ตรัง ครูเฮ มติ.ครม.ยกเลิกครูอยู่เวรเสาร์-อาทิตย์ เวรยามกลางคืน ระบุอยู่เวรครูมีความเสี่ยงอันตราย หากเกิดความสูญเสียไม่คุ้มค่า มติดังกล่าวเป็นขวัญกำลังใจให้ครูทั้งประเทศ เป็นเรื่องดีได้คืนเวลาให้ครูได้เตรียมการสอน ดูแลครอบครัว
จากกรณี ครูถูกทำร้ายร่างกาย ขณะอยู่เฝ้าเวรโรงเรียนในวันหยุด ที่ จ.เชียงราย จนทำให้เกิดการเรียกร้องให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูทั่วประเทศ
ต่อมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จ.ระนอง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 ว่า เร็วๆ นี้ได้มีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับครู ในการอยู่เวร ที่ประชุมครม. ได้พิจารณายกเว้นมติครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 กว่า 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป ให้มีการยกเลิก ยกเว้น โดยให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการขอให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมดูแลโรงเรียนในช่วงที่ไม่มีครูอยู่
ข่าวน่าสนใจ:
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถามความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว จากครูในโรงเรียนเทศบาล 1 (สังขวิทย์) เขตเทศบาลนครตรัง
โดยนางพัชราลักษณ์ ศิริกุลพิทักษ์ (ครู) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับมติยกเลิกการอยู่เวรวันหยุดของครู เพราะตนเคยมีประสบการณ์ที่น่ากลัวเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ตอนอยู่เวรในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตอนนั้นเคยมีคนบ้าเข้ามาในโรงเรียนในวันที่ตนอยู่เวร เขาหมายจะเข้ามาในห้อง ตนเห็นทีท่าไม่ดีก็รีบปิดประตู ประสบการณ์ทำให้ตนหวาดผวา ทุกครั้งที่ตนต้องอยู่เวรเหมือนภาพจำนั้นผุดขึ้นมาตลอด เพราะเป็นเหตุการที่ฝังใจ
ซึ่งเมื่อมติ ครม.ยกเลิกการอยู่เวรตนเห็นด้วย อยากให้หน่วยงาน หรือ มีเจ้าหน้าที่ที่มีความปลอดเรื่องการรักษาความปลอดภัยมาทำหน้าที่แทน เพื่อความปลอดภัยของครู หรือใช้เทคโนโลยี กล้องวงจรปิด มาช่วยสอดส่อง
และที่ผ่านมาการอยู่เวรเป็นหน้าที่ของครูทุกคน บางโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก มีครูอยู่ไม่กี่คน พอจัดเวรก็ต้องหมุนเวียนกัน กลายเป็นว่าครูแต่ละคนเกือบจะไม่มีวันหยุดเลย ดังนั้นการยกเลิกครูเวรนั้น อย่างน้อยเสาร์-อาทิตย์ ครูได้มีเวลาเตรียมการเรียนการสอน และได้ดูแลครอบครัวไปด้วย ซึ่งบางครั้งครูต้องไปอบรมในวันเสาร์-อาทิตย์ เมื่อวันอบรมตรงกับวันอยู่เวร ครูก็ต้องแลกเวรกันเอง
ด้านนายมานิตย์ เพียรศรีวัชรา (ครู) บอกว่า ที่ผ่านครูชายทั้งหมดรวมถึงนักการภารโรง ต้องมีภาระหน้าที่อยู่เวรยาม หากครูไม่อยู่เวรยามถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ครูชายต้องอยู่เวรกลางคืน ตั้งแต่ 18.00 น และออกเวรในเช้าของวันถัดไป การยกเลิกเวรยามถือเป็นคำสั่งที่ดี เป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันครูมีภาระหน้าที่เยอะ การอยู่เวรยามไม่ได้ตรงกับมาตรฐานวิชาชีพครู อยู่เวรยามเท่ากับเป็นยามหรือเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ถ้าครูเจอกับผู้ร้ายซึ่งหน้า ผู้ร้ายมีอาวุธ ครูก็ไม่สามารถต่อสู้ป้องกันตัวได้ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายต่อการเปลี่ยนแปลงระบบราชการ ระบบเวรยาม ตนเห็นด้วยที่ยกเลิก เป็นการทำให้ระบบมันดีขึ้น ซึ่งโรงเรียนเทศบาล 1 ที่ตนสังกัดอยู่มีด้วยกัน 9 อาคาร ครูเวรต้องเดินดูทุกอาคารในเวลากลางคืน แต่ด้วยทุกวันนี้เทคโนโลยีไปไกลแล้ว การมีกล้องวงจรปิด มีศูนย์รักษาความปลอดภัยดีๆ สามารถใช้ทำงานแทนคนได้
ในขณะที่นายกำธร ไตรบุญ ผอ.โรงเรียนเทศบาล1 (สังขวิทย์) กล่าวว่า มติยกเลิกการอยู่เวรของครู ถือเป็นขวัญกำลังใจที่ดีให้แก่ครู เพราะทรัพย์สินมีค่าของโรงเรียนแทบจะไม่มีอะไร มีแค่ทีวีรุ่นเก่าๆ คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า เท่านั้น ถ้าให้ครูอยู่เวรเฝ้าทรัพย์สินก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของครู ยกเลิกเวรยามครูทั้งประเทศก็รู้สึกยินดี บางเรื่องราวต้องดูกันที่ความคุ้มค่า หนึ่งชีวิตที่เสียไปแต่หลายที่ชีวิตที่เขาดูแลต้องลำบาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการปลอบขวัญครูคนที่โดนกระทำ ตนเคยอยู่โรงเรียนชายเขตเป็นพื้นที่เสี่ยง ครูผู้หญิงอยู่เวรเขาก็เสี่ยงต่ออันตราย ส่วนเวรยามกลางคืน หากเกิดเหตุซึ่งหน้าครูก็ไม่ควรเอาชีวิตไปแลกหรือไปเสี่ยงตรงนั้น ถ้าเกิดการสูญเสียก็ไม่คุ้มค่า ซึ่งควรคืนเวลาวันหยุดให้ครูได้แลครอบครัว และโรงเรียนมีกล้องวงจรปิด เกือบทุกอาคาร และทุกมุมอับ รวมทั้งกล้องวงจรปิดของเทศบาลนครตรังที่มาติดตั้งให้ เพื่อตรวจสอบหากเกิดเหตุร้าย และเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามตัวคนร้ายได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: