ตรัง-จังหวัดตรังปลุก “ซอฟต์เพาเวอร์” จัดใหญ่ “งานเทศกาลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี” อนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม ชุมชนทำนา-ผ้าทอมือ 1-5 มี.ค.นี้ เผยตำนานร้อยปีลูกลมตรัง บุตรแห่งพระพาย ผู้ว่าฯหนุนท้องถิ่น ใช้กลไกโซเชี่ยลมีเดีย ร่วมผลักดัน-สร้างการรับรู้
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทุ่งนาบริเวณข้างร้านนาตาสวน ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานแถลงข่าวกิจกรรมงานเทศกาลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคมนี้ โดยมีนางสาวจิราวดี อ่อนวงศ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง นายอดุลย์ หมื่นลึก นายอำเภอนาโยง นายวิโรจน์ เยาว์ดำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาหมื่นศรี นายประเสริฐ คงหมุน ปราชญ์ลุกลมชาวตำบลนาหมื่นศรี และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ท่ามกลางบรรยากาศยามเย็นริมทุ่งนา หน้าเขาช้างหาย ที่เต็มไปด้วย “ลูกลม” หรือ “กังหันลม” ที่ติดตั้งไว้ ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบต่อมายาวนาน จนถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลนาหมื่นศรี พื้นที่กสิกรรมทำนาผืนใหญ่ของจังหวัดตรัง ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวของทุกปี โดยก่อนการแถลงข่าว ได้มีขบวนกลองยางพร้อมนางรำกว่า 50 ชีวิต มารำต้อนรับบรรดาแขกผู้ร่วมงาน บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานครึกครื้น
นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า กิจกรรมงานเทศกาลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี ในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานเป็นไปในลักษณะการบูรณาการภารกิจร่วมกัน กระตุ้นให้ประชาชนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของซอฟต์เพาเวอร์ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ และเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน การจัดกิจกรรมการส่งเสริม เช่น จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากชุมชน จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมของท้องถิ่นผ่านงานเทศกาลและประเพณีต่างๆ การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น อาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา ภูมิปัญญา และสถานที่ท่องเที่ยว สร้างการรับรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ และการผลักดันให้ประชาชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่นใช้เครื่องมือใหม่ๆด้านโซเชี่ยลมีเดีย เป็นเครื่องมือให้ประชาชนเป็นสื่อบุคคลในการถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่สาธารณชนด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาและอุปสรรคของการขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ ได้แก่ บุคลากรภาครัฐและประชาชนยังขาดความเข้าใจในซอฟต์เพาเวอร์ ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล ขาดการบูรณาการการทำงานอย่างแท้จริง ภารกิจทับช้อน ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ และการจัดกิจกรรมการส่งเสริมเพียงบางอย่าง และแนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ ได้แก่ ควรสร้างกลไกหนุนเสริม สร้างการรับรู้สู่คนภายนอก สร้างความเข้าใจและความภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้แก่ประชาชน กระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ รักษา และพัฒนา
ด้านนางสาวจิราวดี อ่อนวงศ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมงานเทศกาลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี ในปี 2567 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคมนี้บริเวณหน้าถ้ำเข้าช้างหาย กิจกรรมภายในงานทุกท่านจะได้สัมผัสวิถีชีวิตภูมิปัญญาดั้งเดิม อาทิ การสาธิตการทำลูกลม การประกวดแข่งขันลูกลมที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย การทอผ้านาหมื่นศรีผ้าทอโบราณของจังหวัดตรัง การร่อนข้าวและการตำข้าว เป็นต้น ตลอดจนอิ่มอร่อย เมนูเด็ดๆ อาหารพื้นบ้านตำหรับนาหมื่นศรี สินค้าชุมชน และสินค้า OTOP อีกมากมาย ภาคการแสดงมีชุดการแสดงมโนราห์ ลิเกป่า หนังตะลุง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของน้องๆเยาวชนในท้องถิ่น การออกร้านจำหน่ายสินค้าของดีของชุมชน และ แสง สี เสียง เต็มรูปแบบกับคอนเสิร์ตมากมาย ฟรี อาทิวันที่ 1 มีนาคม พบกับสมพงษ์ วงลูกคลัก วันที่ 2 มีนาคม พบกับน้องเพลง วิสสุตา ปะทะ น้องชัน และหนังกางแปลง วันที่ 3 มีนาคม พบกับวงกินรี วันที่ 4 มีนาคม พบกับแนท ราเชนทร์ และ วันที่ 5 มีนาคม พบกับลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- เปิดศึกชิงนายก อบจ.ปัตตานี อดีต สส.ท้าชน อดีตนายก อบจ.4 สมัยเดือดตั้งแต่วันแรก (มีคลิป)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “งานเทศกาลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี” จัดต่อเนื่องกันมากว่า 25 ปีแล้ว โดยการเล่น “ลูกลม” หรือ “กังหันลม” ของชาวบ้านตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบต่อมายาวนานนับร้อยๆปี จนถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลนาหมื่นศรี โดยมักเล่นกันในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีกระแสลมแรง โดยจัดตรงกับช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของตำบลนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นพื้นที่นาลุ่มคลองนางน้อย พื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ของจังหวัดตรังมาแต่โบราณ ในรุ่นบรรพชนได้เลือกทำเลอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ตั้งถิ่นฐาน เกิดมรดกทางวิถีชีวิตวัฒนธรรมมากมาย ทุ่งนากว้างใหญ่ห่างจากตัวเมืองตรังไม่ถึง 10 กิโลเมตร มีถ้ำน้อยใหญ่ถึง 9 ถ้ำ โดยเฉพาะ “ถ้ำช้างหาย” ประวัติความเป็นมาของ “ลูกลม” เล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนสวรรค์ ในครอบครัวเล็กๆ ของ “พระพาย” ซึ่งเป็นเทพแห่งธรรมชาติ เป็นเทพเจ้าแห่งลมและพายุ รวมถึงท้องฟ้า ตามคติของศาสนาฮินดู โดยวันหนึ่งเป็นฤดูเกี่ยวข้าว ได้มีนกลา นกไผ นกเสียด นกกระจาบ และนกกาอื่นๆ ออกมามากินข้าว แต่เนื่องจาก “พระพาย” ไม่มีเวลาโห่นกไล่กาทุกวัน เพราะต้องไปอยู่เวรพัดลมทำความเย็นให้เทวดา ดังนั้น จึงมอบให้ “ลูกลม” ซึ่งเป็นลูกชายช่วยทำหน้าที่ดูแลนาข้าวแทน “ลูกลม” จึงได้ไปตัดไม้ไผ่ แล้วเหลาให้แบน แต่บิดเบี้ยวๆ ก่อนคาดเป็นกากบาททับกันหลายๆ อัน เพื่อดักลมให้หมุนไปมาซ้ายขวาได้ โดยเมื่อไม้ดังกล่าวโต้ลม ก็จะหมุนคล้ายกับกังหันวิดน้ำ และมีเสียงดังหวืดๆก้องกังวาล ทำให้นกกาเกิดความกลัว ไม่กล้าบินลงมากินข้าวที่ปลูกเอาไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ต่อมาเมื่อ “พระพาย” กลับจากเข้าเวร เห็นลูกชายทำอะไรแปลกๆ ด้วยการเอาไม้มาดักลม แต่มีเสียงไพเราะน่าฟัง จึงแสดงความพอใจอย่างมาก ดังนั้น ในวันต่อมา เมื่อ “พระพาย” ต้องไปเข้าเวรพัดลม จึงถือโอกาสบอกผลงานของลูกชายให้เทวดารับทราบ ซึ่งก็ได้แสดงความชื่นชม และแสดงความยินดีในความเฉลียวฉลาด พร้อมเห็นสมควรที่จะเผยแพร่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ลงไปยังโลกมนุษย์ จึงได้เรียก “เวศหนู” ซึ่งเป็นทหารเอกมาเข้าเฝ้า เพื่อบัญชาให้นำเรื่องของ “ลูกลม” ไปทำการบอกกล่าว จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่มวลมนุษย์นับตั้งแต่นั้นมา
ทั้งนี้ ในทางวิทยาศาสตร์อาจมองได้ว่า “ลูกลม” มีหลักการทำงานเดียวกันกับ “หุ่นไล่กา” คือใช้ไล่นกที่ลงมากินข้างในแปลงนา แต่ “ลูกลม” ที่ “นาหมื่นศรี” นั้นมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อ และ การเคารพในธรรมชาติผ่านตัวแทนความศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพธรรมชาตินั่นเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: