ตรัง-ตรังเข้ม! ตั้งเป้าเอ็กเรย์ผู้เสพ 8 พันราย ก่อนนำเข้ากระบวนการบำบัดตามนโยบายรัฐบาล “ผู้การตร.ตรัง” เผย ตำบลนำร่องคืบ เข้าบำบัดแล้วเกือบ 200 ราย วอนผู้ปกครองช่วยสนับสนุน เชื่อสังคมพร้อมอ้าแขนรับคนเลิกยา ผงะ! พบตร.เสพด้วย สั่งออกจากราชการ-ดำเนินการทางวินัยแล้ว ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.ตรังว่า จากกรณีรัฐบาลประกาศทำสงครามกับยาเสพติด โดยเฉพาะพื้นที่จ.ตรัง เป็นโครงการนำร่อง 1 ตำบล ได้แก่ ต.เขาวิเศษ จากทั้งหมด 100 ตำบลทั่วประเทศ ตามโครงการบำบัดอย่างยั่งยืนในตำบลแพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด 100 ตำบล ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในส่วนของตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ได้ดำเนินการเข้มข้นในการป้องกันปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ ทั้งการจับกุม ปิดล้อม ตรวจค้น ผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อยและรายใหญ่ โดยเฉพาะมาตรการลงพื้นที่หาข่าวสำรวจข้อมูลผู้เสพติดยาเสพติด เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการบัดบัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดภูธรจ.ตรังได้เข้าตรวจสอบจับกุมผู้เสพยาเสพติดในหลายพื้นที่ และนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้วจำนวนมาก ทั้งนี้จากการเข้าจับกุมผู้เสพกลุ่มหนึ่ง พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับชั้นประทวนในสังกัดตำรวจภูธรจ.ตรังจำนวน 1 รายอยู่ร่วมด้วย โดยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ทำการตรวจปัสสาวะเพื่อค้นหาสารเสพติดปรากฏผลเป็นบวก จึงนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดในฐานะผู้เสพ พร้อมส่งดำเนินการทางวินัยขั้นรุนแรง โดยผู้บังคับการตำรวจภูธรจ.ตรัง ได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง
พล.ต.ต.ภัทร์วิชญ์ คีตโมทนียกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง กล่าวว่า เรามีขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ เช่น การเอกซเรย์ประชากรตามช่วงอายุที่กำหนด ซึ่งหากพบว่าใครเป็นผู้เสพยาเสพติด และมีความสมัครใจเข้าบำบัดเราจะดำเนินการในขั้นตอนถัดไป ในส่วนของจ.ตรังได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2566 ระยะเวลาดำเนินการจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ มีประชากรที่เราเอ็กเรย์ทั้งสิ้น 8,000 คน ตอนนี้ดำเนินการไปแล้วครึ่งหนึ่ง พบมีผู้เสพยาเสพติดที่สมัครใจเข้าบำบัด 120 คน และตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อเอ็กเรย์ครบทั้ง 8,000 คน คาดจะมีผู้สมัครใจเข้าบำบัดกว่า 200 คน โดยในส่วนของกระบวนการเอ็กเรย์จะสิ้นสุดในเดือนก.พ.นี้ การเอ็กเรย์เราแยกตามภูมิลำเนา เริ่มที่ภูมิลำเนาในต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จะเอ็กเรย์ให้ครบ 100% ส่วนคนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่แต่ตัวไปทำงาน หรือ อาศัยอยู่ที่อื่น ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องติดต่อเพื่อให้เขาเข้าสู่กระบวนการเอ็กเรย์ด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
“การเสพยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญาต้องดำเนินคดี แต่หากสมัครใจเข้าโครงการบำบัดถือเป็นผู้ป่วย ส่วนกรณีเสพจนถึงอาการทางจิตเวชนั้นทางสาธารณสุขจะเป็นผู้คัดกรอง โดยการคัดกรองจะแยกเป็นกลุ่มๆ ได้แก่ กลุ่มผู้เสพ กลุ่มผู้เสพที่มีอาการจิตเวช กลุ่มที่มีประวัติรักษาจิตเวช แต่ละกลุ่มจะมีขั้นตอนบำบัดรักษาแตกต่างกัน กรณีการนำคนเข้ามาบำบัดจะทำให้ผู้ที่เสพลดปริมาการเสพลงหรือเลิกได้เลย เมื่อเลิกได้สมองจะไม่ถูกทำลาย การป่วยเป็นจิตเวชจะไม่เกิดขึ้น ถ้าการบำบัดรักษาสำเร็จผู้ป่วยกลุ่มนี้จะลดลง ความต้องการซื้อจะลดลงด้วย เมื่อไม่มีคนซื้อ ผู้ผลิตก็ไม่รู้จะจำหน่ายอย่างไร คนที่ติดยาเสพติดสามารถบำบัดรักษาให้หายได้ เลิกได้ คนในมุมมืดจะออกมาอยู่ในมุมสว่าง คนที่อยู่ในที่สว่างก็ไม่เข้ากลับไปในมุมมืดอีก ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเองเราก็ดำเนินการ หากตรวจพบว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เราก็ไม่ละเว้น เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำความผิดเสียเองมีอัตราโทษสูงกว่าปกติถึง 3 เท่า”พล.ต.ต.ภัทร์วิชญ์กล่าว
พล.ต.ต.ภัทร์วิชญ์กล่าวว่า ฝากไปยังผู้ปกครองด้วยว่า โครงการนี้ให้โอกาสผู้ที่เสพยาเสพติด ไม่มีวัตถุประสงค์จับกุมผู้เสพยาเสพติด แต่เป็นโครงการที่เปิดรับผู้เสพยาเสพติดหรือติดตามให้แสดงตนและเข้าบำบัด ผู้ปกครองต้องเปิดเผยตัว ไม่ปกปิด เมื่อบำบัดรักษา ทุกคนจะอ้าแขนรับเพราะถือว่าเป็นคนป่วย สามารถออกมาทำกิจกรรมกับสังคมได้ เมื่อเลิกได้ก็สามารถออกมายืนในสังคมได้อย่างสง่างาม สามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้เราจะขยายโครงการช่วงที่ 2 ไปยังอำเภออื่นๆ ด้วย และจะทำให้ครบทุกอำเภอ ส่วนเรื่องการแพร่ระบาดนั้นก็ยังมีอยู่ การปราบปรามก็ต้องทำควบคู่กันไปด้วย มีการสืบสวนและทำลายเครือข่ายยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมได้ทุกวันและมีการขยายผลไปยังผู้จำหน่าย มีมาตรการยึดทรัพย์ และดำเนินการกับผู้ฟอกเงิน ตำรวจมีข้อมูลผู้ค้ารายใหญ่ระดับสั่งการ แต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ที่อยู่ในประเทศเรามีข้อมูลเครือข่ายอยู่แล้ว เป็นเครือข่ายที่เราสืบสวนต่อเนื่อง และเราค่อยๆ ทำลายเครือข่ายให้เครือข่ายหมดไปเรื่อยๆ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: