ตรัง-“ปิ่นสักก์” รับลูกรมว.ทส. ระดมมันสมองนักวิชาการทะเล ปูพรมหาสาเหตุวิกฤตหญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม ชี้ รับร้องเรียนหลายสาเหตุ แต่สงสัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ-โรค ยันคุมโครงการชายฝั่งต้องทำ EIA ขุดลอก-กำแพงกั้นคลื่นต้องไม่ส่งผลกระทบ ตะกอนทับถม-สันฐานทรายเปลี่ยนแปลง คณะทำงานลุยเก็บข้อมูลเกาะมุกด์-ลิบง นักวิทย์จุฬาฯ ยังไม่เชื่อสาเหตุจากเต่าทะเลกัดกิน เพราะเสียหายวงกว้างมาก ชาวบ้านชายฝั่งโอด กระทบถึงคนแล้ว แหล่งสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลาย หาหอยหาปลาไม่ได้
จากกรณีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์นากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ควงนักวิชาการทางทะเลลงพื้นที่สำรวจวิกฤตหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจ.ตรังนับหมื่นไร่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศ รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ พร้อมสั่งการแก่ไขด่วน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.กำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล 2.การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ3.กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล ป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอย่างไม่ถูกวิธี โดยมีรายงานจากภาคประชาชนและนักอนุรักษ์ในพื้นที่ สันนิษฐานจากหลายสาเหตุ อาทิ การกัดกินของเต่าทะเล โรคที่เกิดในหญ้าทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สันดอน ร่องน้ำ การเครื่องย้ายของตะกอน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นต้น
ล่าสุด คณะนักวิจัยและเจ้าน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ตลอดจนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน นักอนุรักษ์ในพื้นที่ได้ปูพรมลงพื้นที่สำรวจศึกษาตลอดระยะเวลา 3 วัน (14-16 ก.พ.) ทั้งพื้นที่เกาะมุกด์ เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายกว่า 190 ตัว และพื้นที่หญ้าทะเลอื่นๆ ของจ.ตรัง โดยที่ท่าเทียบเรือบ้านหาดยาว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจ.ตรังและจ.กระบี่ นำโดยนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กรมทช. รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ศาสตราภิชานคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะทำงานนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานต่างๆใน 3 ด้านสำคัญคือ 1.งานด้านระบบนิเวศน์ 2.งานสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และ 3.งานด้านสัตว์ทะเล เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สบทช.7 ตรัง ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จ.ตรัง ซึ่งแต่งตั้งโดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทช. เร่งลุยพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลหาสาเหตุปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกด์ อ.กันตัง โดยมีการเก็บตัวอย่างหญ้าทะเลทั้งส่วนของเหง้า ใบในสภาพเสื่อมโทรม เหง้าและใบที่ตายแล้ว ทั้งในบริเวณน้ำตื้นและน้ำลึก การเก็บตัวอย่างตะกอนดินในระดับความลึกที่แตกต่างกัน สำรวจความหนาแน่นของหญ้าทะเลและประเมินสถานภาพของหญ้า โดยบางตัวอย่างจะต้องนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาโรค เก็บตัวอย่างน้ำทะเล การวัดค่ากรดด่างของน้ำทะเล วัดอุณหภูมิน้ำ วัดค่าการนำไฟฟ้าเพื่อคำนวณหาความเค็ม วัดค่าความขุ่นของน้ำ ฯลฯ เพื่อบอกลักษณะทางสมุทรศาสตร์ทั่วไปและสภาพระบบนิเวศน์ของพื้นที่ พร้อมพบปะกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพความเปลี่ยนแปลงไปของวิถีชีวิตชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์บริเวณแหล่งหญ้าทะเลในการจับสัตว์น้ำ ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าสภาพหญ้าทะเลเริ่มมีความเสื่อมโทรมนับตั้งแต่ปี 2561 หลังมีตะกอนดินจากการขุดลอกร่องน้ำโดยกรมเจ้าท่าเข้ามาทับถมในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะลิบง หลังจากนั้นสภาพความเสื่อมโทรมทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดผลกระทบกับวิถีการทำประมงของชาวบ้านชายฝั่งเป็นอย่างมากที่ขณะนี้สัตว์น้ำทะเลหายไป ทำได้รับความเดือดร้อน
รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ศาสตราภิชานคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะทำงานได้ดูในเรื่องผลกระทบที่เกิดต่อสัตว์ทะเลหายากและสัตว์อื่นๆที่อยู่ในแนวเขตหญ้าทะเลเสียหาย แต่ส่วนที่เป็นห่วงสุดก็คือ มีข่าวว่ามีเต่าทะเลเป็นต้นเหตุในการกัดกินที่ทำให้หญ้าทะเลตายก็เลยจึงต้องมาพิสูจน์กันว่าจริงๆ สัตว์ทะเลคงไม่มีความสามารถในการทำลายล้างได้มากขนาดนี้ โดยในครั้งนี้มาเป็นทีมใหญ่ที่ทางทช.ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกฝ่าย มาเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาในเชิงลึกว่าสาเหตุที่ทำหญ้าตายได้ขนาดนี้เกิดจากสาเหตุอะไร ได้วางแผนดำเนินการต่อไป ป้องกันไม่ให้ลุกลามต่อไป ทำอย่างไรที่จะคงรักษาสายพันธุ์ของหญ้าทะเลไว้ เพราะถ้าสถานการณ์ผ่านไปแล้วจะได้มีพ่อแม่พันธุ์หญ้าทะเลให้เติบโตต่อไป ทั้งนี้ เมื่อประมาณ 6-7 เดือนที่ผ่านมาตนเคยมาทำงานศึกษาชีวิตของพะยูนพบว่าตอนนั้นกับตอนนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างกันมาก ตอนนั้นเพียงแค่นั่งเรือมาก็เห็นหญ้าทะเลพื้นเป็นสีเขียว แต่ตอนนี้ มีความเสียหาย มีความเน่าเสียหายของหญ้าทะเลเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างมาก เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ส่วนสาเหตุตอนนี้ยังไม่ทราบ เพราะมีสมมุติฐานมาก แต่ก็ไม่ลืมที่จะคิดถึงระบบของโลก การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสภาพของแผ่นดินของโลกด้วยเพราะว่าพื้นที่กว้างมาก จะต้องมีทั้งสาเหตุโน้มนำ และสาเหตุที่ฆ่าหญ้าทะเลจริงๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็จะได้ช่วยกันรวบรวมข้อมูลร่วมกันวิเคราะห์ต่อไป
ด้าน นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กรมทช. กล่าวว่า ส่วนตัวเคยทำงานสำรวจในพื้นที่ ในห้วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีความแตกต่างอย่างชัดเจน เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยในอดีตหากมองจากเรือจะเห็นจุดที่น้ำท่วมถึงพบเห็นแนวหญ้าทะเลที่กว้างมากและหญ้าทะเลก็สมบูรณ์ใบยาวมาก หากลงมาเดินจะจมลงไปลึกมากถึงเข่าในบางจุด แต่ในตอนนี้เห็นแล้วสภาพพื้นดินเปลี่ยนแปลงไปมาก แสดงว่าระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งต้องดูความแตกต่างของหญ้าทะเลทั้งในน้ำตื้น และน้ำลึก สาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย จึงต้องใช้นักวิชาการผู้ทรงความรู้ในหลายๆด้านเข้ามาช่วยกันหาคำตอบทั้งเรื่องของโลก ทั้งเรื่องของปัจจัยเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจจะกระทบสัตว์ทะเลหายากหรือสัตว์อื่นๆ การทำงานถือเป็นครั้งแรกที่มีการรวมทีมผู้เชี่ยวชาญจากทุกด้านมาร่วมกันหาสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งหากรู้สาเหตุก็จะหาแนวทางลดผลกระทบหรือฟื้นฟูตามมา โดยดูผลกระทบต่อทุกกลุ่ม ทั้งต่อสัตว์ ต่อชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพราะระบบนิเวศเมื่อไม่มีร่มเงาของหญ้าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อนต่างๆ ก็จะอาจจะลดน้อย เช่น ปลิงทะเล หอยชักตีน ชาวบ้านบอกว่าไม่สามารถหาได้อีกแล้ว ส่วนตัวรู้สึกค่อนข้างกังวล เพราะว่าปัญหาไม่ได้เกิดเฉพาะจุดเล็กๆ แต่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และมีแนวโน้มการลุกลามไปในพื้นที่อื่นๆ เป็นบริเวณกว้าง รวมไปถึงจ.กระบี่ และตอนนี้ขึ้นไปถึงเกาะพระทอง จ.พังงา ซึ่งก็จะไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งหมดโดยใช้โมเดลที่ทำงานที่จ.ตรัง โดยนักวิชาการได้มาเห็นสภาพความเป็นจริงแล้วก็ไปออกแบบทำการศึกษา เพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่างๆ ว่าใช่หรือไม่ใช่อย่างไร
ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทช. กล่าวว่า รมว.ทส.ได้สั่งระดมนักวิชาการทางทะเลจากทั่วสารทิศมาลงพื้นที่แล้วเพื่อหาสาเหตุให้ได้ว่าหญ้าทะเลตายเพราะเหตุอะไร เมื่อได้สาเหตุที่แท้จริงแล้วจากการลงพื้นที่ 3 วันที่ผ่านมา ก็จะประเมินสาเหตุสำคัญๆ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัด เพราะเราได้รับร้องเรียนมาหลายสาเหตุมาก ทั้งเรื่องการขุดลอกร่องน้ำ การกัดกินของเต่าทะเลมากเกินไปจากการที่เราได้อนุรักษ์จนเพิ่มจำนวนขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปีนี้ที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำลง ทำให้หญ้าทะเลมีการผึ่งแห้งนานขึ้น ซึ่งข้อสังเกตคือพื้นที่เสียหายมีพื้นที่กว้างมาก ส่วนผลกระทบต่อพะยูน ล่าสุดยังไม่ได้รับผลกระทบมาก ล่าสุดการสุ่มตรวจสุขภาพพะยูนยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ส่วนชันสูตรซากพะยูนที่ตายในช่วงนี้ภายในกระเพาะอาหารก็ยังปกติดี มีเศษหญ้าทะเลหรือมีอย่างอื่นปนอยู่บ้าง ซึ่งหากสามารถแก้ไขวิกฤตทะเลตายได้อย่างรวดเร็ว ก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์พะยูน
“อย่างไรก็ตามในส่วนของผลกระทบจากเรื่องตะกอนที่เกิดจาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งโดยโครงการขนาดใหญ่ อาทิ การขุดลอกเราได้ให้คำนะนำในการดำเนินการให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เช่น การทำม่านดักตะกอน และการกำหนดจุดทิ้งตะกอน ที่สำคัญสำหรับการสร้างกำแพงกั้นคลื่นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตะกอนและสัณฐานของทราย ปัจจุบันกระทรวงทส.ได้ให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบจากการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง หรือ Sea wall โดยเฉพาะการก่อสร้างกำแพงกั้นคลื่น ในปัจจุบันเราไม่ได้ห้ามทำ แต่ต้องมีการทำ EIA อย่างรอบคอบ และไม่ส่งผลกระทบ”อธิบดีกรมทช.ระบุ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: