ตรัง-เด็กรุ่นใหม่สนใจศึกษาต่อในสาขาการเกษตรน้อยลงมาก ผู้บริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ชี้สถานการณ์ทั่วประเทศในระยะ 10 ปีมานี้ คนเข้าเรียนน้อย ภาคใต้โดยรวมมีประมาณ 300 -500 คน ห่วงกระทบอนาคตของประเทศ หากเด็กรุ่นใหม่เดินหน้าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมหารายได้เพื่อการซื้อสินค้ายังชีพอย่างเดียวโดยละเลยภาคการเกษตรทิ้งการผลิต อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของภาคการเกษตร เพราะทุกคนต้องพึ่งพาภาคการเกษตรสถานการณ์วิกฤติก็ยังสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งปัจจุบันวิทยาลัยเกษตรฯทุกแห่ง มุ่งสร้างนักเรียนมีอาหารเลี้ยงฟรีวันละ 3 มื้อ มีที่พัก มีทุนการศึกษาให้ มีงานรองรับ หรือประกอบอาชีพได้ด้วยตนเอง
ภาพรวมทั่วประเทศขณะนี้ พบว่าน้องๆนักเรียนสนใจเข้าศึกษาต่อไปภาควิชาการเกษตรน้อยลงมาก ทั้งๆ ที่มีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เนื่องจากประเทศไทยภาคการเกษตรเป็นหัวใจหลักในการหล่อเลี้ยงประชากรทั้งประเทศ
วันนี้ ผู้สื่อข่าวจะพาไปดูการเรียนการสอนที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จ.ตรังว่า ซึ่งปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับ ปวช. และปวส.หรืออนุปริญญา ประกอบด้วย วิชางานเกษตรกรรม การผลิตสัตว์ ผลิตพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการเกษตร พาณิชยกรรม และคหกรรมการทำอาหาร การแปรรูปผลผลิตการเกษตร การแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งทุกสาขาวิชาเป็นความรู้ที่สามารถติดตัวนักเรียนตลอดไป สาขาประกอบอาชีพมีรายได้ระหว่างเรียน และอนาคตสามารถวางแผนการทำอาชีพส่วนตัว หรือต่อยอดการทำอาชีพด้านการเกษตรของครอบครัว หรือผันตัวเองไปเป็นเจ้าของธุรกิจภาคการเกษตรต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ได้ไปดูการเรียนของนักเรียน พบว่า ในทุกสาขาวิชานักเรียนได้เรียนทั้งทฤษฎี และภาคการปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น สาขาสัตวศาสตร์ มีทั้งการผลิตไก่ไข่ด้วยการฟักไข่ การเลี้ยง การเก็บไข่คัดแยกขนาดเพื่อส่งขาย , การเลี้ยงโค โดยน้อง ๆ นักเรียนศึกษารายวิชา โรคและการสุขาภิบาลสัตว์ และการผลิตโคขุนหรือโคเนื้อ โดยนักศึกษาจะได้ทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่การเริ่มเลี้ยง การสุขาภิบาลสัตว์ ทั้งการฉีดยา ฉีดวิตามิน การฉีดวัคซีน การเจาะเลือดส่งตรวจ การให้อาหาร ผสมอาหาร และร่วมพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อด้วยการนำโคสายพันธุ์ดีทั้งที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว และสายพันธุ์ต่างประเทศมาผสมกับโคพื้นเมืองภาคใต้ เพื่อให้ได้สายพันธุ์โคเนื้อที่ทนต่อโรค ได้ปริมาณเนื้อมาก และเพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์โค และในอนาคตทางวิทยาลัยจะผลิตปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อส่งไปให้แผนกอุตสาหกรรมทำการแปรรูป
ในที่นี้ น้องๆนักเรียนบางคน นำวิชาความรู้ที่ได้ไปเลี้ยงโค และพัฒนาสายพันธุ์โคชนของตนเอง การทำงานพิเศษรับจ้างฉีดวัคซีนให้แก่โคของชาวบ้านเพื่อหารายได้พิเศษช่วงวันหยุดด้วย เป็นต้น สาขาพืชศาสตร์ น้องๆได้เรียนรู้การปลูกพืชทั่วไป การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อภายในห้องปฏิบัติการ ทั้งพันธุ์พืชอนุรักษ์ และพืชหายากต่างๆ การเสียบยอดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง นอกจากนั้นทั้งสาขาสัตวศาสตร์ และพืชศาสตร์ นักเรียนยังได้เรียนรู้การดูแลบำรุงรักษาและการใช้เครื่องจักรด้านการเกษตร ทั้งรถไถ รถแทรกเตอร์อีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ตรัง ชื่นชมชุมชนท่องเที่ยวร่วมใจเก็บขยะบนเกาะเหลาเหลียง
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
ทางด้านแผนกวิชาประมง นอกจากเรียนเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว น้องๆยังสามารถเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การตรวจค่าออกซิเจนในน้ำและใช้เครื่องมือทางวิทยาศาตร์ได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นผลผลิตที่ได้จากการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ยังนำเข้าสู่แผนกวิชาอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจำหน่ายภายในวิทยาลัย และนำผลผลิตที่ได้ไปทำอาหารเลี้ยงนักเรียนฟรี วันละ 3 มื้อด้วย
ด้านนายพรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง บอกว่า ตอนนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนทั้งหมด 172 คนเท่านั้น ส่วนปีการศึกษา 2567 ตั้งเป้ารับสมัครเอาไว้ 370 คน เป็นระดับ ปวช. จำนวน 200 คน ระดับปวส. จำนวน 170 คน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยเกษตรฯ ทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกันคือ คนสนใจเข้าเรียนน้อยมากอาจเพราะค่านิยมว่าเรียนเกษตรแล้วอาจจะเหนื่อย หรือว่าลำบาก แต่ความจริงแล้วการเรียนสาขาด้านการเกษตรมีอนาคต เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สินค้าอุปโภคบริโภคในแต่ละวันต้องพึ่งพาภาคการเกษตร สามารถสร้างอาชีพได้อีกมากมาย แต่ด้วยความที่นักเรียนรุ่นใหม่อาจจะต้องการทำงานในลักษณะของบริษัทหรือออฟฟิศมากกว่า สวนทางกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันที่มีความต้องการ ในระดับปวช.และปวส. และเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย ซึ่งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแม้คนจะเรียนน้อยเช่นกัน แต่ก็มากกว่าภาคใต้ ซึ่งภาคใต้ส่วนใหญ่นักเรียนในวิทยาลัยเกษตรฯมีอยู่ประมาณ 300 -500 เท่านั้น อาจจะเป็นเพราะจำนวนประชากร และทางใต้ส่วนใหญ่นักเรียนมีสภาพครอบครัวที่อาจจะมีฐานะหน่อย อาจจะไปเรียนสาขาอื่นก็เป็นได้ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากถ้าเราไม่ให้ความสนใจในอาชีพเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหาร ต่อไปเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็จะเข้าไปยุคอุตสาหกรรม มุ่งหารายได้มาเพื่อที่จะมาซื้อของเหล่านี้ ในอนาคตหากเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจเหมือนที่เป็นอยู่นี้ คนรุ่นต่อไปจะเกิดความเครียด แต่หากชีวิตยังอยู่ในวิถีเกษตรเจอสภาพปัญหาเศรษฐกิจแต่ยังสามารถเลี้ยงตัวเอง ลดค่าใช้จ่ายกับตัวเองได้ ทั้งนี้ นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้วิทยาลัยเกษตรฯทุกแห่งมีโครงการ “การศึกษาปฏิรูปเกษตร เพื่อชีวิต” และโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ทั้งสองโครงการนี้มีมานานแล้ว มีหอพักให้แยกชาย – หญิง มีอาหารให้รับประทานฟรีวันละ 3 มื้อ ส่วนของวิทยาลัยเกษตรฯตรัง ยังมีทุนการศึกษาให้ทั้งทุนของวิทยาลัยและทุนจากหน่วยงานภายนอก เมื่อจบแล้วทุกคนถ้าจะศึกษาต่อก็จะมีสถานที่รองรับหมด หรือถ้าจะทำงานก็สามารถทำได้เลย และระหว่างเรียนถ้านักเรียนขยันก็สามารถนำความรู้ที่ได้สร้างอาชีพได้เลย โดยในส่วนของหอพัก ปวช.มีหอพักฟรีทุกคน ส่วนปวส. หากหอพักของปวช.ว่างก็จะให้ปวส.พัก แต่คิดค่าบำรุงหอพักเป็นรายภาคเรียนละ 800 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าไปอยู่ข้างนอก อยากจะบอกน้องๆว่าเรียนเกษตรปัจจุบันไม่ผิดหวังสร้างงานระหว่างเรียนได้เลย เป็นวิชาติดตัว นำไปประกอบอาชีพได้ เรียนจริงปฏิบัติได้จริง ส่วนอาหารที่เลี้ยงนักเรียนทุกคนวันละ 3 มื้อ จันทร์-ศุกร์ และมื้อเย็นวันอาทิตย์ที่นักเรียนกลับเข้าหอพัก เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียนตามนโยบายรัฐบาล ทางวิทยาลัยเกษตรฯตรัง ก็จะจัดให้ด้วย รวมสัปดาห์ละ 16 มื้อนั้น วัตถุดิบจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งผลิตเองภายในวิทยาลัยฯ ส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้นำมาจากข้างนอก แต่พยายามจะส่งเสริมให้ทุกแผนกวิชาได้ผลิตวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในโรงอาหาร ส่วนเมนูอาหารนั้นจะคิดกันรายสัปดาห์ กำหนดไว้ตาราง นักเรียนจะสามารถทราบล่วงหน้าว่าแต่ละมื้อมีเมนูอะไรมาก ซึ่งนักเรียนก็บอกว่ากินอิ่มทุกมื้อ ได้มาก และหากไม่อิ่มก็เติมได้จนอิ่ม
นายวิเศษศิฐ คงอ่อนศรี นักศึกษาชาย ปวช.2/2 บอกว่า สาขาสัตวศาสตร์ สิ่งที่ได้จากการศึกษา คือ การจัดการสุขาภิบาลในฟาร์ม การดูแลรักษาโรคสัตว์ และได้รับความรู้ประกอบวิชาชีพ ตอนนี้รับจ้างทั่วไปฉีดยาโคด้วย เน้นฉีดวิตามินและถ่ายพยาธิโคใช้เวลาว่างตอนเย็น ที่บ้านเลี้ยงโคด้วย 8 ตัว ก็เอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์วัวชน ได้สังคมต่อยอดอาชีพไปฝึกงาน ถ้าจะทำงานก็มีฟาร์มรองรับอยู่แล้ว หรือจะทำอาชีพเกษตร ส่วนตัวก็ได้ความรู้ไปพัฒนาอาชีพได้ง่าย
ด้านนางสาวธาณียา เหล่าวนาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำแผนกวิชาสัตวศาสตร์ บอกว่า ณ ปัจจุบันนักเรีนที่จบจากวิทยาลัยเกษตรเทคโนโลยีตรังส่วนใหญ่ก็จะมีงานรองรับ หลังจากการฝึกงานสถานประกอบการเห็นศักยภาพของเด็กก็จะรับเจ้าทำงานเลย บางสถานประกอบการมีทุนให้เรียนแล้วกลับมาทำงานในสถานประกอบการณ์นั้น ปัจจุบันอาชีพด้านการเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาดมาก โดยเฉพาะด้านสัตวศาสตร์ไม่สามารถใช้หุ่นยนต์ได้ ยังคงต้องใช้กำลังคน เช่น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งในรูปแบบบริษัท หรือของหน่วยงานราชการ นักเรียนสามารถมีฐานความรู้ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้
คนที่สนใจสามารถติดต่อสมัครเรียนได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ..ส่วนวิทยาลัยเกษตรฯ ตรัง สอบถามได้ที่ 061 -1795294 หรือ 075-284152 หรือเฟซบุ๊ก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: