ตรัง-เกษตรกรทำฟาร์มเลี้ยงกบลูกผสมครบวงจร สร้างเครือข่ายเกษตรกรผลิตสินค้าร่วมกัน พร้อมงัดกลยุทธ์จับมือร่วมกันข้ามจังหวัดทั้งผู้เลี้ยงและพ่อค้าคนกลาง เพื่อช่วยลดต้นทุน หาช่องทางระบายสินค้า สร้างความยั่งยืนด้านตลาดและราคา ตลาดใหญ่ส่งขายมาเลเซีย
ที่ฟาร์มโอนุกานต์ ฟาร์มกบ ตรัง ตั้งอยู่หมู่ 3 บ้านบางพระ ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นายโอนุกานต์ เชยชม อายุ 29 ปี เกษตรกรหนุ่มหัวใส ใช้เวลาว่างจากการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเกษตร หันมาเลี้ยงกบมานานประมาณ 6-7 ปี โดยเริ่มจากเห็นเพื่อนเลี้ยง จึงคิดอยากมีรายได้เสริม จึงซื้อลูกกบมาเลี้ยงรุ่นแรกได้ประมาณ 2,000 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ก็จับขายได้กำไรประมาณหมื่นกว่าบาท จึงคิดว่าน่าจะเป็นโอกาส จึงต่อยอดเพิ่มปริมาณกบเป็น 5,000 ตัว เป็น 10,000 ตัว เพิ่มมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็คิดว่า เราซื้อลูกกบจากคนอื่นมาเลี้ยง ทำไมไม่คิดจะเพาะขยายพันธุ์เอง จึงเริ่มสั่งซื้อพ่อแม่พันธุ์มาจำนวน 10 คู่ ในราคาแม่พันธุ์ตัวละ 500 บาท พ่อพันธุ์ราคาตัวละ 150 บาท เป็นกบพื้นเมืองสายพันธุ์กบจาน และกบสายพันธุ์ต่างประเทศคือ พันธุ์บลูฟร็อก จากนั้นนำมาผสมพันธุ์ปรากฏว่าได้ลูกกบสายพันธุ์ลูกผสมออกจำนวนมาก จึงเลี้ยงเองโดยไม่ต้องซื้อลูกพันธุ์ (ลูกกบ) จากคนอื่น ปรากฏว่าไปได้ดีเป็นที่ต้องการของตลาด กบที่ได้น้ำหนักดี ตัวใหญ่ สะอาดไม่มีกลิ่น จึงคัดพ่อแม่พันธุ์ไว้เลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่พอลูกออกมาเลี้ยงเองไม่หมด จึงเกิดความคิดขยายเครือข่าย หรือจัดหาลูกฟาร์มขายลูกกบให้ลูกฟาร์มนำไปเลี้ยง ตนเองก็รับซื้อกบกลับขาย โดยขณะนี้มีลูกฟาร์มทั้งหมดประมาณ 30-40 ราย ทั้งในจ.ตรัง และจ.ใกล้เคียง คือ จ.นครศรีธรรมราช ปริมาณกบแต่ละรายขั้นต่ำฟาร์มละ 2,000 /3,000/5,000/10,000 ตัว สูงสุด 36,000 ตัวต่อรอบ ผลิตกบได้รวมประมาณ 7 ตันต่อเดือน ทำให้มีกบเนื้อส่งขายตลาดได้ตลอดทั้งปี แต่ประมาณเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์จะเพาะลูกกบยากและเลี้ยงยาก ทำให้กบค่อนข้างขาดแคลน ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวกบหน้าบ่อราคาจะสูงประมาณกก.ละ 90 บาท ถึงกก.ละ 100 กว่าบาท เนื่องจากเป็นฤดูหนาวกบจะไม่ค่อยผสมพันธุ์จึงเพาะและเลี้ยงยาก ตลาดส่วนใหญ่ ส่งขายประเทศมาเลเซียเดือนละ 6 ตัน และขายให้แก่ลูกค้าประจำในจ.ตรัง และลูกค้าปลีกต่างๆ ประมาณเดือนละ 1 ตันเท่านั้น โดยขณะนี้ในฟาร์มส่วนตัวมีพ่อแม่พันธุ์รวมกันประมาณ 1,000 ตัว หรือ 500 คู่ ต่อรอบจะผลิตลูกกบได้ประมาณ 50,000 ตัว เลี้ยงเองและขายให้ลูกฟาร์ม ระยะเวลาการเลี้ยงตั้งแต่กบวางไข่ไปจนถึงขายลูกกบได้ใช้เวลาประมาณ 40 วัน จากนั้นใช้เวลาเลี้ยงลูกกบต่อไปอีกประมาณ 3 เดือนก็สามารถจับกบส่งขายเนื้อได้ ส่วนตัวจะเลี้ยงรอบละ 5,000 ตัว ได้น้ำหนักรวมรอบละประมาณ 3 ตัน ราคาขายหน้าบ่อขณะนี้กก.ละ 70 บาท ส่วนราคาขายปลีกหน้าบ่อ กก.ละ 80 บาท แต่หากสั่งทำเนื้อแล้วขายกก.ละ 100 บาท ส่วนลูกกบจะขายตัวละ 2-3 บาท ส่วนแม่พันธุ์ขายตัวละ 350-500 บาท ส่วนพ่อพันธุ์ขายตัวละ 150 บาท หรือขายเป็นคู่ๆละ 350-500 บาท ทั้งนี้ ในการเลี้ยงกบ เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแล้ว เลี้ยงประมาณ 5,000 ตัว ( ระยะเวลา 3 เดือน) ขายแล้วได้กำไรประมาณ 24,000 บาท จึงคิดว่ากบเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ดีที่ตลาดต้องการสูง กำไรดี แม้ราคาอาหารกบจะแพงเป็นรองกว่าอาหารกุ้ง แต่แพงกว่าอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆ เกษตรกรเลี้ยงแล้วก็ยังได้กำไรดี แต่มีข้อแนะนำสำหรับคนที่ต้องการจะเลี้ยง จะต้องคัดซื้อพ่อแม่พันธุ์จากฟาร์มที่เชื่อถือได้ จะทำให้พ่อแม่พันธุ์ที่แข็งแรง สมบูรณ์ ซึ่งกบที่ได้น้ำหนักดี โดยจะเปลี่ยนน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนให้อาหาร เพื่อชำระล้างคราบไคลของกบ เพราะกบจะรักความสะอาด ทำให้กบที่ได้ไม่มีกลิ่น เป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับของตนเองรอบนี้ผลิตได้ประมาณ 3 ตัน แต่ขายเกือบแล้ว 2 ตัน เหลือในวันนี้ลูกค้าจากจ.นครศรีธรรมราชเดินทางมาจับนำไปส่งเกาะสมุยอีก 1 ตัน ก็หมดรอบนี้ รอเลี้ยงรอบใหม่ต่อไป
ด้านนายวิชัยรัช คงสวัสดิ์ ชาว อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพ่อค้านำทีมมาจับกบ จำนวน 1 ตันในวันนี้ บอกว่า วันนี้มาจับประมาณ 1 ตัน ต้องการนำไปส่งขายให้กับแม่ค้าใน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในส่วนเครือข่ายคนเลี้ยง และพ่อค้าก็จะจับมือกันเป็น 3 กลุ่มใน 3 จังหวัด คือ จ.พัทลุง ,ตรัง และนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยกันระบายสินค้า ยิ่งช่วงที่มีปัญหาเช่น อาหารกบแพง ขายยาก หรือกบราคาตก ก็จะได้ช่วยเหลือกันในการระบายสินค้าเพื่อช่วยเหลือกัน แต่ช่วงปกติก็ไม่มีปัญหา เหมือนดังเช่นช่วงนี้ กบภาคกลางมีจำนวนมากจึงส่งผลกระทบต่อราคากบในบ้านเราด้วย จึงต้องช่วยกันในการลดต้นทุน ซึ่งการเร่งระบายสินค้าตามกำหนดเวลาจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ และยังพยุงราคาในตลาด เพื่อให้ได้ยั่งยืนในอาชีพ ทั้งนี้ ถ้าใครสนใจอยากอุดหนุนเกษตรกร หรือเกษตรกรต้องการปรึกษาเรื่องการเลี้ยง สามารถติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก “ โอนุกานต์ ฟาร์มกบ ตรัง” โทรศัพท์ 087-4717291
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: