่มีปัญหาระบบจัดเก็บเงิน เช่น ตามระเบียบให้จัดเก็บ 400 บาท แต่ในระบบ E-ticket ให้เก็บ 200 บาท นั้นหมายความนักท่องเที่ยวหรือไกด์ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเป็นเงินสดอีก 200 บาทต่อคน ซึ่งเป็นภาระของเจ้าหน้าที่อุทยานที่ต้องไปเก็บเงินสดค่าเข้าอุทยานอีกทอดหนึ่งจากผู้ใช้บริการที่จองและชำระผ่านระบบ E-ticket แล้ว ในขณะที่พื้นที่ไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตหรือไวไฟที่ดีพอ ก็เป็นปัญหาต่อการจัดเก็บแบบE-ticket เช่นกัน ส่วนที่เหลือก็เป็นประเด็นเรื่องการจัดเก็บแบบเงินสด อย่างที่อ่าวมาหยา จ.กระบี่ และ เกาะกระดาน จ.ตรัง เป็นต้น ที่ยังเก็บเป็นเงินสด ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงเงินรั่วไหล สูญหาย ระหว่างนำเงินเข้าฝั่งเพื่อฝากกับหน่วยงาน
“ที่ผ่านมาป.ป.ช.ได้เร่งรัดให้กรมอุทยานฯ จัดระบบ E-ticket ให้ครบทุกอุทยาน แต่ตอนนี้เรื่องก็ถูกยุติลง และให้ขยายการจัดเก็บแบบเดิมคือตั๋วแบบฉีก รับเงินสด ไปอีก 3 เดือน ส่วนตัวมองว่าหากไม่สามารถจัดเก็บแบบ E-ticket ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ ในเรื่องของระเบียบและนำส่งเงินค่าเข้าอุทยาน เป็นไปได้หรือไม่ที่กรมอุทยานฯ จะไปแก้ไขระเบียบให้หน่วยงานย่อยระดับพื้นที่สามารถเปิดบัญชีธนาคารสำหรับจัดเก็บเงินได้ แล้วให้บริษัทนำเที่ยวนำสลิปการโอนเงินแนบรายชื่อลูกทัวร์ผู้ใช้บริการมาแสดง เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่จับเงินสด และทางป.ป.ช.สำนักงานตรัง ได้ประสานกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เพื่อขอให้เปิดเผยรายชื่อนักท่องเที่ยวที่บริษัทนำเที่ยวได้ซื้อประกันไว้ จะได้มีจำนวนมาเทียบเคียงกับรายได้ของการซื้อตั๋วเข้าอุทยานด้วย”นายยุทธนากล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: