X

ตรัง ซ้ำซาก สพฉ.ค้างเงินค่าเคสกู้ชีพกู้ภัยทั่วประเทศ  “สมาคมกู้ชีพร่วมใจ” ประการยุติปฏิบัติหน้าที่ 1 ม.ค.67 

ตรัง-ซ้ำซาก..สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ค้างค่าเคสงานอุบัติเหตุและผู้ป่วยฉุกเฉินนานนับปีไม่ยอมแก้ไข ทำกู้ชีพกู้ภัยขาดสภาพคล่องได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ไม่มีเงินเติมน้ำมันออกรับผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุ หลายแห่งยุติการออกเหตุแล้ว และบางแห่งประกาศจะยุติการปฏิบัติหน้าที่รับเคสฉุกเฉิน นับจากวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ภาพรวมพบว่า กู้ชีพกู้ภัยที่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาค และกู้ชีพกู้ภัย สังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ สพฉ.ค้างจ่ายค่าเคสทั้งหมด เชื่อกระทบช่วงเทศกาลปีใหม่แน่นอน

 

โดยที่สมาคมกู้ชีพร่วมใจ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง นายจารุ สุนทรนนท์ นายกสมาคมกู้ชีพร่วมใจ และมีตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาวด้วย บอกว่า ตนเองได้ประกาศผ่านเฟสบุ๊คของ “สมาคมกู้ชีพร่วมใจ” แจ้งขอยุติการปฏิบัติหน้าที่รับผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบ้ติเหตุและผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากที่ผ่านมาทางสมาคมกู้ชีพร่วมใจมิได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบ้ติหน้าที่ จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง (สสจ.ตรัง) เป็นเวลานานนับปี คือ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566 และจากเดือนมิถุนายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ( รวมระยะเวลาปฏิบัติงานทั้งหมดทั้งหมด 16 เดือน ได้รับเงินสนับสนุนแค่ 3 เดือน คือ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม เท่านั้น ยังคงค้างจ่าย 13 เดือน หรือรวมปีเศษ จึงทำให้สมาคมกู้ชีพร่วมใจ ขาดสภาพคล่องในการบริหารงาน เช่น ค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันในการออกรับผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุ ค่าบำรุงรักษารถ และค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยสมาคมกู้ชีพร่วมใจ จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เมื่อได้รับการตอบรับ และดูแลค่าตอบแทนที่คงค้างจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง (สสจ.ตรัง)

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบสนับสนุนการปฏิบัติงานของกู้ชีพกู้ภัยต่างๆ ซึ่งเป็นเครือข่ายของ สพฉ. เคสละ 350 บาทเท่านั้น ซึ่งตนเองและสมาคมกู้ชีพร่วมใจเปิดทำการและช่วยเหลือสังคมมานานกว่า 6 ปีแล้ว แต่ในการทำงานนั้นก็ประสบปัญหาเรื่องรายรับจากองค์กรที่รับผิดชอบ ทั้ง สพฉ.และสสจ.ตรัง ซึ่งจำนวนเงินที่สนับสนุนต่อเคส ส่วนตัวไม่ได้ติดใจเรื่องนั้น และไม่ได้อยากมาเรียกร้องค่าเคสเลย แต่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสาธารณสุขจังหวัดไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของกู้ชีพกู้ภัย ในที่นี้ กู้ชีพกู้ภัยที่ทำงานด้วยจิตอาสา ตั้งใจทำเพื่อสังคมและอยากเป็นคนดี ไม่มีองค์กรเป็นเจ้าของอาศัยเงินบริจาคจากประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาที่ตั้งใจมาทำบุญสนับสนุนเท่านั้น เมื่อเงินสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินไม่จ่ายมา และเงินบริจาคช่วยเหลือหมดก็จำเป็นต้องหยุดออกเหตุ ทั้งนี้ ประสบปัญหามาปีกว่า แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากสพฉ.และสสจ.ตรังเลย ที่ผ่านมาใช้เงินผู้บริจาคและเงินสนับสนุนจากชาวบ้านมาปฏิบัติออกเหตุ แต่มาถึงเวลานี้เห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เพิกเฉย และละเลย ในการรับผิดชอบต่อองค์กรของพวกเรา จนกระทั่งตอนนี้ไม่สามารถจะช่วยเหลือสังคมต่อไปได้ และไม่เฉพาะสมาคมกู้ชีพร่วมใจของตนเท่านั้น แต่ประสบปัญหาเหมือนกันหมดทั่วประเทศ สำหรับสมาคมกู้ชีพร่วมใจตอนนี้ต้องรับผิดชอบ 3 อำเภอ คือ อ.ย่านตาขาว ,อ.ปะเหลียน และอ.หาดสำราญ ต่อเดือนต้องออกเหตุนับร้อยเคส เนื่องจากกู้ชีพกู้ภัย ทั้งจิตอาสา และที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบต., เทศบาล) สนับสนุน ก็ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สพฉ.เช่นกัน ก็ยุติออกเหตูเช่นกัน บางแห่งออกเหตุเฉพาะเวลาราชการ เพราะท้องถิ่นก็ไม่มีงบประมาณ และเป็นแบบนี้เหมือนกันหมดทั่วประเทศ หลายแห่งจึงยุติไปแล้ว ส่วนสมาคมกู้ชีพร่วมใจของตนก็ประกาศจะยุติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้เป็นต้นไป หาก สพฉ. และ สสจ.ตรัง ไม่แก้ไขปัญหา ส่วนรถตู้ 2 คัน ที่ใช้ในการออกเหตุ รวมทั้งอุปกรณ์ภายในรถตู้ทั้งหมด ทั้งม้านั่ง เปล เตียง เครื่องตัดถ่าง มูลค่ารวมประมาณคันละ 1 ล้านบาทนั้น ก็ซื้อได้ด้วยเงินบริจาคจากประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันทำบุญมา ไม่ใช่เป็นเงินราชการแม้แต่บาทเดียว ต่อเดือนเฉพาะค่าน้ำมันรถในการออกเหตุคันละประมาณ 8,000 บาท 2 คัน รวม 16,000 บาท เมื่อก่อนค่าน้ำมันลิตรละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้ลิตรละ 40 กว่าบาท และตอนนี้ สพฉ.และสสจ.ค้างจ่ายค่าออกเคสรวมหลายหมื่นบาท สมาคมกู้ชีพร่วมใจก็หมดเงินบริจาค คงจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป

นายจารุ สุนทรนนท์ นายกสมาคมกู้ชีพร่วมใจ บอกอีกว่า จากการสอบถามสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง (สสจ.ตรัง) ถึงสาเหตุที่ค้างจ่ายค่าเคส ได้รับคำตอบว่า เป็นเพราะระบบล่ม ระบบไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยหรือค่าตอบแทนให้แก่องค์กรกู้ชีพกู้ภัยทั่วประเทศได้ แต่เท่าที่ตนทราบข้อมูลหากเราใส่ข้อมูลเข้าไปใหม่ก็สามารถได้รับค่าชดเชยจาก สพฉ. ทั้งนี้ ปัญหานี้เป็นเหมือนกันหมด สพฉ.ค้างจ่ายทั่วประเทศ หากกู้ชีพกู้ภัยเดินหน้าต่อไม่ได้ ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้จะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน อยากให้ สพฉ.และสสจ.จังหวัดทุกจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 โดยสพฉ. แจงปัญหาจ่ายเงินอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพกู้ภัยล่าช้าว่า เกิดจากระบบเบิกจ่าย ยืนยันมีงบประมาณเพียงพอ แต่มาเกิดซ้ำขึ้นอีกทั่วประเทศในครั้งนี้ ก่อนเทศกาลปีใหม่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน